กสศ.ถอดบทเรียน เอสโตเนีย ยกระดับแรงงานด้อยโอกาสของไทย
พร้อมริเริ่มระบบทดลองพัฒนาทักษะแรงงานโดยชุมชนเป็นฐาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ห้องอารีย์ 1 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจัดประชุมวิชาการนานาชาติ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเพิ่มทักษะดิจิตอลให้แก่กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาส : บทเรียนและประสบการณ์จากประเทศเอสโตเนีย”
ศาสตราจารย์นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสจำนวนมาก และมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยมีการศึกษา ทักษะค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยผลิตภาพต่ำกว่าของสิงคโปร์และไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เป็นแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานด้อยโอกาส ซึ่งมีประมาณ55% ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ถ้าจะพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การพัฒนาแรงงานจึงมีความสำคัญสูงมาก ดังนั้น กสศ.หน่วยงานที่พยายามลดช่องว่างทางการศึกษาของประเทศไทย เพื่อไม่ให้ตกขบวนทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการสนับสนุนเด็กนักเรียนยากจน มอบทุนสายอาชีพแล้ว ยังมีหน้าที่ในการพัฒนายกระดับทักษะให้แก่กลุ่มวัยแรงงานด้อยโอกาสด้วย
“แรงงานในระบบมีอยู่ประมาณ 17 ล้านคน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 4 ล้านคน อาชีวศึกษา 2.2 ล้านคน นอกนั้นอีก 10 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้น ม.6 ซึ่งโจทย์ปัญหาแรงงานในประเทศไทยที่ต้องเตรียมรับมือในอนาคตก็คืออีก 5-10 ปี ข้างหน้าแรงงานกลุ่มนี้จะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยต้องผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการโดยมีทักษะความรู้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้”
ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ประเทศเอสโตเนียมีขนาดเท่ากับจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทย มีประชากรราว 1.3 ล้านคน ได้รับสมญานามว่า ‘Silicon Valley’ ของยุโรปที่พัฒนาไปเร็วมาก ใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี เปลี่ยนจากประเทศยากจนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวมากกว่าประเทศไทยถึง 7 เท่า ผลการสอบ PISA ปี 2015 เอสโตเนียอยู่ในระดับท็อป 5 ของโลก ระบบโรงเรียนสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถสูงไม่ขาดสาย การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสให้แรงงานวัยผู้ใหญ่ที่ด้อยโอกาสได้กลับมาRESKILL เพิ่มศักยภาพได้ประเด็นที่น่าสนใจคือจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้คนกลุ่มนี้อยากกลับมาเรียน ฝึกอบรมเพิ่มเติม ซึ่งพบว่าประเทศเอสโตเนียใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยส่วนของนายจ้างหากมีนโยบายส่งเสริมให้ลูกจ้างไปเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถที่จะนำโครงการดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่ในส่วนของลูกจ้างเองได้กำหนดให้สามารถลาหยุดงานเพื่อไปเรียนเพิ่มเติมเฉลี่ยสูงสุดถึง 30 วันต่อปี ขณะเดียวกันยังมีการจัดแคมเปญรณรงค์ให้แรงงานทุกระดับชั้นเข้าเรียนเพื่อเพิ่มทักษะอย่างต่อเนื่อง
“กสศ.เองได้นำบทเรียนจากเอสโตเนียมาเป็นส่วนหนึ่งของฐานความรู้ในการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่และแรงงานฝีมือโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน นำร่องใน 50 พื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีสัดส่วนความยากจน การว่างงานสูง และมีดัชนีความก้าวหน้าของคนต่ำ โดยจะมีการวิเคราะห์ศักยภาพและจัดทำแผนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดรูปแบบการพัฒนาทักษะอาชีพแบบครบวงจรโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คาดว่าในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประมาณ5,000-10,000 คน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ที่มีศักยภาพในด้านการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น สามารถเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนได้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ใน www.eef.or.th ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ เป็นต้นไป”
นางสาวไครี โซลมานน์ ผู้บริหารโครงการสำนักการศึกษาและพัฒนาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย ประเทศเอสโตเนีย กล่าวว่า รากฐานความสำเร็จของเอสโตเนียเริ่มมาจากการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างชัดเจน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “Estonia 2020ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีประชากรวัยทำงานที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2020 จากร้อยละ 10.5 เมื่อปี 2010 ล่าสุดในปี 2018 อยู่ที่ 19.7% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอียูซึ่งอยู่ที่ 11.1%
“เอสโตเนียให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรวัยทำงานเท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐานอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษาของเยาวชน เพราะเราเชื่อว่าแรงงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เสมอ และแน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้ามาดูแลและลงทุนเรื่องนี้” นาง โซลมานน กล่าว
นางโซลมานน์ กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จอีกด้านคือ การทำงานร่วมกันทั้งภายในภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เช่นภาครัฐให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีกับแรงงานที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะที่ภาคเอกชนก็อนุญาตให้ลูกจ้างกลับเข้าศึกษาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (30วัน) โดยยังได้ค่าจ้างตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสภาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่แห่งชาติ (National Council for Adult Education) เพื่อกำหนดนโยบายการศึกษาสาหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะอีกด้วย และต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยภาครัฐจะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานไปที่ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาในระดับต่ำ ผู้ที่ออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควร ผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณวุฒิทางวิชาชีพและผู้ใหญ่ที่มีทักษะอาชีพที่จ่าเป็นต้องพัฒนาให้ทันสมัย
“เรายังนำระบบ E-service มาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนมากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการศึกษาในเอสโตเนียไว้ด้วยกัน โดยฐานข้อมูลนี้จะจัดเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา นักเรียน ครู หลักสูตร ความต้องการแรงงานของภาคเอกชนเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ในการวางแผนการศึกษาและผลิตแรงงานในอนาคตได้ตรงกัน เราเชื่อมั่นว่าเราจะไปถึงเป้าหมายได้ภายในปี 2020 และคาดหวังว่าบทเรียนในการพัฒนาการศึกษาของเอสโตเนียจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับประชากรในวัยทำงานและกระตุ้นให้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นที่แพร่หลายในไทยมากขึ้น” นางโซลมานน์ กล่าว