‘กสศ. จดหมายลาครู’ และ ‘เว็บไซต์วิชาชีวิต’ คว้ารางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

‘กสศ. จดหมายลาครู’ และ ‘เว็บไซต์วิชาชีวิต’ คว้ารางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2565 โดยมอบสองรางวัลให้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในสาขา ‘สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์’ ในผลงาน ‘กสศ. จดหมายลาครู’ และสาขา ‘นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ ให้กับเว็บไซต์ ‘วิชาชีวิต’

กสศ. ได้มุ่งผลิตสื่อและสื่อสารสู่สังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ และตื่นตัวกับการร่วมเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในทุกพื้นที่ของประเทศไปด้วยกัน

โดยผลงานทั้งสองชิ้น มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เติมความมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อสร้างหลักประกัน ‘โอกาส’ ให้เด็กทุกคนเดินหน้าต่อไปได้บนเส้นทางการศึกษา โดยไม่มีใครต้องหยุดที่กลางทาง

เรียนครูบอยที่เคารพ

ผมขอโทษที่ไม่ได้ทำตามที่ครูบอก ผมสงสารแม่ที่ต้องทำงานหาเงินอยู่คนเดียว ถ้าผมไปเรียน ก็ไม่มีใครช่วยแม่ ขอบคุณครูที่ช่วยเหลือผมมาตลอด ผมขออนุญาตลาหยุดไปช่วยแม่เก็บลำใย ผมไม่รู้ว่าจะกลับมาโรงเรียนอีกเมื่อไหร่

ด้วยความเคารพอย่างสูง

…จากจดหมายสามบรรทัดที่ ด.ช.แดง ชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เขียนถึงครูของเขา สู่สื่อวิดีโอ ‘จดหมายลาครู’ ความยาว 3 นาทีที่แสดงให้เห็นความทุ่มเทของครูบอย ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์คันเก่า ข้ามเขา 40 ลูก ไปบนระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร กับเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อ ‘เหตุผลเดียว’ คือตามลูกศิษย์ให้กลับมาเรียนหนังสือ
ขณะที่เรื่องราวในตอนจบนั้นไม่ใช่แค่ ด.ช.แดง ได้เรียนต่อ หากการกลับไปยังโรงเรียนได้กลายเป็นโอกาสให้เขาได้รับทุนนักกีฬา และได้เรียนต่อในระดับสูงต่อไป

งานสั้น ๆ ชิ้นนี้ได้สะท้อนถึงพลังของครูในสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. มากกว่า 40,000 คนทั่วประเทศ ผู้เป็นยิ่งกว่า ‘เรือจ้าง’ ด้วยสิ่งที่พวกเขาทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปนั้น เปรียบได้กับ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ของเด็กไทยมากกว่า 2 ล้านคนที่สุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จากปัญหาความยากจนด้อยโอกาส รวมถึงเด็กเยาวชนอีกกว่า 430,000 คน ที่หลุดจากโรงเรียนกลางคันก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ

ทั้งยังได้จุดประกายให้คนหลายคน และหน่วยงานหลายภาคส่วน ลุกขึ้นลงมือทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนองค์ความรู้ และหาทางดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา นอกจากนี้ยังนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ จนเกิดการทำงานเชิงพื้นที่ และเกิดเครื่องมือนวัตกรรมทางการศึกษาที่ขยายผลออกไป

กสศ “จดหมายลาครู”

…เธอชอบตัวเองตอนนี้ไหม ?
…แล้วถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ตอนยังเด็กกว่านี้
…เธอชอบตัวเองตอนนี้หรือตอนเด็กมากกว่ากัน ?
‘วิชาชีวิต’ เป็นเว็บไซต์สำรวจตนเองใน 7 นาที ที่ กสศ. ชวนทุกคนให้เดินทางกลับไปยัง ‘ความทรงจำ’ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยผู้เล่นจะได้ย้อนทบทวนทั้งเรื่องราวที่ ‘ดี’ และ ‘ไม่ดี’ ผ่านการตอบคำถามไม่กี่ข้อ เพื่อตกตะกอน ‘ชีวิต’ และ ‘ความคิด’ ซึ่งเติบโตขึ้นในเวลาที่ผ่านมา ทั้งสามารถแบ่งปันบทสรุปจากประสบการณ์ของตนเอง และเข้าไปอ่านบทเรียนของคนอื่น ๆ ได้ด้วย
“เพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนมีตำราชีวิตของตัวเอง เราเขียนชีวิตของเราไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันรู้ว่าหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่าทุกประสบการณ์คือสิ่งที่สร้างให้ทุกคนกลายเป็น ‘beat version’ ของตัวเองในวันนี้

จุดประสงค์หลักของการพัฒนาเว็บไซต์วิชาชีวิต คือเป็นพื้นที่สำหรับการ ‘คุย’ และ ‘ทบทวน’ กับตัวเอง สำหรับน้อง ๆ ซึ่งอาจประสบปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต โดยเชื่อว่าการได้ทบทวนเรื่องราวกับตัวเอง จะช่วยให้มองเห็นคุณค่า มีความมั่นใจ ทำให้ ‘กล้า’ ตัดสินใจ และพร้อมเดินไปสู่อนาคตข้างหน้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากน้อง ๆ ในโครงการต่าง ๆ ของ กสศ. ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เว็บไซต์ ‘วิชาชีวิต’ ยังได้รับความสนใจจากคนทั่วไป โดยเพียงหนึ่งสัปดาห์ที่เปิดใช้ มีคนเข้ามาร่วมแบ่งปันเรื่องราวของตนเองบนเว็บมากกว่า 1 ล้านครั้ง

ชมเว็บไซต์ : วิชาชีวิต

“อย่างน้อยสิ่งที่เรารู้แน่ ๆ คือวันนี้เรากำลังมาถูกทาง มีคนได้รู้จัก กสศ. เพราะโปรเจกต์หรือผลงานเหล่านี้

“เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า กสศ. คือหน่วยงานหนึ่งที่อยากช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม อยากให้คนรู้ว่า กสศ. ทำอะไร และที่สำคัญที่สุดคือ อยากให้ทุกคนเห็นว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ในสังคมของเรา”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.


จากบทความ ‘กว่าจะเป็นวิชาชีวิต’ adaymagazine.com