กสศ.จับมือ 36 สถาบันอาชีวะ วางแผนชีวิตรอบด้านให้นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 2,107 คน ปรับตัวได้รับเปิดเทอม
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมีผู้บริหารกสศ. รวมทั้ง ครู อาจารย์ จาก 36 สถาบันอาชีวะทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจากจำนวนสถาบันการศึกษาที่สมัครกว่า 300 สถาบัน เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกัน ทำความเข้าใจ ซักซ้อมระบวนการดำเนินโครงการ ให้ทันเปิดภาคเรียนในสัปดาห์หน้า
นายสุทิน แก้วพนา กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จำเป็นที่จะต้องร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือเด็กนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษให้เรียนสายอาชีพอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านเงินทุน เนื่องจากที่ผ่านมามีสถิติระบุว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนเป็นกลุ่มเด็กที่ลาออกจากการเรียนกลางคันมากที่สุด
นายสุทิน กล่าวว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ส่วนใหญ่ เคยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดโอกาส เมื่อจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในเมือง ต้องพบกับความเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก ต้องปรับตัวหลายด้าน ทั้งการเรียนการสอน ทักษะชีวิต จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และจำเป็นที่จะต้องหาวิธีเชื่อมโยงครอบครัวให้นักเรียนกลุ่มที่ได้รับทุน สามารถปรับตัวได้ในปีแรก และสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข จากการจัดสวัสดิการ อาหาร ที่พัก ขณะเดียวกัน ต้องทำงานกับสถานประกอบการภาคีเครือข่าย ว่าทำอย่างไรที่จะพัฒนาเด็กในสาขาพัฒนาประเทศ สาขาที่ขาดแคลนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม รู้สึก ชื่นชม 36 สถาบันการศึกษา ที่ได้รับคัดเลือกและทุ่มเทค้นหานักเรียนในพื้นที่ที่มีความยากจน ขาดโอกาส สามารถเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,107 คน เพื่อให้เขามีโอกาสเรียนต่อในสายวิชาชีพชั้นสูงทั้งในระดับ ปวช. 3 ปี และ ปวส. 2 ปี ซึ่งวิธีการคัดกรองเด็กด้วยการลงพื้นที่ค้นหาเด็กที่ด้อยโอกาสแบบนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้สถาบันอาชีวะศึกษาดูแลเด็กกลุ่มเป้าหมายให้มีชีวิตอยู่ในสถาบันการศึกษาอย่างเหมาะสม ทั้งการพัฒนาทักษะชีวิต การเรียน การอยูในสังคมอย่างเหมาะสม เป็นการผลิตบุคลากรสายอาชีพรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0
รศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เรากำลังเผชิญกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะมาทำงานแทนคน บางคนกังวลว่าคนจะตกงานหรือไม่ แต่คนที่ดูแลเทคโนโลยีให้เดินต่อไปได้ นับว่ามีความสำคัญมาก ดังนั้นคนต้องมีทักษะสูงขึ้นไม่ใช่แค่ผลิตให้ทำงาน แต่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้ ซึ่งในยุค 4.0 คนเราต้องมี ทักษะหลายด้าน หรือ Multi skill คนคนเดียวต้องหลายความสามารถ เพราะพรหมแดนของศาสตร์สาขาอาชีพแคบลง และการผลิตบุคลกรต้องมีความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการเข้ามาทำงานร่วมกันไม่ใช่การผลิตเด็กแล้วปล่อยไปตามยถากรรม ดังนั้นต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน จากนั้นจึงได้บุคลากรยุค 4.0 ที่พร้อมเป็นกำลังในการคิดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
ด้าน นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือ นวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า วันนี้จึงเป็นช่วงสำคัญก่อนเปิดเทอมที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันในการสร้างอนาคตให้กับเด็ก เพื่อทำสัญญาระหว่างกสศ. สถาบันการศึกษาและนักเรียน ซึ่งต้องรีบดำเนินการด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ทันเปิดภาคเรียน และคาดว่าจะสามารถโอนเงินให้ทุกสถานศึกษาได้ช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยการประเมินโครงการจะแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1.ก่อนนักศึกษาเข้าสู่โครงการ 2. ระหว่างร่วมโครงการ 3.หลังสำเร็จการศึกษา
“มีโครงการที่เสนอเข้ามาให้คัดเลือก 155 โครงการ เมื่อคัดกรองแล้วเหลือ 52 โครงการ ที่ผ่านการคัดเลือก และครูจาก 36 สถาบัน ลงไปค้นหาเด็กนักเรียนในปีแรกโครงการได้มากถึง 2,107 คน ถือเป็นความภูมิใจที่ได้สร้างโอกาสให้กับเด็กเป็นก้าวแรกของการสร้างโอกาสร่วมกัน ดังนั้นสถาบันการศึกษา 36 แห่ง ใน 26 จังหวัด 52 โครงการ ที่จะทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ กสศ.จัดงบประมาณให้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวตลอดภาคการศึกษาระดับ ปวช. 6,500บาทต่อเดือน และ ปวส. 7,500 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดว่าไม่เพียงพอหากคิดจากค่าครองชีพในปัจจุบัน จึงต้องหาช่องทางส่งเสริมให้เด็กมีงานทำระหว่างเรียนเพื่อมีรายได้เพิ่ม ให้เด็กทุกคนเรียนจนจบหลักสูตรอย่างมีคุณภาพ จบแล้วมีงานทำ มีรายได้ตามเป้าประสงค์ของโครงการ หากปีนี้ผ่านไปด้วยดี ปีหน้าตั้งเป้าหมายจะเพิ่มโอกาสให้นักเรียนเป็น 3,000 คน เราจะไม่ทิ้งเยาวชนคนไหนเอาไว้ข้างหลัง เราจะก้าวเดินไปด้วยกัน”นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #ทุนนวัตกรรมสายอาชีพ #ยุทธศาสตร์ชาติ#อาชีวะ