เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมโอฬารรัตน์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง สมัชชาการศึกษานครลำปาง นายเรวัฒน์ สุธรรม ประธานสมัชชาการศึกษา ฯ ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิยดา เหล่มตระกูล ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดลำปาง จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดลำปาง โดยมี รศ.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุมกว่า 100 คน จากหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ 14 หน่วยงาน พร้อมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 14 หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดลำปาง ในการขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสริมงาม อำเภอแม่เมาะ อำเภอแจ้ห่ม และอำเภองาว
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานเปิดการประชุม กล่าวว่า เจตนารมณ์ที่มาเป็นประธานในงานนี้เนื่องจากจังหวัดลำปางให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา เพราะเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพความเป็นมนุษย์และบุคลากรในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมบุคลากรให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
“โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ การสร้างความเสมอภาค การให้โอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อีกทั้งยังได้เล่าประสบการณ์ที่ได้เห็นความแตกต่างและความด้อยโอกาสจากการเรียนในวัยเยาว์ เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด และได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพ ฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว การที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานี้เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เด็กไทยจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน” นายทรงพลกล่าว
นายทรงพลกล่าวว่า สำหรับการทำงานด้านการศึกษาที่ผ่านมาของจังหวัดลำปาง รู้สึกชื่นชมหน่วยงานทางการศึกษาของจังหวัด โดยเฉพาะ กศน. ที่เป็นหน่วยงานที่ทำงานหนักและให้โอกาสคนชายขอบได้เข้ามาเรียนและมาเป็นส่วนร่วมสำคัญในการสำรวจ ค้นหากลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ด้วย ในโอกาสการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งนี้ ก็ขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างจริงจังเพราะจังหวัดให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษา และแม้ตนเองจะเกษียนไปจากจังหวัดลำปาง ก็จะพยายามเดินทางมาติดตามเรื่องนี้ให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
ด้านนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า บทบาทของ กสศ. ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา มีกลุ่มเป้าหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 4.6 ล้านคนทุกช่วงวัย สำหรับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มก่อน คือ กลุ่มปฐมวัย และเด็ก และเยาวชนนอกระบบการศึกษา และในปีต่อๆไป จะมีการขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป จึงขอชักชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมมาช่วยกันทำงานค้นหาเด็กกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ เพื่อคืนโอกาสในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กกลุ่มเป้าหมาย