น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) จังหวัดตาก ภายหลังการลงนามความร่วมมือ(MOU)ระหว่าง กสศ. และ ตชด. เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตามโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค
ขณะเดียวกัน กสศ. ยังได้ส่งคณะผู้วิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลโรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง อ. แม่ละมาด และ โรงเรียน ตชด. จุฬา-ธรรมศาสตร์ 3 อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อเร่งช่วยเหลือค้นหาเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของทั้งสองคณะ เป็นโอกาสในการรับทราบปัญหาหลายด้านที่โรงเรียนตชด. ประสบอยู่ เช่น นักเรียนตชด.ประสบปัญหาด้านระยะทาง และการเดินทางในพื้นที่กันดาร ปัญหานักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ในหลากหลายพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศ เด็กกลุ่มนี้มีความต้องการเร่งด่วนเรื่องการจัดการศึกษา ความเป็นอยู่ด้านคุณภาพชีวิต สุขอนามัย รวมถึงความช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การศึกษา
นอกจากนี้ ยังพบว่า นักเรียนโรงเรียน ตชด. ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนรหัส G หรือเด็กที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่มีเลข 13 หลักในระบบการศึกษา(DMC) และนักเรียนรหัส 0 หรือเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เด็กกลุ่มนี้เกือบทั้งหมด มีฐานะยากจน ขาดเรียนบ่อยเพราะต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ หรือบางคนต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยดูแลน้องและผู้สูงอายุที่บ้านในช่วงที่พ่อแม่ออกไปทำงาน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่อายุไม่ตรงตามเกณฑ์เนื่องจากครอบครัวโยกย้ายถิ่นฐานบ่อย ตามแหล่งการจ้างงาน ขณะที่ครัวเรือนมีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นกับฤดูกาลและหลายครอบครัวได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหรือน้อยกว่า
ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง กล่าวว่า นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กในพื้นที่ไม่ไกลจากโรงเรียน ส่วนใหญ่จึงเดินทางไปกลับด้วยการเดินเท้า บางส่วนที่ไกลออกไปต้องใช้บริการรถรับส่งรายเดือนซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 250-300 บาท ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมาจากหมู่บ้านที่ห่างออกไปราว 50-60 กิโลเมตร ทางโรงเรียนได้จัดอาคารพักนอนให้ รวมถึงเด็กที่บ้านใกล้แต่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ กลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องอาศัยพักนอนที่โรงเรียนเช่นกัน
ในส่วนของการดูแลเด็ก ทางโรงเรียนมีการจัดนมผงพระราชทานให้นักเรียนตอนเช้า มีการจัดอาหารกลางวันโดยการสนับสนุนจาก อปท. ในพื้นที่ โดยโรงเรียนได้จัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันทั้งการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เช่นปลา หมู และไก่ เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาเป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทั้งโรงเรียน และในมื้ออาหารเช้าและอาหารเย็นสำหรับเด็กพักนอน แต่ในบางช่วงของปีก็ไม่เพียงพอเนื่องจากความผันผวนของฤดูกาลเช่นเกิดน้ำท่วม หรือฝนตกหนักจนพืชผลไม่สามารถเก็บกินเก็บใช้ได้
อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่สำรวจและศึกษาข้อมูลของ กสศ. จะถูกนำไปเป็นแนวทางการจัดสรรเงินทุนเสมอภาค ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษและนักเรียนยากจนในโรงเรียน ตชด.โดยมีขั้นตอนการตรวจสอบเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวในกลุ่มรายได้ต่ำสุดแบบลงลึกเป็นรายคนในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เสริมสร้างความก้าวหน้าด้วยทุนสายอาชีพ และพัฒนาคุณภาพครูและยกระดับมาตรฐานโรงเรียนให้ดีขึ้นต่อไป