การศึกษาสายอาชีพ (1): เส้นทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

การศึกษาสายอาชีพ (1): เส้นทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

บทความโดย ดร.เสาวณี จันทะพงษ์

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้และในมิติอื่นทั้งการครอบครองทรัพยากรและการเข้าถึงสวัสดิการแต่ในปัจจุบันไทยยังประสบปัญหา “ความเหลื่อมล้ำคู่” คือทั้ง “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้” ที่มีปัญหาการกระจายรายได้อยู่ในระดับสูงแม้จะยังไม่ถึงขั้น รุนแรงและ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ที่เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาในสัดส่วนสูง และรัฐอุดหนุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงในสัดส่วนสูงกว่าการศึกษา ระดับอื่น ๆ อยู่มาก ขณะที่การศึกษาสายอาชีพซึ่งผลิตแรงงานทักษะขั้นกลางและขั้นสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและเป็นแรงงานทักษะฝีมือที่สามารถสร้างและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมกลับได้รับเงินสนับสนุนสัดส่วนน้อยกว่า ขณะเดียวกัน จากมุมมองตลาดแรงงานไทย พบว่ามีปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากการผลิตแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) ทั้งในด้านจำนวนสาขาวิชาและคุณภาพแรงงาน

บทความตอนที่ 1 นี้จะพยายามสรุปให้ผู้อ่านเห็นถึงสถานะล่าสุดของปัญหาความเหลื่อมล้ำคู่ของไทย ปัญหา Skill Mismatch ในตลาดแรงงาน

รวมทั้งความท้าทายตลาดแรงงานจากโครงสร้างความต้องการอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Technology Disruption) และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนายตัวเองหรือประกอบอาชีพอิสระ และท้ายสุดเส้นทางการเรียนสายอาชีพจะเป็นช่วยยกระดับทักษะและสร้างโอกาสการมีงานทำ สร้างรายได้และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ?

1. วังวนของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และด้านการศึกษา

จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของไทยล่าสุด1 จัดทำโดย สศช. สรุปได้ว่าสถานการณ์ปัญหาการกระจายรายได้ของไทยยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นรุนแรง ในปี 2560 มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient)2 ด้านรายได้เท่ากับ 0.453 สูงขึ้นจาก 0.445 ในปี 2558 โดยมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นสูงมากคือมีรายได้แตกต่างกันถึง 19.3 เท่า กล่าวคือกลุ่มคนจนรายได้ต่ำที่สุด (10% ล่างสุด) มีสัดส่วนรายได้เพียง 1.8 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุด (10% บนสุด) มีสัดส่วนรายได้ร้อยละถึง 35.3 เทียบกับสัดส่วนนี้ของกลุ่มประเทศ OECD จะอยู่ที่ระดับ 8.5 เท่า และมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคเพียง 0.32

หากวิเคราะห์เจาะลึกไปอีกชั้นหนึ่งพบว่า ในปี 2560 ประชากรกลุ่มรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) ของประเทศ หรือ 27 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยเพียง 3,408 บาท/คน/เดือน ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 3,353 บาท/คน/เดือน ในปี 2558 ซึ่งนับเป็นคนยากจนและคนเกือบจน ประชากรในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และเป็นแรงงานพื้นฐานคิดเป็นร้อยละ 56 ส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ โดย   ร้อยละ 64 ของกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเขตชนบท กระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน เหนือ และ สามจังหวัดภาคใต้

หันมาดูปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยโดยวิเคราะห์ตัวชี้วัดเชิงปริมาณจากอัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net Enrollment Rate) พบว่าในช่วง 10 ปืที่ผ่านมา โอกาสการเข้าถึงการศึกษาในแต่ละระดับชั้นของนักเรียนสูงขึ้น “แบบสองขั้ว” คือในระดับอนุบาลและปริญญาตรีอยู่ที่ร้อยละ 75.7 และ 29.1 ตามลำดับในปี 2560 จาก ร้อยละ 65.0 และ 23.9 ในปี 2552 แต่โอกาสการเข้าถึงการศึกษาในกลุ่มตรงกลางคือในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย (รวม ปวช.) อยู่ที่ระดับใกล้เคียงเดิม คือ ร้อยละ 88.3, 68.2 และ 57.8 ตามลำดับ เราจะเห็นว่าเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนสูงในระดับมัธยมปลาย ซึ่งเป็นประชากรอายุ 15-17 ปี ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประชากรกลุ่มนี้ควรจะได้ศึกษาต่อมัธยมปลาย หรือเรียนสายอาชีพ ปวช. แทนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานและกลายเป็นแรงงานทักษะต่ำ (Low Skilled Labour) ซึ่งทำงานกลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐาน3 (Elementary Occupations) ส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงกายเป็นหลักหรือใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน มีรายได้ต่ำ และจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าการเติบโตของรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้ต่ำมากดูจากรายได้แรกแรกเข้าทำงานแทบจะไม่โตเทียบรายได้เมื่อเกษียณอายุ4 ส่งผลให้โอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมยิ่งเป็นไปได้ยาก ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ขาดโอกาสและวนเวียนอยู่ในวัฎจักรความยากจนต่อไป

ในแง่ของอัตราการเข้าเรียนสุทธิ พบว่ามีความ   เหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสทางการศึกษาทั้งในระดับมัธยมปลายและ ปวช. และยิ่งมีความเหลื่อมล้ำสูงมากในระดับอุดมศึกษา (รวม ปวส.) โดยมีเพียงร้อยละ 4 ของกลุ่มคนจนรายได้ต่ำที่สุด (10% ล่างสุด) ที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เทียบกับร้อยละ 66 ของกลุ่มคนรวยที่สุด (10% บนสุด)

หากวิเคราะห์จากตัวชี้วัดเชิงคุณภาพของการศึกษาไทย พบว่าเงินลงทุนทางด้านการศึกษาของไทยที่อยู่เกือบเก้าแสนล้านในปี 2559 หรือคิดเป็นประมาณ 6.1% GDP สูงกว่ากลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ 5.2%5 แต่ได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ ผลการศึกษาของ World Bank (Forthcoming)6 ชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากครูและทรัพยากรด้านการศึกษาถูกกระจายไปสู่ห้องเรียนที่มีขนาดเล็กเกินไป โดยมีนักเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 14.7 คนต่อห้องเรียน ซึ่งถือว่าเล็กที่สุดเมื่อ เทียบกับ 39 ประเทศในโลกทั้งกลุ่ม OECD และ Non-OECD ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของไทยที่วัดจากคะแนน PISA ยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มลดลง

2. Skills Mismatch ในตลาดแรงงาน: เริ่มแก้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างแรงงานยุคใหม่ในวันหน้า

ระบบการศึกษาที่ผลิตกำลังคนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งจากโครงสร้างความต้องการอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นจากกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก และจากทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนายตัวเองหรือประกอบอาชีพอิสระ ส่งผลให้เกิดปัญหา “Skills Mismatch”7 โดยมีปัญหา “Qualification Mismatch” คือ ในปี 2560 สัดส่วนแรงงานจบปริญญาตรีในผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 16 และความต้องการของผู้ประกอบการในแรงงานกลุ่มนี้อยู่ที่ร้อยละ 15 ขณะที่มีแรงงานจบปริญญาตรีเข้าสู่ตลาดแรงงานสัดส่วนถึงร้อยละ 61 (337,568 คน) ของผู้ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมด (555,416 คน) 8 ส่งผลให้เราเห็นผู้ว่างงานที่มีวุฒิปริญญาตรีถึง 125,730 คน คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 28 ของผู้ว่างงานทั้งหมด 4.5 แสนคนในปี 2560 ขณะที่ตลาดมีความต้องการแรงงาน ปวช./ม.6 และ ปวส. รวมกันสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของความต้องการแรงงานทั้งหมดของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังเห็นผู้ว่างงานที่มีวุฒิ ปวช. และ ปวส. รวมกันถึง 74,826 คนเป็นสัดส่วนถึง 17% สะท้อนว่าแรงงานยังไม่มีความรู้ และไม่มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้างต้องการนัก

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยยังมีปัญหา “Field-of-Study Mismatch” โดยนักเรียนไทยในระดับมัธยมศึกษา นิยมเรียนสายศิลป์อยู่ถึง 70% และเรียนสายวิทยาศาสตร์ 30% สัดส่วนนี้ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา การศึกษาในอดีต (จันทะพงษ์และเลิศเพียรธรรม, 2018)9 พบว่า ในปี 2560 สัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาย STEM วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและเป็นสาขาอาชีพที่คาดว่าจะเติบโตเร็วที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้าตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพลิกโฉมโลกการทำงานแห่งอนาคตอยู่ที่ร้อยละ 21 เทียบกับสัดส่วนความต้องการแรงงาน STEM อยู่ที่ 41% (ปี 2556) นอกจากนี้ ภาคการผลิตของไทยยังมีความต้องการแรงงานสาย STEM เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพทั้ง “First S-Curve” และ “New S-Curve” ที่ต้องใช้แรงงานทักษะสูงที่จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของปัญหาช่องว่างทักษะ (Skills Gap) หากพิจารณาช่องว่างทักษะที่เกิน 25% ซึ่งสะท้อนถึงทักษะของแรงงานต่ำกว่าที่นายจ้างคาดหวัง พบว่าแรงงานไทยมีช่องว่างทักษะสูงที่สุดในกลุ่มทักษะความรู้ในงาน รองลงมาคือทักษะทางปัญญาและการทำ (เช่น ทักษะภาษาต่างประเทศ (38%), คอมพิวเตอร์ (36%), คณิตศาสตร์ (33%), ความสามารถ/สมรรถนะ และคุณลักษณะ ตามลำดับ10

3. เรียนสายอาชีพ: เชื่อม Education และ Skills สร้างโอกาส สร้างนวัตกร และสร้างอาชีพอิสระ

สถาบันระหว่างประเทศแมคเคนซีระบุว่าภายในปี 2030 หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากถึง 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลกโดยเฉพาะสายงานด้านการผลิตในโรงงาน ดังนั้น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องเป็นคนมีทักษะทางวิชาชีพ และหากเรียนในระบบทวิภาคีที่มีคุณภาพที่มีการเรียนภาคทฤษฎีที่สอดคล้องต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบการก็จะยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานช่วยลดปัญหา Skill Mismatch ในตลาดแรงงานได้

หากเราสามารถสร้างโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีโอกาสจะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพชั้นสูงก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและทางรายได้โดยเฉพาะประชากรกลุ่มรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) ของประเทศมีงานทำและมีรายได้สูง ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างทักษะในตลาดแรงงานได้ในอีกทางหนึ่ง

หากทำได้เช่นนี้ คาดว่าไทยจะค่อยๆ สร้างแรงงานฝีมือที่มี “ทักษะการทำงาน” ที่มีความรู้ทั้งทางทฤษฎี และ “ทักษะชีวิต” ที่ได้จากการฝึกงานอาชีพ ซึ่งเป็นแรงงานที่ได้รับการยอมรับและมีการพัฒนาต่อเนื่อง “เรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด” เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตและถือเป็น “Backbone” ของการพัฒนาอาชีพและพัฒนางาน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพใหญ่ต่อไป และพบกับบทความภาคต่อไปได้ที่เว็บไซด์ www.EEF.or.th

อนึ่ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้พัฒนา “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน” แก่สถาบันการศึกษาสายอาชีพที่มีศักยภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนสายอาชีพยุคใหม่จำนวน 50 สถาบันจากทุกสังกัดทั่วประเทศ และสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ (Bottom 40) และมีทักษะฝีมือสูงจำนวน 2,500 ทุนในปีการศึกษา 2562 ให้ศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกข้างต้น

____________________________________________
References:

1 รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2560 จัดทำโดยสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 และ 1 โดยหากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคยิ่งมีค่าเข้าใกล้ 1 มากเท่าใด แสดงว่าความเหลื่อมล้าของรายได้ยิ่งมีมากขึ้น

3 ILO (2012), International Standard Classification of Occupations, 2008 (ISCO-08), Volume 1: Structure, Group Definitions and Correspondence Tables

4 ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ และพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ (2017), เทคโนโลยีแห่งอนาคต Gig Economy และโลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม, MPG Economic Review, สายนโยบายการเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, 6 Jun

5 งานเสวนา “เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย” โดยโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียนร่วมกับ กสศ. และ สสส. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2018/10/thai-education-reform-7/

6 Dr. Dilaka Lathapipat (forthcoming): แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานและการลดความสิ้นเปลืองของงบประมาณ (World Bank) data from OECD.stat (Latest year during 2014-2016) and Office of the Basic Education Commission, Ministry of Education, Thailand (2016)

7 Frequently discussed types of skills mismatch are as follows: skill shortage (surplus), skill gap, vertical mismatch, horizontal mismatch, overeducation (undereducation), overqualification (underqualification) and Skills obsolescence from “Skills Mismatch in Europe: Statistics Brief”, International Labour Office, Department of Statistics, Geneva, ILO, 2014

8 ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ปี 2560 จัดทำโดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

9 ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ และนางสาวกานต์ชนิต เลิศเพียรธรรม (2018), กับดัก Skills Mismatch และความท้าทายสู่ Education 4.0, MPG Economic Review, สายนโยบายการเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, 24 July

10 รายงานการศึกษาวิเคราะห์ ฐานข้อมูลแรงงานและประมาณการความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน, ก.ย. 2560

 

____________________________________________________________________________
Disclaimer:

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนซึ่งไม่จำเป็นต้อง
สอดคล้องกับความเห็นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
____________________________________________________________________________

ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส
ด้านแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
saovanee@eef.or.th

Research Fellow and Head,
Workforce and Competency
Development Programme
Equitable Education Fund (EEF)
saovanee@eef.or.th

____________________________________________________________________________