รอยยิ้ม ท่าทีร่าเริงเป็นมิตรของเด็กๆ และความตั้งใจมาเรียนจนอัตราการขาดเรียนด้วยสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่การลาป่วยมีตัวเลขเป็นศูนย์ เป็นหลักฐานเชิงประจักษที่เห็นได้จากโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.).บ้านห้วยสลุง อ.แม่ระมาด จ.ตาก
สิ่งที่กล่าวมา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น แต่เป็นความสำเร็จในการจัดการที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของครู นักเรียน ผู้ปกครองและทุกๆ คน ในโรงเรียนแห่งนี้ ที่ค่อยๆ ถักทอภาพของโรงเรียนในฝันขึ้นมาร่วมกัน แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นยาก หากขาดหัวเรือหลักอย่าง ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง คอยกำกับทิศทาง
ด.ต.หญิง วิไล หรือ ‘ครูผึ้ง’ ของเด็กนักเรียนโรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง เล่าว่า เหตุผลสำคัญของการทำงานได้อย่างเข้าใจธรรมชาติของเด็กในพื้นที่และชุมชนนั้นมาจากการเป็นคนในพื้นที่ เป็นครูตชด.ที่ได้กลับมาทำงานในบ้านเกิดตัวเอง
“สมัยก่อนที่บ้านและที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร ไม่มีหน่วยจัดการศึกษาที่ไหนเข้าไปจัดให้มีแต่โรงเรียน ตชด. เข้ามาจัดการศึกษาให้ มีห้องเรียน ป.1 ถึง ป.4 เรียนถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียน คือจบ ป.4 ก็ไปเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเรียนต่อ ป.5 ป.6
การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ตชด.ในสมัยนั้น เป็นการจัดตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ มีครู ตชด. เข้ามาเป้นผู้สอน สมัยนั้น ทั้งโรงเรียนมีครูประมาณ 4 คน การเรียนการสอน เน้นให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีวิชาการ หรือการสอบประเมินมากมายเหมือนสมัยนี้ สมัยก่อนโครงการอาหารกลางวันก็ไม่มี เมื่อก่อนนานๆ ก็จะมีคนเขามาเลี้ยงสักทีหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจะเน้นให้นักเรียนได้อ่านออกเขียนได้อย่างเดียว ไม่มีอะไรประเมินมากมายเหมือนสมัยนี้
สมัยนั้นยังไม่มีโครงการอาหารกลางวัน นักเรียนต้องเดินกลับไปทานข้าวที่บ้านเอง หรือห่อใบไม้ใส่กล่องมากิน ส่วนใหญ่เป็นอาหารง่ายๆ ข้าวกับน้ำพริก แต่บางอาทิตย์ หรือบางเดือนจะมีคณะผู้ใหญ่ใจดีเดินทางจากในเมืองเข้ามาเลี้ยงอาหารกลางวัน ได้กินอาหารดีๆ หรือบางครั้ง ครูก็ทำอาหารกลางวันเลี้ยงพวกเรา” ครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยสลุงเล่าถึงช่วงชีวิตวัยเรียนของตัวเอง
หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 ด.ต.วิไล ทราบจากข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการคุรุทายาทของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกาศรับศิษย์เก่าที่จบชั้นสูงสุดจากโรงเรียน ตชด. จึงลองไปสอบแข่งขันเป็นตำรวจชั้นประทวน เมื่อสอบได้ตามที่ประกาศ ก็เข้าเรียนและฝึกเป็นภาคสนามของ ตชด. 3 เดือน จากนั้นก็ฝึกความสามารถครูอีก 6 เดือน ก็ได้บรรจุเป็นครูตชด.กลับมาสอนที่บ้านเกิด
ครูผึ้ง ยังเล่าว่า โรงเรียนปัจจุบันที่ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูใหญ่ เป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชน ประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยสลุง หมู่ 8 ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอที่อพยพมาจากพื้นที่ดอยสูง มาตั้งรกรากในพื้นที่ยึดอาชีพรับจ้าง มีฐานะยากจน ลูกหลานในพื้นที่ไม่มีโรงเรียน
เดิมนักเรียนในหมู่บ้านต้องเดินทางไปเรียน ที่โรงเรียนบ้านทุ่งมะขามป้อม ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 4.2 กิโลเมตร ชาวชุมชนบ้านห้วยสลุงจึงดำเนิการขอจัดตั้งโรงเรียนในชุมชน ไปยังกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 ให้จัดตั้งศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยสลุง เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 โดยในส่วนของอาคารเรียนที่เห็นในปัจจุบัน มาจากการขอความอนุเคราะห์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรีจนได้รับการจัดสรรงบประมาณให้และใช้แรงงานก่อสร้างจากนักศึกษาจิตอาสาช่วยเหลือสังคมจาก 3 สถาบัน คือ มทร.ธัญบุรี มทร.ล้านนา และมทร.สุวรรณภูมิ ใช้เวลาสร้างอาคารหลักของโรงเรียน 3 หลัง ประกอบด้วย อาคารราชมงคลเฉลิมพระเกียรติหลังที่ 47, 48, 49 ทั้งหมด ในเวลา 35 วัน
“สภาพของชุมชนและโรงเรียนในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่อสมัยก่อน เพราะว่าการคมนาคมสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น โรงเรียนใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบ โรงเรียน ตชด. ให้เด็กได้ศึกษาทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เน้นให้เด็กได้ลงมือทำ ปลูกผักกิน เลี้ยงไก่ หมู ปลา ตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ส่วนหนึ่งที่เด็กมาโรงเรียนเกือบ 100 % ก็เนื่องจากผู้ปกครองรุ่นปัจจุบันเริ่มมีการศึกษา เห็นความสำคัญของการเรียน คนสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ ด้วยคุณภาพชีวิต ด้วยความยากจน เขาอาจจะต้องพาเด็ก ๆ ไปช่วยทำไร่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว” ด.ต.หญิง วิไลเล่าถึงความเป็นไปในปัจจุบัน
ครูผึ้ง เล่าด้วยว่า ความสำเร็จของตัวเองซึ่งเป็นนักเรียนที่จบจากโรงเรียน ตชด. ไปเรียนต่อในเมืองจนจบ แล้วได้รับโอกาสให้กลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่มีส่วนช่วยชักจูงจิตใจให้เด็ก ๆ อยากมาเรียนในโรงเรียน
“เมื่อเขาเห็นเรา เขาก็จะเห็นว่า เขาจะมีอนาคตที่ดีได้จากความตั้งใจเรียน ซึ่งโรงเรียน ตชด.ให้ได้ทั้งการศึกษา ให้ทักษะชีวิต ที่ผ่านมา เคยไปติดตามนักเรียนที่ขาดเรียนถึงบ้าน ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมขาดเรียน ส่วนมากเด็กที่ไม่มาเรียน จะเกิดจากปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย ไม่สบาย เท่านั้น พวกที่โดดเรียนไม่มาเรียนเลย ที่นี่ไม่มีค่ะ เด็กมาเรียนเพราะมาแล้วมีความสุข” ด.ต.หญิง วิไล ระบุ
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงกรณีของครูใหญ่โรงเรียนตชด.บ้านห้วยสลุง สอดคล้องกับแนวคิด โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในการสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่อยากเป็นครูได้เรียนครูจนจบปริญญาตรี และกลับมาเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตน ด้วยการสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป
“อยากให้ครูรุ่นใหม่ตามโครงการของเรา มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ เพราะว่าปัญหาบางอย่าง ที่ครู ตชด. ท่านนี้เคยเจอ เคยแก้ไขจนสำเร็จ หรือเทคนิคการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในบางเรื่องได้มาจากประสบการณ์ของคนที่มีทักษะรู้จักธรรมชาติ ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น และเป็นเรื่องที่การสอนทฤษฏีตอบโจทย์ไม่ได้ ผู้ที่จะมาเป็นครูรุ่นใหม่ ควรได้เรียนรู้จากครูท่านนี้ เป็นวิธีที่คิดที่ได้จากความรู้พื้นฐานในท้องถิ่นมาช่วยผลักดันให้เกิดองค์ความรู้จากฐานความรู้ที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ เด็กชาติพันธุ์ ประเพณีวัฒนธรรมแตกต่าง แต่ละที่บริบทการเรียนบางเรื่องต่างกัน” ดร.อุดมระบุ
อย่างไรก็ตาม โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงตั้งเป้าหมายที่จะเติมเต็มเรื่องนี้ให้เด็ก ให้นักเรียนทุนของเราได้ตระหนักว่า การได้อยู่ในพื้นที่จริง ได้ทำอะไรในเชิงปฏิบัติ นำไปสู่การมีโอกาสในการศึกษาเรื่องต่างๆ เพิ่มจากตำราในมุมของตัวเอง สร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น และกลับมาเป็นครูในบ้านเกิดตัวเอง กลับมาถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นๆ มองเห็นความสำคัญของการช่วยกันดูแล พัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“นอกจากนี้ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ อาจารย์จาก 11 สถาบันที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมผลิตนักศึกษาของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะร่วมกับโรงเรียนและชุมชน ในการคัดเลือกและคัดกรองนักเรียนในพื้นที่มีฐานะครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ยากจนตามที่กสศ.กำหนด ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และอยากเป็นครู มีภูมิลำเนา อยู่เขตตำบลที่ตั้งของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล 282 แห่งในรัศมีที่ใกล้กับ 11 สถาบันที่มีการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีเกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 2.5 เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสอบคัดเลือกทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูฯ กศส. กล่าว