ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในบริเวณตะเข็บชายแดนทั่วประเทศ ส่งผลให้โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่มีอยู่ทั้งหมด 218 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนภูเขา ดอยสูง พื้นที่ป่า ฯลฯ โรงเรียนตชด.บางแห่ง การเดินทางยากลำบากจนอาจกล่าวได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่รถยนต์ธรรมดาจะสามารถเข้าไปถึงพื้นที่ได้ในช่วงฤดูฝน ขณะที่ฤดูร้อน ถนนเส้นเดิมจะกลายเป็นฝุ่นหนา
พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช รอง ผบช.ตชด. เล่าว่า สภาพเส้นทางของโรงเรียนหลายแห่ง กลายเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของครูตชด. ไปโดยปริยาย โรงเรียนตชด.ที่ตั้งอยู่ในจุดที่เดินทางได้อย่างยากลำบากที่สุดเท่าที่ได้รับรายงานมานั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 ค่ายพระพุทธยอดฟ้า การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ สามารถทำได้ 3 วิธี คือวิธีแรก ทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์บินข้ามพื้นที่ป่าเข้าไป วิธีที่สอง คือ ต้องเดินเท้าเพราะไม่มีทางรถยนต์ไปตามเส้นทาง ฝ่าพื้นที่ป่าและต้องพักค้างแรมกลางทาง กว่าจะถึงเขตชุมชน ต้องใช้เวลา 3 วัน
วิธีที่สาม คือ นั่งรถข้ามเขตแดนไปยังฝั่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แล้วต้องวกกลับเข้ามายังฝั่งประเทศตามเส้นทางสัญจรที่ต้องขออนุญาตชนกลุ่มน้อยกระเหรี่ยงผ่านเส้นทางที่ตัดผ่านพื้นที่ยึดครองเพื่อกลับมาฝั่งประเทศไทย
“แต่ถึงเส้นทางจะลำบากขนาดนั้น ครูในโรงเรียนก็ไม่เคยย่อท้อ โดยเฉพาะครูที่เป็นตชด.หญิง ที่กระตือรือล้นในการทำงานในพื้นที่มาก แม้แต่ละครั้งที่เข้าเมืองต้องใช้เวลาเดินเท้าถึงสามวัน” พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ กล่าว
กสศ.เปิดประตูสู่โอกาส ครูฮีโร่ คืนน้องสู่ห้องเรียน จดหมายลาครู ตชด. รร.ตชด. โรงเรียนตชด. พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช