“ผมเองก็เป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดที่นี่ โตที่นี่ก็พอจะเข้าใจว่า เรื่องความกล้าหรือการไปอยู่รวมกับคนอื่นค่อนข้างลำบาก ทั้งเรื่องอาหาร ศาสนาล้วนมีผล กลัวว่าหากไปอยู่ที่อื่นแล้วเขาจะรู้สึกไม่พร้อมอยู่ในพื้นที่จะมีความพร้อมมากกว่า แต่พอเราไปจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี จัดระบบตรงนี้ให้พร้อมเขาก็อยู่ได้”
อาจารย์อำนาจ สมทรง ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้าแผนกช่าง วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี เจ้าของรางวัลครูยิ่งคุณ ประจำปี 2562 จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้มอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ ความเสียสละ และสร้างคุณูปการต่อวงการศึกษา เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงความมุ่งมั่นตั้งใจกับการขับเคลื่อนการเรียนการสอนที่นอกจากพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งยังต้องหาโอกาส และเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนในการจบออกไปทำงานทั้งในและนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กมากว่าปกติเพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการเรียนรู้ ความสามารถ เรายังต้องหาวิธีการเรียนรู้เพิ่มเติมให้เด็กเพื่อที่จะสามารถแข่งขันทั้งตลาดงานอาชีพ ตลาดวิชาการ เด็กจะมีอุปสรรคทั้งเรื่องภาษา ในฐานะครูผู้สอนก็ต้องหาโอกาส หาเวทีต่างๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ให้กับนักเรียน
อาจารย์อำนาจ อธิบายว่า ในแง่วิชาการจะเห็นว่าด้วยข้อจำกัดเด็กเราจะมีคะแนนน้อยกว่าที่อื่น ทำให้ต้องทำหลักสูตรเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ทักษะทางวิชาชีพ เพิ่มโอกาสให้เด็กเราพัฒนาก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง และการทดลองนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ด้อยกว่าภาคอื่นถ้าเราพัฒนาเขาได้อย่างถูกต้อง เด็กของวิทยาลัยก็สามารถไปชนะการแข่งขันระดับชาติในเวทีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรการช่างอากาศยานเป็นที่เรียบร้อย จากเดิมที่เคยเป็นโปรเจ็คท์อยู่ในงบประมาณจัดการเรียนการสอนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพัฒนาจนทางสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาได้จัดทำหลักสูตร เปิดการเรียนการสอนเป็นช่างอากาศยานเรียบร้อย โดยมีระบบทวิภาคีร่วมมือกับโรงงานประกอบเครื่องบินเล็กที่สระบุรี เด็กที่จบไปสาขานี้ก็จะไปทำงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน หรือโรงงานทั่วไปได้ หรือจะไปประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวได้
ทั้งหมดถือเป็นกลุ่มทางเลือกให้เขามีทางเลือก อีกทั้งปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศยาน โดยจะมีท่าอากาศยานเปิดตัวอีกหลายแห่ง รวมถึงทางใต้ที่เบตง ซึ่งเมื่อเปิดแล้วก็จะมีงานเพิ่มขึ้นบริษัทต่างๆ ก็จะมาเปิดในพื้นที่ตามมาคนในพื้นที่ก็จะได้โอกาสตรงนี้ ทั้งเรื่องภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่ ตรงนี้เป็นทางเลือกที่เราจะต้องทำให้เด็กไว้ใจ เชื่อใจ มั่นใจ
23 ปีในอาชีพความเป็นครูเราภูมิใจที่ได้เห็นเด็กในพื้นที่จบออกไปมีอนาคตที่ดี มีงานดีๆ เด็กส่วนใหญ่เป็นมุสลิม 95 เปอร์เซ็นต์ ความภูมิใจยังอยู่ที่เราดึงเด็กกลุ่มนี้ให้เขามาเรียนสายอาชีพและจบออกไปพัฒนาประเทศ หลายคนไม่อยากเรียนสายสามัญก็มีทางเลือกมาตรงนี้ หลายคนได้จบออกไปอยู่ฐานขุดเจาะน้ำมัน หลายคนไปสอนหนังสือต่อที่กรุงเทพฯ
“ผมเป็นคนจังหวัดนราธิวาส มีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดยะลา และรับราชการอยู่จังหวัดปัตตานีเดินทางไปกลับจังหวัดยะลาปัตตานีทุกวันๆ ละ 37 กิโลเมตร ทำงานจังหวัดปัตตานีกลับมานอนยะลา ไม่ได้คิดจะไปไหนเพราะอยากกลับมาพัฒนาพื้นที่ใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนตัวไม่คิดจะไปฝ่ายบริหารแม้จะมีคนจีบ แต่เสียดายความรู้และตั้งใจจะขอเกษียณในฐานะครูผู้สอน โดยตั้งปณิธานขอเป็นครูตลอดชีวิต”
สำหรับรางวัลครูยิ่งคุณที่ได้รับถือเป็นที่สุดของชีวิต ถือเป็นที่ภาคภูมิใจ ซึ่งการพิจารณาที่มาจากสภาพจริง จากที่ได้สัมภาษณ์ลูกศิษย์ ครู เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา บุคคลภายนอก ซึ่งน่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งมั่นตั้งใจทำงานที่ผ่านมาตลอด 23 ปี จึงถือได้ว่าเป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด