จากผู้รับแปรเปลี่ยนเป็นผู้ให้ เด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงวิทยาลัยชุมชนสตูล ยึดคติ นักเรียนทุนต้องเรียนรู้การตอบแทน ตามอัตลักษณ์ของวิทยาลัย ที่เน้นเรียนรู้จากการลงมือทำงานจริงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต และต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนเข้มแข็งผ่านงานจิตอาสา อันป็นกิจกรรมหลักของวิทยาลัย
ดร.วรรณดี สุธาพาณิชย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล กล่าวถึงการจัดกระบวนการเรียนการสอนของทางวิทยาลัยว่า เรามุ่งผลักดันให้นักเรียนได้ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติผ่านวิธีการที่เรียกว่า wil หมายถึง Work-integrated Learning คือการเรียนในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการทำงานในสถานประกอบการจริง เพื่อให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการเข้ากับการปฏิบัติ เพื่อสร้างประสบการณ์จากการทำงาน เสริมทักษะอาชีพให้แข็งแรง จบไปแล้วต้องทำงานได้จริง
เราเซ็ทรูปแบบการเรียนให้เด็กฝึกปฏิบัติงานที่วิทยาลัยในเบื้องต้น เข้าใจทฤษฏี จนเริ่มชำนาญในระดับหนึ่ง จากนั้นจะส่งเขาไปทำงานในสถานประกอบการ เทอมหนึ่งจะเรียนภาคทฤษฎีสองเดือน ส่วนอีกสองเดือนเขาจะได้ลองนำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดผ่านการทำงานจริง ทางวิทยาลัยได้ทำ MOU ไว้กับสถานประกอบการหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เราอยากให้เขาได้รู้งานทุกขั้นตอน ตั้งแต่งานหน้าร้าน งานจัดเลี้ยงนอกสถานที่ การพัฒนาทักษะภาษา การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไปจนถึงขั้นตอนการบริหาร
ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูลกล่าวต่อไปว่า เด็กที่ผ่านจากวิทยาลัยออกไปจะต้องมีทักษะอาชีพที่พร้อมสำหรับทำงานได้ทุกที่ มีทักษะชีวิตที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาสามารถซึมซับได้จากการทำงานเจอผู้คนที่หลากหลาย ได้มีสังคมที่กว้างกว่าแค่ในวิทยาลัย ไม่เพียงเท่านั้น ทางวิทยาลัยยังมีอัตลักษณ์ที่สืบทอดมาว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะ พร้อมทำงานเพื่อชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ที่เขาอาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่เราจะไม่ให้เขาไปทางวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องมีกิจกรรมด้านจิตอาสาด้วย
“การดูแลเด็กทุนเราจะมีอาจารย์พ่ออาจารย์แม่ที่จะดูแลเด็ก 3-5 คนต่ออาจารย์ 1 คน เป็นที่ปรึกษาให้เด็กทั้งด้านความเป็นอยู่ ความประพฤติ การเรียน บัญชีรายรับรายจ่าย และที่สำคัญคือสนับสนุนให้เขาได้ทำงานจิตอาสา คอยบอกเขาเสมอว่าเขาต้องรู้จักการให้ หลังจากที่ได้รับมาแล้ว เราต้องค่อย ๆ ปลูกฝังให้เขารู้ว่าการให้นั้นสำคัญ โดยเฉพาะการเป็นนักเรียนทุนเราต้องรู้จักตอบแทน เริ่มจากนำสิ่งที่ได้รับมาคือความรู้ความสามารถ ไปสร้างประโยชน์คืนให้กับชุมชน” ดร.วรรณดีกล่าว
พิยดา ฮะอุรา นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 อนุปริญญา 1 สาขาวิชาการท่องเที่ยว เล่าถึงประสบการณ์การทำงานจิตอาสาว่า เป็นคนที่มีใจรักในการทำงานเพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว ตอนนี้เข้าร่วมทั้งโครงการปลูกต้นไม้ริมคลองในหมู่บ้าน และงานทำประวัติของชุมชนเพื่อสืบสานเรื่องราวในอดีตสู่คนรุ่นหลัง การทำงานทำให้ตนได้รู้กระบวนการทุกอย่างตั้งแต่จัดสรรค่าใช้จ่ายจนถึงการหัดเขียนหัดเล่าเรื่อง งานที่ทำไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อชุมชนแต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง จากคนไม่กล้าพูดกล้าแสดงออก พอต้องสื่อสารกับผู้คนหลากหลาย ทักษะการพูดก็ดีขึ้น
นารีรัตน์ บูนำ นักศึกษาทุน ฯ อนุปริญญา 1 สาขาวิชาการท่องเที่ยว เช่นกัน เล่าว่า ตนเป็นสตาฟฟ์รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและต่อต้านยาเสพติดในชุมชน นอกจากนั้นยังรวมกลุ่มกับเพื่อนตระเวนทำงานจิตอาสาตามกำลังและเวลาที่มี ขณะที่ทำงานนอกเวลาเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารไปด้วย ทั้งงานจิตอาสาและงานนอกเวลามันช่วยพัฒนาตัวเรา งานบริการสอนหลายอย่างที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ส่วนงานจิตอาสาคือความสุขที่ได้ทำ คิดเสมอว่าตนเองเคยได้รับมาก่อน ดังนั้นจึงคิดว่าการทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นหน้าที่่ที่อยากตอบแทนคืนให้สังคมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม เรามองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้รู้จักผู้คน ทำให้ได้พัฒนาตัวเองและหล่อหลอมให้เป็นคนที่ดีขึ้น
ขณะที่ เมธา หมาดสุเรน นักศึกษาทุน ฯ อนุปริญญา 1 สาขาวิชาการท่องเที่ยวอีกคน กล่าวปิดท้ายว่า ตนได้นำประสบการณ์ที่มีไปช่วยงานสอนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ให้กับน้อง ๆ ได้เข้าใจและเชื่อมโยงได้ว่า ศาสนามีความสำคัญและเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตอย่างไร เวลาว่างที่มีก็มักไปช่วยทำความสะอาดกุโบร์และมัสยิด นอกจากนี้ยังรับจ้างทำงานพิเศษประกอบไปด้วย งานทั้งสองรูปแบบช่วยพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะทางสังคมได้มาก งานนอกเวลาทำให้เรียนรู้ว่าคนในสังคมมีหลากหลายรูปแบบ ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ตนได้เห็นโลกจริง ๆ ได้เห็นการทำงานจริง ๆ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ส่วนงานจิตอาสาสอนให้รู้จักช่วยเหลือคนอื่น รู้จักที่จะให้มากกว่ารอเป็นผู้รับฝ่ายเดียว