งานวิจัยเชิงพื้นที่ ตอบโจทย์แก้การศึกษาเหลื่อมล้ำตรงจุด

งานวิจัยเชิงพื้นที่ ตอบโจทย์แก้การศึกษาเหลื่อมล้ำตรงจุด

แม้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเป็นปัญหาที่มีมาอย่างช้านาน และเป็นปัญหาที่หากจะแก้ไขให้หมดไปอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกระบวนการทำงานความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แนวคิดหนึ่งในการแก้ปัญหานี้คือแก้ด้วยกระบวนการเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ ก่อนจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้ตรงกับปัญหาซึ่งนักเรียนกำลังเผชิญอยู่จริง

จากข้อมูลรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ พบว่าในโรงเรียนหนึ่งจะมีนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน เฉลี่ยรายได้ไม่ถึง 3,000 บาท ต่อเดือน หรือไม่ถึง 36,000 บาทต่อปี ครอบครัวเหล่านี้ต้องแบกรับรายจ่ายการศึกษา คิดเป็น 22% ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยที่รับภาระเพียง 6% ของรายได้ หรือเฉลี่ยแล้วคือต้องรับภาระมากกว่าถึงเกือบ 4 เท่า อันเป็นสาเหตุให้เด็กกลุ่มที่มาจากครอบครัวฐานะยากจนมีแนวโน้มออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือหลุดจากระบบการศึกษา เป็นจำนวนเฉลี่ยปีละกว่า 670, 000 คน

ขณะที่ประเทศไทยมีงบประมาณช่วยเหลือนักเรียนยากจน ที่เรียกว่าเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนในสถานศึกษา แบบเท่ากันทุกคน แต่ในความเป็นจริง นักเรียนแต่ละคนหรือในแต่ละพื้นที่การศึกษาต่างมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน การช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าวจึงอาจจะยังไม่ตรงจุด
.
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายว่า ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลการศึกษาทั่วประเทศในเชิงภาพรวมมาโดยตลอด ช่วยให้เกิดมิติที่แตกต่างในการแก้ปัญหาและเป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์ทิศทางการแก้ปัญหาทางการศึกษาในอนาคต
.
แต่โดยสรุปแล้ววิธีดังกล่าว ยังมีจุดอ่อนอยู่มาก เนื่องจากทำได้เพียงแสดงทิศทางของปัญหา ไม่สามารถเจาะลึกในลักษณะการกระจายรายได้ของประชากรในแต่ละพื้นที่ อันเป็นปัจจัยหลักของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
.
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงทำการวิจัยจนได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามอุปสงค์ (Demand-side Financing) ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล ในบริบทพื้นที่แตกต่างกัน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน
.
โครงการดังกล่าว เริ่มต้นที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. กับโครงการ ‘เงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข’ โดยให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานแรกในการปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจนในระบบการศึกษา

รศ.ดร.ชัยยุทธ ระบุว่า การเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่ามิติของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง ซึ่งหมายถึง ต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกัน ด้วยบริบททางสังคมของประชากร ที่ต่างกันด้วยสภาพแวดล้อม ทรัพยากร ความเจริญของเทคโนโลยี การกระจายงาน ทำให้พบอีกด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคันหรือตกหล่นจากการศึกษาภาคบังคับมีความแตกต่างกันไปด้วย

“มิติของพื้นที่ ในที่นี้ หมายถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่น แม้กระทั่งองค์กรภาครัฐในแต่ละพื้นที่เอง ก็ยังมีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาที่ต่างกันไปตามแนวทางของภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งการนำวิธีการเจาะลึกข้อมูลในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียดมาใช้ จะทำให้มองเห็นภาพดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น

ที่ผ่านมา การเก็บข้อมูลแบบเก่า ทำให้เกิดปัญหาอีกด้วยว่า บางครัวเรือนมีผู้ได้รับสิทธิ์ในบ้านเดียวกันสองคนขึ้นไป จึงได้รับสิทธิ์มากกว่าครอบครัวอื่น เช่น ผู้ด้อยโอกาสมากกว่าสองคนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน หรือมีทั้งเด็กด้อยโอกาส ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยคนชรา หรือบ้างเป็นผู้พิการ ครอบครัวเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิ์ที่ซ้อนทับกัน แต่ด้วยการเก็บข้อมูลแบบเจาะลึกลงไปเป็นครัวเรือน ทำให้รัฐมีข้อมูลเชิงลึกช่วยในการวางแผนจัดสรรเงินสวัสดิการ เนื่องจากธรรมชาติของประชากรเองมีการย้ายถิ่นที่อยู่ตามความจำเป็นทางอาชีพ หรือด้วยความจำเป็นทางการศึกษา จึงไม่สามารถยึดถือรายชื่อตามบันทึกในทะเบียนบ้านได้

การเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ยังมีบทบาทโดยตรงต่อโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขในการส่งเสริมการทำงานของรัฐ โดยแต่เดิมที่ สพฐ. ได้วางแผนงานโดยมองโครงสร้างการศึกษาของเด็กทั้งประเทศโดยรวม ทำให้การจัดสรรเงินอุดหนุนในแต่ละพื้นที่การศึกษายังช่วยเหลือเด็กได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากจำนวนเด็กด้อยโอกาสในแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน การจัดสรรเงินสวัสดิการจึงใช้วิธีเกลี่ยให้แต่ละจังหวัดโดยแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าว
.
รศ.ดร.ชัยยุทธ อธิบายอีกว่า ด้วยวิธีการเดิม สพฐ.จะแบ่งโควตาให้จังหวัดหนึ่งไม่เกิน 40% นั่นหมายถึงทุกจังหวัดจะได้เงินอุดหนุนเท่ากันทั้งหมด ขณะที่แต่ละจังหวัดมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนไม่เท่ากัน ทำให้จังหวัดที่มีเด็กยากจนเยอะก็จะเข้าถึงสิทธิ์ได้น้อยลง ปัญหาจึงไปตกที่โรงเรียน เช่นบางโรงเรียนมีเด็กยากจน 100 คน แต่เขาได้สิทธิ์ที่จัดสรรสำหรับเด็กแค่ 40 คน ก็ต้องเอาเงินสำหรับเด็ก 40 คนไปเกลี่ยให้เด็กอีก 60 คนด้วย เพราะยังไม่มีข้อมูลเจาะลึกในระดับจังหวัด จึงกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนในการมอบเงินสวัสดิการ เท่ากับว่าจังหวัดที่มีเด็กยากจนน้อยกว่าเขาก็ได้รับไปเต็มหมด สามารถจัดสรรให้เด็กได้มากกว่า
.
ดังนั้นการเก็บข้อมูลเชิงลึก ในระดับพื้นที่ จึงมีความสำคัญมากต่อการจัดสรรความช่วยเหลือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ตรงจุดกว่า