ในชีวิตประจำวันเรามักไม่ค่อยเห็นผู้พิการทำงานอยู่ตามบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งที่มีกฎหมายบังคับให้บริษัทใหญ่ต้องจ้างผู้พิการ
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตัวเลขการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการมีเพียง 1.29 หมื่นคน[1] จากผู้พิการทั้งหมด 2.22 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ในแง่หนึ่งผู้พิการเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาที่ต้องอาศัยความพร้อมของทั้งสถานศึกษาและครอบครัว จนถึงความเข้าใจจากคนรอบข้าง ผู้พิการส่วนใหญ่มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา ส่วนคนที่ฝ่าฟันจนเรียนจบปริญญาตรีได้มีเพียงหยิบมือ
แน่นอนว่าการเรียนจบมหาวิทยาลัยของผู้พิการแลกมาด้วยความมุมานะมากกว่าคนทั่วไป แต่เมื่อพวกเขาต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน กำแพงใหญ่ตระหง่านเบื้องหน้าคือทัศนคติของนายจ้างที่มักมองข้ามความสามารถของผู้พิการ หรือหากจำเป็นต้องจ้างผู้พิการเพราะกฎหมายบังคับ นายจ้างจำนวนมากก็เลือกเสนอเงินในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นเงินเดือนที่น้อยกว่าลูกจ้างที่เรียนจบปริญญาตรีคนอื่นๆ
สภาพที่เป็นอยู่ย่อมบั่นทอนแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองของผู้พิการที่หวังใช้ชีวิตอย่างปกติ มีรายได้จากการทำงานจนหาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องใช้ชีวิต ‘น่าสงสาร’ อย่างที่สังคมมอง
ขณะเดียวกันกฎหมายเรื่องการจ้างงานผู้พิการที่หวังเป็นช่องทางผลักดันให้เข้าถึงการทำงานมากขึ้นกลับเปิดช่องให้นายจ้างเอาเปรียบผู้พิการได้ ปัจจุบันการรับผู้พิการเข้าทำงานถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33[2] ว่า สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1 คน แต่หากไม่จ้างผู้พิการต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน (จำนวนเงินยึดตามค่าแรงขั้นต่ำ)
แม้กฎหมายนี้จะมีเจตนาดี แต่ในความเป็นจริงมีนายจ้างจำนวนมากมองว่าการมีผู้พิการในที่ทำงานเป็น ‘ภาระ’ หลายแห่งจึงมีข้อเสนอให้คนที่ถือบัตรคนพิการว่าขอเอาชื่อไปขึ้นทะเบียนเพื่อไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน แล้วให้อยู่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานจริง แต่จะจ่ายเงินรายเดือนเพียงหลักพัน โดยไม่สนว่าผู้พิการมีความสามารถหรือเรียนจบชั้นอะไร
วันโอวันจึงชวนสำรวจปัญหาการจ้างงานผู้พิการผ่านมุมมองของสามผู้พิการที่เป็นพนักงานบริษัท สื่อมวลชน และนักกฎหมาย ตั้งแต่การถูกปฏิเสธเข้าทำงานซ้ำๆ เพราะความพิการ การถูกมองข้ามความสามารถ การถูกลดทอนแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง จนถึงช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้ผู้พิการได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าความสามารถและอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง
“เรียนไปก็ไม่มีโอกาสอยู่ดี” ผู้พิการกับวังวนคำปฏิเสธจ้างงาน

“เราเคยไปสัมภาษณ์งาน ทางบริษัทสนใจจึงบอกว่าขอเอาเรซูเม่ไปพิจารณา สุดท้ายโทรกลับมาบอกว่าจะขอเอาชื่อเราไปขึ้นทะเบียนแล้วให้เงินเดือน 9,000 บาท แต่เราไม่ต้องไปทำงาน สำหรับผู้พิการที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาอาจรับโอกาสนี้ไว้ แต่เราต้องการโอกาสในการทำงานที่เราอยากทำ แล้วเงิน 9,000 บาทมันน้อยมาก จะไม่ให้เราดูแลตัวเองได้เลยเหรอ เราจึงปฏิเสธ เพราะไม่ได้อยากอยู่บ้านเฉยๆ”
นั่นคือประสบการณ์เมื่อสิบปีที่แล้วของชมพูนุท บุษราคัม ในช่วงหางานหลังเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ชมพูนุทผ่านประสบการณ์หางานมาหลายแห่ง หลายครั้งเผชิญกับคำปฏิเสธเพราะเธอเป็นผู้พิการ
“บางบริษัทพอเราแจ้งว่าเรานั่งวีลแชร์เขาก็ปฏิเสธการรับเข้าทำงาน ‘ขอโทษนะคะ ตึกเราไม่สะดวก’ ‘บริษัทเรายังไม่เคยมีผู้พิการ เราไม่รู้ว่าต้องดูแลอย่างไร’ เราก็รู้สึกแย่นะ เราไม่ได้ถูกปฏิเสธเพราะความสามารถไม่พอ แต่เป็นเพราะการออกแบบตึกไม่รองรับผู้พิการ”
ชมพูนุทเริ่มทำงานในฝ่ายบุคคล ต่อมาเธอเลือกย้ายการทำงานมาในสายการตลาดจึงต้องมาหางานทำอีกครั้ง เมื่อต้องกลับมาสู่วังวนการหางานทำเธอก็ต้องเผชิญคำปฏิเสธเพราะความพิการอีก
“พอเป็นตำแหน่งมาร์เก็ตติงที่ต้องออกหน้างาน ต้องไปเจอคน บางบริษัทก็ปฏิเสธเพราะกลัวเสียภาพลักษณ์บริษัท หรือไม่ก็คิดแทนเราไปก่อนเลยว่าทําไม่ได้หรอก มันยากสําหรับเธอ เขาไม่ได้มานั่งคุยกับเราว่าที่จริงเราทำได้หรือเปล่า”
ราวสองปีที่แล้วชมพูนุทสมัครงานไปที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งโดยไม่ได้ระบุในเรซูเม่ว่าเป็นผู้พิการ หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ทางออนไลน์ซึ่งมีการเปิดกล้องพูดคุยกันทางบริษัทก็ตอบตกลงรับเธอเข้าทำงาน ขณะนั้นชมพูนุทอยู่ต่างจังหวัด เธอจึงต้องย้ายมากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมทำงาน แต่เมื่อถึงวันนัดเซ็นสัญญาทำงานเธอกลับเจอเรื่องที่ไม่ได้คาดไว้มาก่อน
“พอไปเซ็นสัญญา คนที่บริษัทเขาเห็นเรานั่งวีลแชร์แล้วทำหน้าไม่โอเคกับเราเลย เขาบอกว่ายังไม่ต้องเซ็นสัญญา ให้ไปเปิดบัญชีธนาคารก่อน พอไปธนาคาร พนักงานธนาคารก็ทักว่า ‘ที่บริษัทรู้หรือยังเนี่ยว่าเป็นอย่างนี้’ วันนั้นเรารู้สึกแย่มาก เราผิดเหรอที่นั่งวีลแชร์ มีใครถามบ้างว่าเราทำงานได้หรือเปล่า แล้ววันต่อมาทางบริษัทก็โทรมาบอกว่า เขาไปคุยกันแล้วว่ายังไม่สะดวกรับเราเข้าทำงานนะ
“หลังจากเหตุการณ์นั้นเราก็ใส่ในเรซูเม่เลยว่าเป็นผู้พิการใช้วีลแชร์ แล้วพอสมัครงานก็มีคนติดต่อกลับมาน้อยมากๆ โอกาสติดต่อกลับแทบจะ 0.01% แต่ตัดปัญหาสุขภาพจิตให้ไม่ต้องเสียเวลาเจอคำพูดที่ไม่ดี ส่วนบริษัทที่ติดต่อมาก็คือเขาเปิดกว้างกับผู้พิการจริงๆ”
ส่วนบริษัทที่ชมพูนุทเคยทำงานที่ผ่านมาโดยมากเป็นบริษัทต่างชาติที่เปิดกว้างและไม่มองว่าความพิการเป็นอุปสรรค รวมถึงเจอเพื่อนร่วมงานที่เปิดใจ
“ที่ผ่านมาเราเจอเพื่อนร่วมงานที่น่ารักมาก เข้าไปทํางานวันแรกก็ถามเลยว่าเขาต้องทําอย่างไรบ้าง เขาไม่เคยมีคนที่นั่งวีลแชร์มาทํางานด้วยเลย แต่เขายินดีที่จะเรียนรู้ไปกับเรา แล้วพอเขาใช้ชีวิตร่วมกับเราก็เริ่มเห็นว่าปัญหาทางเท้าเมืองไทยแย่มาก การออกแบบเมืองที่ไม่เอื้อทำให้คนพิการใช้ชีวิตยากจนเหมือนจะดูแลตัวเองไม่ได้หรือทำงานไม่ได้”
ปัญหาหนึ่งที่ชมพูนุทและผู้พิการจำนวนมากเจอจากการไปสมัครงานคือได้รับข้อเสนอว่าบริษัทจะนำชื่อไปใส่ในโควตาจ้างผู้พิการ เพื่อบริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์ โดยจะจ่ายเงินให้หลักพันแต่ไม่ต้องการให้ไปทำงานจริง
“มีคุณป้าคนหนึ่งเป็นเบาหวานจนเดินไม่ได้ แล้วมีบริษัทขอชื่อเขาไปใส่ในโควตาจ้างงานคนพิการแต่ไม่ให้เงินสักบาท สุดท้ายคุณป้าต้องมานั่งขอเงินตามทางเท้า ถูกปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
“สำหรับเราเอง พอเจอข้อเสนอแบบนี้ก็เคยมีแวบคิดนะว่าจะเรียนมายากทําไม เราเรียนจบปริญญาตรี อยากทำงานด้วยความสามารถและดูแลตัวเองได้ ไม่อยากเป็นภาระคนอื่น แต่ก็ถูกลดคุณค่าด้วยการเสนอว่าคุณเอาเงินไป 9,000 บาทพอนะ เป็นคนพิการจะเอาอะไรนักหนา
“สำหรับผู้พิการด้อยโอกาส เช่น ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้ การได้เงินรูปแบบนี้ก็ช่วยเขาได้มาก แต่สำหรับคนที่เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและสามารถทำงานได้จริงอย่างเรา พอเจอข้อเสนอที่บอกจะให้เงินแล้วต้องอยู่บ้านเฉยๆ มันกลายเป็นวิธีคิดที่ทำให้ผู้พิการดูแย่ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ‘เป็นคนพิการก็ไม่ต้องออกจากบ้านสิ’ หรือมองว่าคนพิการไม่สามารถดูแลตัวเองได้ มองว่าเราเป็นประชากรชั้นสองไป”
เธอมองว่าสภาพเช่นนี้บั่นทอนความพยายามเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นของผู้พิการ เพราะต่อให้เรียนสูงหรือสามารถทำงานได้เหมือนคนอื่นก็ยังถูกเสนอเงินเท่าค่าแรงขั้นต่ำให้
“เราห่วงเด็กพิการรุ่นหลัง สิ่งที่เป็นอยู่อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าไม่ต้องให้ลูกเรียนเยอะก็ได้ เรียนไปก็ไม่มีโอกาสอยู่ดี เราโชคดีที่ครอบครัวพยายามสนับสนุนให้ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เราจึงมีโอกาสได้เรียน แต่มีหลายครอบครัวที่คิดว่าลูกตัวเองเป็นคนพิการที่ดูแลตัวเองไม่ได้จึงไม่ให้เรียน แต่ไม่ได้คิดว่าวันที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้วลูกจะอยู่อย่างไร แล้วก็จะเป็นปัญหาสังคมต่อไป” ชมพูนุทกล่าว
แค่ได้จ้าง แต่ไปไม่ถึง ‘งานที่มีคุณค่า’

ในมุมมองของ นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ ThisAble.me สื่อที่ทำงานสื่อสารประเด็นคนพิการ เธอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้พิการว่า ด้วยสถานการณ์ที่มีผู้พิการเรียนจบมหาวิทยาลัยน้อย ทำให้ไม่มีการแนะนำอย่างเป็นระบบว่าควรไปสมัครงานที่ไหน หรืองานประเภทใดบ้างที่เหมาะกับผู้พิการ
“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็ไม่มีใครเป็นคนพิการ มหาวิทยาลัยก็ไม่มีการแนะแนวว่าต้องไปสมัครงานอย่างไร สามารถสมัครงานในตําแหน่งเดียวกับคนทั่วไปได้ไหม เพราะบางคนเรียนสาขานี้มาแต่ตลาดการทำงานอาจไม่ได้ต้องการคนพิการเลยก็ได้
“การหางานของคนพิการมีความลักลั่น เราจะไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่ไม่ได้เขียนว่ารับคนพิการนั้นเราสามารถสมัครได้ไหม แล้วตอนที่เรียนจบปริญญาตรีเราก็คาดหวังเงินเดือน 15,000-18,000 บาท แต่เงินเดือนของตำแหน่งที่ระบุว่ารับคนพิการก็จะให้แค่ 7,000-9,000 บาท ส่วนมากเป็นพวกงานธุรการที่อาจคาดหวังวุฒิแค่ ม.6 งานที่มองหาคนพิการในวุฒิปริญญาตรีนั้นหายากมาก”
แม้นลัทพรจะไม่ได้ใช้เวลาหางานนานนักหลังเรียนจบ แต่สภาพที่เจอก็ชวนให้เธอตั้งคำถามว่าทำไมผู้พิการอย่างเธอสมควรได้เงินน้อยกว่าเพื่อนคนอื่นที่เรียนจบพร้อมกัน
“เราเคยเอาโปรไฟล์ไปฝากกับเว็บไซต์ขององค์กรหนึ่งที่เป็นตัวกลางจับคู่งานให้คนพิการกับนายจ้าง เราก็ระบุเงินเดือนตามเรตปริญญาตรีที่เรียนจบมา ปรากฏว่ามีคนโทรมาสอบถามต้องการจ้างงาน แต่พอคุยเรื่องเงินเดือนเขาบอกว่า ‘ถ้าเรียกเท่านี้ไม่มีใครจ้างหรอก’ คือเขาสามารถจ้างคนพิการได้ด้วยเงิน 9,000 บาท ทำไมจะต้องจ้างเรา 15,000 บาทล่ะ ตอนนั้นเราตั้งคำถามกับตัวเองนะว่าเราเรียนจบเหมือนกับเพื่อน แต่พอเป็นคนพิการจึงต้องได้เงินน้อยกว่าเหรอ ทั้งที่เรายังไม่ได้พิสูจน์ด้วยซ้ำว่าทำงานได้ไหม” นลัทพรกล่าว
เธอเห็นด้วยว่ากฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีขึ้นเพื่อผลักดันการจ้างงานผู้พิการ ซึ่งอาจเขียนขึ้นจากมุมมองว่าผู้พิการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษา จึงระบุไว้เพียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แต่ปัจจุบันผู้พิการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนทางออนไลน์ แต่กฎหมายนี้ก็ยังไม่ถูกปรับให้คุ้มครองผู้พิการมากขึ้น
“ไม่ว่าเราจะเรียนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอก แต่ด้วยกฎหมายนี้ก็ทำให้เรายังถูกเสนอเงินค่าแรงขั้นต่ำอยู่ เราเคยคุยกับอาจารย์ในโรงเรียนผู้พิการหลายแห่ง เขามีข้อค้นพบว่าเด็กรู้สึกไม่อยากเรียนแล้ว เพราะเรียนสูงจบมาทำงานก็ได้เงินเท่าคนจบ ม.3 โรงเรียนเผชิญปัญหามากว่าเด็กไม่เห็นความจำเป็นของการเรียน
“มันย้อนแย้งนะ กฎหมายการจ้างงานคนพิการควรทำให้คนพิการเข้าถึงการจ้างงานที่เหมาะสมและเป็นธรรมในเชิงรายได้”
นอกจากนี้คืออัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน นลัทพรมองว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยเกินไป แต่เพียงแค่หนึ่งคนนายจ้างก็เลือกที่จะจ่ายเงินเฉยๆ แล้วไม่ให้ผู้พิการไปทำงานแล้ว
“บางบริษัทเขาไม่รู้จริงๆ ว่าจะให้คนพิการไปทำงานอะไร เช่นไซต์ก่อสร้าง เขาก็เลือกที่จะจ่ายนิดหน่อย สักเดือนละ 3,000 บาท ขอชื่อคนพิการมาขึ้นทะเบียนแล้วให้นอนอยู่บ้าน แต่ภาครัฐก็จะบอกว่าตรวจไม่พบปัญหานี้
“หลายบริษัทเพียงแค่ต้องทําตามกฎหมาย จ้างคนพิการให้ครบโควตา แต่หน้างานจริงเขาไม่ได้ต้องการ ไม่รู้จะจ้างคนพิการไปทำอะไร บางคนก็ให้ไปนั่งเฉยๆ มันไม่ใช่งานที่มีคุณค่า ไม่ยั่งยืน ไม่ทำให้คนพิการมีความมั่นคงในชีวิตได้ แล้วถ้าวันหนึ่งบริษัทเลย์ออฟคนเหลือ 99 คน ผู้พิการก็ต้องถูกเลิกจ้างไปด้วยใช่ไหม”
นลัทพรยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่รุนแรงกว่าคือมาตรา 35[3] ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่เปิดช่องว่าถ้าไม่จ้างผู้พิการทำงานประจำก็สามารถ ‘ให้สัมปทาน’ หรือ ‘จ้างเหมาบริการ’ ได้ เช่นการจัดพื้นที่ขายลอตเตอรี่ในห้างให้ผู้พิการ
นลัทพรมองว่าเจตนาของมาตรา 35 ที่เปิดให้จ้างเหมาบริการนั้นเพื่อให้นายจ้างทดลองให้ผู้พิการทำงานโดยจ่ายค่าจ้างรายวัน หากเห็นว่าทำงานได้ดีก็สามารถจ้างประจำตามมาตรา 33 ได้ แต่ปัญหาคือคนที่ถูกจ้างเหมารายวันตามมาตรา 35 แล้วแทบไม่เคยได้ขยับเป็นลูกจ้างประจำเลย
“พอนายจ้างสามารถจ้างเหมารายวันคนพิการได้ก็ไม่ต้องมีสวัสดิการ ไม่ต้องจ่ายประกันสังคม ปัจจุบันจึงมีแนวโน้มการจ้างงานในมาตรา 35 มากขึ้น การจ้างงานลักษณะนี้ควรเป็นการจ้างทำของหรือจ้างฟรีแลนซ์ ไม่มีเวลาเข้าออกงาน แต่สถานการณ์จริงคือมีคนจ้างคนพิการตามมาตรา 35 เพื่อให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่มีการกำหนดชั่วโมงทำงานและมีการหักเงินถ้าขอลาหยุด เราคิดว่าแบบนี้น่าจะผิดกฎหมาย เพราะลักษณะงานเป็นงานประจำ”
แม้ผู้พิการจำนวนมากจะถูกเอาเปรียบ แต่มีน้อยคนที่จะกล้าส่งเสียง “คนพิการรู้สึกว่ามีงานทำก็ดีแล้ว การรวมตัวเรียกร้องเป็นไปได้ยากมาก หลายคนทำงานแบบไม่มีสัญญาจ้างงานด้วยซ้ำ ปัญหาคือนายจ้างนิยมมาจ้างตามมาตรา 35 มากขึ้น ไม่รู้ว่าทำไมเป็นอย่างนี้” นลัทพรตั้งคำถาม
‘มาตรา 35’ เจตนาดีแต่เปิดช่องให้คนพิการถูกเอาเปรียบ

“พวกนักกฎหมายนี่แหละที่ให้คำแนะนำนายจ้างว่ามีช่องว่างกฎหมายให้จ้างเหมาตามมาตรา 35 ได้ นายจ้างก็ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิการทำงานหรือสวัสดิการอะไร แค่กฎหมายบอกว่าต้องจ้างคนพิการ”
ปราโมทย์ ชื่นขำ ทนายความและผู้พิการทางสายตาสะท้อนสิ่งที่เขาพบในแวดวงกฎหมาย ปราโมทย์เคยทำงานฝ่ายกฎหมายที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยทำให้เขาพบว่าการจ้างงานตามมาตรา 35 เป็นปัญหาสำคัญของผู้พิการจนถึงปัจจุบัน
เขาอธิบายว่า ‘สัญญาจ้างเหมาบริการ’ เป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะกับผู้พิการเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในงานบางประเภทด้วย เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย
“หัวสัญญาบอกว่าเป็นจ้างเหมาบริการ ซึ่งคือการจ้างทำของ แต่เนื้อหาคือสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีการใช้อํานาจบังคับบัญชาว่าคุณต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการทํางาน ปลายปีมีการประเมิน ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ต่อสัญญา โดยให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน บางแห่งให้เข้างานเป็นกะ บางบริษัทให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์เลิกงานสี่ทุ่ม ถ้าเป็นสัญญาจ้างงานปกติต้องมีโอทีและประกันสังคม การจ้างตามมาตรา 35 ทำให้นายจ้างไม่ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง”
ปราโมทย์บอกว่าอีกปัญหาที่พบคือการได้รับเงินเดือนล่าช้า ซึ่งเป็นปัญหาเชิงการจัดการ เพราะเมื่อนายจ้างว่าจ้างผู้พิการแล้วต้องแจ้งกรมการจัดหางาน เพื่อจะไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนคนพิการ แต่ระหว่างนั้นต้องรอทางราชการยืนยันว่าไม่ได้ลงทะเบียนซ้ำ ช่วงเวลา 3-4 เดือนนั้นนายจ้างก็จะยังไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้พิการซึ่งสร้างความเดือดร้อนมาก เวลาเกิดปัญหาแบบนี้ผู้พิการก็ไม่กล้าฟ้องเพราะกลัวถูกเลิกสัญญา
“ชีวิตคนพิการลำบากอยู่แล้ว แค่ส่งเงินสมทบประกันสังคมหรือให้มีกองทุนสํารองเลี้ยงชีพเพื่อให้เขามีเงินเก็บ ทำไมนายจ้างจึงไม่ทำ บางบริษัทโปรโมตด้วยนะว่าเรามีโครงการซีเอสอาร์ให้โอกาสคนพิการทำงาน แต่ถามว่าคุณภาพชีวิตการทำงานคนพิการเป็นอย่างไร
“การใช้สัญญาจ้างเหมาบริการแต่ไส้ในเป็นสัญญาจ้างแรงงานแบบนี้ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน เขาจ้างคุณมารับโทรศัพท์ก็รับโทรศัพท์อยู่อย่างนั้น ไม่มีการพัฒนา ในระยะยาวมันคือการจ้างงานอย่างไม่ยั่งยืน”
ปราโมทย์เห็นด้วยกับนลัทพรถึงเจตนาที่ดีของกฎหมายมาตรา 35 ที่อาจต้องการให้นายจ้างลองให้ผู้พิการทำงานก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนรับเข้าทำงานประจำ หรืออีกเหตุผลหนึ่งคือมีกิจการบางประเภทที่ไม่เหมาะให้ผู้พิการทำงานจริงๆ เช่นงานในพื้นที่ปฏิบัติการของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงเปิดช่องเรื่องการให้สัมปทานพื้นที่ขายลอตเตอรี่หรือจ้างเหมาบริการ แต่สุดท้ายกฎหมายนี้กลับเป็นช่องโหว่ให้นายจ้างเอาเปรียบผู้พิการ
เขามองว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเพิ่มเรื่องการคุ้มครองแรงงานคนพิการ แต่เห็นความเป็นไปได้น้อย เพราะนายจ้างย่อมไม่ยอมให้เกิดขึ้น
“อีกทางหนึ่งผมคิดว่าต้องไปแก้ที่มาตรา 35 (พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ต้องระบุว่าการจ้างเหมาบริการห้ามยัดไส้การจ้างแรงงาน นอกจากนี้อาจเพิ่มเงื่อนไขว่าสามารถจ้างตามมาตรา 35 ได้ไม่เกินสามปี หลังจากนั้นต้องบรรจุเป็นพนักงาน เพราะช่วงเวลานั้นควรรู้แล้วว่าคนพิการคนนั้นทำงานได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็บอกเลิกสัญญาไป”
สภาพการจ้างงานที่ไม่ยั่งยืนเช่นนี้ส่งผลต่อแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองของผู้พิการ “จะเรียนไปทําไมถ้าจบแล้วมีเส้นทางให้แค่เป็นหมอนวดหรือคนขายสลากกินแบ่ง แล้วบ้านเมืองเราสวัสดิการการศึกษาก็ยังเข้าถึงได้ไม่เต็มที่ คนพิการที่บ้านมีฐานะก็อาจส่งเรียนถึงปริญญาตรีได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินเรียน โดยเฉพาะถ้าเรียนจบปริญญาตรีแล้วไม่ได้ค่าตอบแทนที่สมควรกับวุฒิการศึกษา เขาจะเรียนเพื่ออะไรล่ะ”
ปราโมทย์ชวนคิดถึงภาพคนพิการที่ต้องร้องเพลงแลกเงินตามที่สาธารณะซึ่งจำนวนมากเป็นผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้สนับสนุนผู้พิการอย่างเต็มที่ แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีแต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ครอบคลุม ยังไม่นับรวมถึงความยากลำบากในการเข้าถึงสื่อความรู้ต่างๆ เพื่อให้เรียนทันคนอื่น เช่นที่ปราโมทย์บอกว่าตอนที่เขาเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีผู้พิการเรียนรุ่นเดียวกันหกคน แต่มีเพียงเขาที่เรียนจนจบได้
ทัศนคติเปลี่ยนได้ถ้า ‘กฎหมาย-โครงสร้างพื้นฐาน’ เอื้อ
ส่วนความหวังถึงการแก้ไขกฎหมาย ในความเห็นของปราโมทย์เขายังเห็นว่าเป็นเรื่องยาก เพราะการแก้กฎหมายขึ้นอยู่กับดุลอำนาจระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นผู้พิการ หรือกระทั่งในหมู่ผู้พิการเอง คนจำนวนมากก็ไม่อยากเรียกร้องอะไรเพราะต่อให้ได้เงินเดือนน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีงานทำเลย
ด้านชมพูนุทมองเห็นว่า ทัศนคติของคนจำนวนมากในสังคมยังมองว่าผู้พิการคือคนไร้ความสามารถหรือคนน่าสงสารอยู่ ซึ่งสะท้อนมาถึงทัศนคติในการจ้างงานผู้พิการ
“อยากให้มองว่าความต่างที่คุณเห็นเป็นเพียงเรื่องกายภาพ สำหรับผู้พิการที่ได้รับการศึกษาก็อยากให้มองกันด้วยความสามารถมากกว่า นอกจากนี้เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหรือประเทศควรแก้ไขให้เหมาะกับคนที่มีความแตกต่างกันด้วย บ้านเมืองเราสามารถโอบรับความหลากหลายและเท่าเทียมกันได้มากกว่านี้” ชมพูนุทกล่าว
ชมพูนุทยังฝากถึงผู้พิการที่กำลังเรียนหรือหางานทำอยู่ว่าไม่อยากให้หมดกำลังใจ ยังมีอาชีพอีกมากที่สามารถให้ค่าตอบแทนแก่ผู้พิการอย่างสมควรแก่ความสามารถได้ ไม่อยากให้ปัญหาที่เกิดขึ้นบั่นทอนจิตใจ
“อย่าพยายามยัดเยียดตัวเองไปอยู่ในบริษัทที่เขาไม่ต้องการ ในวันหนึ่งเราจะเจองานที่เหมาะกับตัวเอง แต่ต้องอดใจรอ สักวันหนึ่งมันจะมีที่ที่เป็นของเรา” ชมพูนุทบอก
ส่วนนลัทพรแนะนำว่าในต่างประเทศแก้ไขปัญหาทัศนคติของนายจ้างด้วยการจัดอบรมให้ผู้พิการมีทักษะเพิ่ม เช่น ทักษะคอมพิวเตอร์ ชงชา ทำกาแฟ หรือกระทั่งมีนโยบายว่าภาครัฐเป็นคนจ้างผู้พิการให้ไปทำงานตามบริษัท เมื่อทางเอกชนเห็นแล้วว่าผู้พิการทำงานได้จริงก็มีโอกาสจ้างงานต่อเอง
“โดยพื้นฐานคนไทยมีน้ำใจ แต่พอเป็นเรื่องการจ้างงาน เจ้าของกิจการอาจไม่อยากเสี่ยง อยากจ้างคนที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด คนพิการจึงไม่ถูกเลือก เราเข้าใจว่าทำไมคนไทยจำนวนมากมองว่าคนพิการไม่มีความสามารถ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเราที่ไม่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิต จะออกจากบ้านก็ลำบาก จะใช้ขนส่งสาธารณะก็ไม่สะดวก ใครเห็นก็คิดว่าต้องช่วย ต้องยกวีลแชร์ให้ ก็ไม่แปลกที่คนจะคิดว่าคนพิการน่าสงสาร พ่วงด้วยความรู้สึกว่าเป็นภาระ
“ถ้าคนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ สามารถตัดสินใจเรื่องชีวิตตัวเองได้ วันนั้นทัศนคติเรื่องคนพิการของคนในสังคมคงเปลี่ยนไปและจะส่งผลต่อเรื่องการจ้างงานด้วย ถ้าคนเห็นว่าคนพิการไปเรียนเองได้ ออกไปไหนมาไหนได้ แล้วทําไมเขาจะทํางานไม่ได้ล่ะ
“เวลาคุณจ้างคนทั่วไปก็มีทั้งที่ทํางานได้และไม่ได้ ไม่อยากให้เหมารวมถ้าคุณจ้างคนพิการคนหนึ่งแล้วไม่ดี อยากให้คิดว่าเขาเป็นคนคนหนึ่งที่มีอัตลักษณ์ความพิการเพิ่มเข้ามา ไม่ได้ทําให้ความเป็นคนหรือความสามารถของเขาหายไป มันอาจมีบางเรื่องที่เราทำไม่ได้ อย่างการหยิบของบนชั้นที่สูงมากๆ แต่ทุกคนก็มีเรื่องอื่นที่ทำไม่ได้เหมือนกัน อยากให้เปิดใจ”
นลัทพรปิดท้ายว่าการจ้างงานผู้พิการสามารถจ้างตามช่องทางปกติเหมือนการจ้างผู้ไม่พิการได้ ถ้ามีผู้พิการมาสมัครแล้วมีคุณสมบัติตรงกับคนที่นายจ้างมองหา ไม่จำเป็นต้องรอให้บริษัทมีคนครบ 100 คนแล้วจึงจ้างผู้พิการเพราะกฎหมายบังคับ
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world
[1]เป็นการจ้างงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 จำนวน 10,837 คน และมาตรา 35 จำนวน 2,127 คน
[2]มาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทํางานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกําหนดจํานวนที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทํางาน
โดยกฎกระทรวงแรงงานกำหนดให้เจ้าของสถานประกอบการหรือหน่วยงานรัฐที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องรับผู้พิการในอัตราส่วน 100:1
[3]มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทํางานตามมาตรา 33 หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทํางานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนดในระเบียบ