กว่าจะค้นหาเด็กที่ขาดโอกาสขาดทุนทรัพย์สักคนให้ได้เรียนหนังสือต่อในโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนใครหลายคนคิด การเสาะหาเด็กๆสักคนต้องใช้เวลาสังเคราะห์ข้อมูล และลงพื้นที่ไปสำรวจชีวิตเด็กเหล่านั้นเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์การรับทุนหรือไม่ จะไม่บรรลุเป้าหมายเลยถ้าหากไร้ฟันเฟืองสำคัญอย่างครูที่ช่วยเข้าไปคัดกรองเด็ก ๆ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษานี้
ชีวิตจริงไม่ต้องอิงนิยาย เมื่อคณะครูวิทยาลัยเทคนิคลำพูน ขับรถโฟร์วิลลุยป่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วย กินนอนกางเต็นท์อย่างสมบุกสมบันตลอดระยะเวลาเดินทางลงไปในพื้นที่จังหวัดลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงใหม่ ระหว่างทางมีเรื่องราวตื่นเต้นพาให้หวาดเสียวและเสี่ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลายิ่งกว่าเที่ยวสวนสนุก
อาจารย์ชยพล ภวินตระกูล ครู คศ.1 แผนกโลหะ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน เล่าแชร์ประสบการณ์ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า การไปคัดกรองเยี่ยมเยียนเด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และกำลังจะเรียนต่อในระดับ ปวส.1 เด็กกลุ่มนี้กำลังจะได้รับทุนนวัตกรรมชั้นสูงของกสศ. ที่เข้ามาช่วยต่อโอกาสชีวิตให้กับเด็กยากไร้อย่างแท้จริง ซึ่งกว่าจะเข้าไปหาเด็กสักคนได้ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
การเดินทางส่วนใหญ่ที่เข้าไปหาเด็กแม้บางครั้งระยะทางเพียงแค่ 50-100 กิโลเมตร กลับใช้เวลาอยู่บนรถนานหลายชั่วโมง เนื่องจากอยู่ในเส้นทางทุรกันดารถนนหนทางขรุขระปราศจากถนนคอนกรีตดีๆมีเพียงแค่ดินลูกรัง หนองน้ำ ขับรถต้องไต่ขึ้นลงตามสันเขา ยิ่งถ้าหากช่วงใดฝนตกต้องหยุดเข้าพื้นที่ทันทีเกรงเกิดอันตรายตกเขาลงเหว บางวันต้องเผชิญกับหมอกควันระหว่างทาง ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต้องหยุดพักไป 2-3 วัน
อาจารย์ชยพล เผยด้วยว่า อย่างการเข้าพื้นที่ในตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเป็นจุดห่างไกลลำบากมากที่สุดและติดชายแดนไทย-พม่า เส้นทางบางช่วงขึ้นเขาสูงชันและคดเคี้ยว หากไม่ระมัดระวังเสี่ยงถึงชีวิตได้เลย กว่าจะเข้าไปถึงจุดหมายต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เมื่อไปถึงจุดหมายต้องตกใจกับสภาพความเป็นอยู่เพราะบ้านของเด็กๆ ทรุดโทรมหนักเกินกว่าจะบรรยาย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่มี รถยนต์ ไฟฟ้า น้ำประปา แทบไม่ต้องพูดถึงบ้านบางหลังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วยซ้ำ
“ดีใจเราเห็นรอยยิ้มของเด็กๆทุกคน มองดูแล้วทุกคนมีความหวังว่าจะได้เรียนต่อ ถ้าหากเราไม่ลงพื้นที่และไม่มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกสศ.ให้ เด็กจะไม่มีโอกาสไม่มีทุนได้เรียนแน่นอน เด็กหลายคนต้องอาศัยอยู่กับคนอื่น ไร้พ่อแม่ดูแล เงินใช้จ่ายไม่มี แต่ละครอบครัวจนมากๆการใช้ชีวิตเหมือนคนป่าเลย หากไม่มีทุนนี้เข้ามาเด็กๆต้องเรียนจบอยู่แค่ ม.6 เท่านั้น” อาจารย์ชยพล สะท้อนชีวิตเด็ก
อาจารย์ชยพล ยังบอกว่า ไม่คิดว่าจะมีเด็กยากจนแบบนี้อยู่ ส่วนตัวคิดว่าในพื้นที่ภาคเหนือยังมีเด็กยากจนและมากกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทยอีกมาก ตอนนี้เราทราบว่ายังมีเด็กยากจนอีกหลายคนแต่ยังเข้าไปไม่ถึงครอบครัวเด็ก ด้วยระยะทางการเข้าถึงค่อนข้างลำบากนั่นคืออีกปัจจัยสำคัญ
เช่นเดียวกับ อาจารย์ดุจดวงตา สุดใจ ครู คศ.1 แผนกโลจิสติกส์ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน บอกเล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ว่า เริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. การเดินทางหวาดเสียวตลอดบางจุดทางขึ้นลงชันกว่า 45 องศา การควบคุมรถจึงค่อนข้างยากทำให้ทรงตัวลำบาก ครูบางท่านถึงกับหัวปูดโนผลจากแรงกระแทกและแรงเหวี่ยงของรถ ถ้ารถที่ใช้ไม่ดีรับรองมีปัญหาแน่นอน สิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่มี แถมบางจุดยังไร้สัญญาณติดต่อสื่อสาร
“เตรียมอุปกรณ์แคมป์ปิ้งภาคสนามมาทั้งหมด บางวันกลับเข้าเมืองไม่ทันต้องกางเต็นท์นอนอยู่บ้านเด็กๆแทน ส่วนอาหารการกินเราพกเตาแก๊ส หม้อ กระทะ จาน ช้อนมา ทำอาหารกินกันเองส่วนใหญ่เน้นเมนูไข่เจียวและมาม่าเป็นหลัก แม้ชาวบ้านนำอาหารมาแบ่งปันแต่กินไม่ค่อยได้ เพราะบ้างเมนูไม่คุ้นเคย” อาจารย์ดุงดวงตา บอกเล่าชีวิตระหว่างเยี่ยมพบปะเด็ก
อาจารย์ดุจดวงตา เสริมอีกว่า ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่ในรถ หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน บางวันครูลงพื้นที่ด้วยกันป่วยไปหลายคน แต่ครูทุกคนไม่เคยย่อท้อ ได้เห็นรอยยิ้มเด็ก ๆ ก็หายเหนื่อย