เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วันแล้วนะคะ สำหรับโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ปีการศึกษา 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงลงพื้นที่ค้นหาเยาวชนเพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับ ปวช. ปวส. อนุปริญญา และหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี
กสศ. ชวนอาจารย์จากสถาบันการศึกษาสายอาชีพในโครงการ มาเล่าให้ฟังถึงการทำงานเชิงรุกเพื่อ ‘ค้นหานักศึกษา’ ที่พวกเราร่วมกันสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษามาแล้วหลายรุ่น จนเกิดเป็นนวัตกรรมทุนการศึกษา และแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีเครือข่ายสถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ ผู้บริหาร ตลอดจนศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน ไปจนถึงครูแนะแนว อสม. ท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ฯลฯทุกฝ่ายล้วนมีบทบาทในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาอันถือเป็น ‘หัวใจ’ ของการค้นพบ ‘เยาวชน’ ที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสยุติวงจรความยากจนให้สิ้นสุดลงในรุ่นของตนเอง
กสศ. เชิญชวนทุกท่านช่วยกัน ‘ส่งต่อข่าวดี’ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ โดยส่งข้อมูลเยาวชนที่ตรงคุณสมบัติให้กับสถานศึกษาในโครงการ ฯ ของเราประจำปีการศึกษา 2566 หรือส่งต่อเรื่องราวมาที่ content@eef.or.th ตั้งแต่วันนี้ ถึง 17 มี.ค. 2566
เช็กคุณสมบัติรับทุนที่ : คลิก
ต้องจัดระบบฐานข้อมูลภายในให้พร้อม มีแฟ้มข้อมูลเด็กรายคน
รศ.ดร.ศิริพันธ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ทางสถาบันใช้วิธีลงพื้นที่ Road show แจกแผ่นพับโฆษณา และกระจายเสียงผ่านวิทยุและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้รับข่าวสาร นอกจากนี้ยังใช้เครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่และขอความช่วยเหลือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และเครือข่ายครูแนะแนว ที่มีข้อมูลของเด็กในมือมากที่สุด
“สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดระบบฐานข้อมูลภายในให้พร้อม มีแฟ้มข้อมูลเด็กรายคนไม่ปะปนกับหลักสูตรอื่น และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงโดยตรง ส่วนหลังจากได้เด็กที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกมาแล้วจะให้ทุกคนเข้าค่ายวัดแวว สำรวจแผนการศึกษาและเส้นทางอาชีพที่ตั้งใจไว้ ก่อนสัมภาษณ์รายคนเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะได้คนที่ใช่และมีใจอยากเรียนจริง ๆ
“คณะทำงานที่มีมาจาก อปท. และ อสม.ชุมชน คือคนที่ช่วยเราได้ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย และเหมือนเป็นผู้ช่วยคัดกรองศักยภาพ และบริบทชีวิตของเด็กให้เป็นด่านแรก
“ส่วนการลงพื้นที่จะทำให้เราเข้าใจชีวิตของเด็ก ๆ สำหรับนราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีประชากรยากจนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ฉะนั้นการที่เราลงไปพบเห็นวิถีชีวิตของเด็กและครอบครัวเขาจริง ๆ ก็ยิ่งทำให้สามารถวางแผนช่วยเหลือเด็กได้ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงให้ทุนการศึกษา
“จากประสบการณ์สามารถบอกได้ว่า เด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทุน คือคนที่แม้เราคุยด้วยไม่นาน แต่จะสัมผัสได้ทันทีว่าเขาอยากเรียน อยากมีงานดี ๆ ทำ และเขาจะแสดงความเชื่อมั่นมาก ๆ ว่าการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนสถานะครอบครัวได้” รศ.ดร.ศิริพันธ์ บอกกับเรา
‘ความเข้าใจ’ สำคัญที่สุด
อาจารย์นัฏยา ลิ้มไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรและพัฒนากิจการนักศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานค้นหานักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง บุคลากรทุกฝ่ายในสถาบันต้องมีความเข้าใจไปในทางเดียวกัน มีส่วนร่วม และสนับสนุนกัน
“การประสานไปยังหน่วยงานที่มีข้อมูลครัวเรือนยากจนในจังหวัด เช่น พม. คือกุญแจสำคัญที่ทำให้พบกลุ่มเป้าหมาย เครือข่ายหน่วยงานถือว่าจำเป็นมาก สถาบันต้องเข้าไปให้ได้ อย่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะมีรายชื่อนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมศึกษา มีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความยากจนด้อยโอกาสและศักยภาพของเด็ก ซึ่งพร้อมส่งต่อทันที
“สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา การทำงาน ‘เชิงรุก’ หมายความว่าท่านต้องลุกจากเก้าอี้ ลุกจากห้องทำงานที่ท่านนั่งอยู่แล้วออกไปลงพื้นที่พร้อมครู พร้อมคณะทำงาน ท่านต้องไปดูตามชุมชนหมู่บ้าน แล้วท่านจะพบเด็กที่ตรงตามคุณสมบัติของทุน
“หรือการใช้สื่อ เราต้องไม่ยึดอยู่แค่สื่อเดิม ๆ คือ facebook หรือ website เดี๋ยวนี้ต้องมีช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่าน tiktok ทำ content ให้น่าสนใจ รวมถึงใช้ศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันที่มีคนติดตามเยอะ ๆ มาช่วยสื่อสารด้วย
“แนวทางหนึ่งที่ทางสถาบันใช้ได้ผลมาตลอด คือให้ครูและนักศึกษาทุนกลับไปบ้านในช่วงปิดภาคเรียน หรือเรียกว่า ‘นกน้อยคืนถิ่น’ แล้วให้นำเอาข่าวสารไปช่วยกระจายในภูมิลำเนาบ้านเกิด ซึ่งเขาจะไปชวนเพื่อน ๆ ชวนรุ่นน้อง ชวนเด็ก ๆ ที่ตรงคุณสมบัติมาได้ในทุก ๆ ปี” อาจารย์นัฏยา บอกแบบนี้
รับช่วงต่อจาก ‘โรงเรียน’
ดร.ทิวากร เหล่าลือชา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเริ่มงานจากการจัดประชุมแจ้งวัตถุประสงค์โครงการไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้ได้รายชื่อนักศึกษาทุนจากบันทึกข้อมูลพื้นฐานนักเรียนยากจน
“ข้อมูลนี้เองที่เรานำมาใช้ทำงานเชิงรุก เข้าถึงเด็กถูกคน แต่ยังมีอีกเครื่องมือหนึ่ง คืองานวิจัยเกี่ยวกับครัวเรือนยากจน โดย อบต. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จัดทำขึ้นเพื่อเป็นโมเดลจังหวัดในการควบคุมการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น งานวิจัยนี้เราแบ่งความยากจนออกตามบริบท คือ จนภูเขา จนพื้นราบ จนเมือง และจนในชุมชน ซึ่งทำให้การแบ่งทีมค้นหาทำได้รวดเร็ว เหมาะสมกับบริบท”
“การทำงานบนฐานข้อมูลงานวิจัยของจังหวัด ทำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ รู้ตำแหน่งของกลุ่มเป้าหมาย แล้วเรามีอาจารย์ที่รับหน้าที่ดูแลเรื่องข้อมูลโดยตรง สามารถตรวจสอบ ลงพื้นที่ซ้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลเด็กละเอียดที่สุด เห็นภาพกว้างได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นี่คือการทำงานบนฐานงานวิจัย มีเครื่องมือนวัตกรรมมาช่วย สำคัญคือต้องมีข้อมูลที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ในทันที” ดร.ทิวากร กล่าวทิ้งท้าย
ผศ.ดร.รินรดี ปาปะใน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ทีมหนุนเสริมสนับสนุนวิชาการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง) กล่าวว่า งานหนุนเสริมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2563-2565 คือการลงพื้นที่ร่วมกับสถานศึกษาเพื่อค้นหานักศึกษาทุน ฯ ทำให้ได้สัมผัสถึงความหลากหลายแตกต่าง เกิดคำแนะนำเฉพาะที่เฉพาะกาล ซึ่งจำแนกไปตามบริบท
“สถานศึกษาที่ลงพื้นที่ค้นหาเด็ก ต้องยึดถือหลักความโปร่งใส ถูกต้อง ชัดเจน ยุติธรรม พร้อมด้วยกระบวนการคัดเลือกที่ทดสอบทั้งความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ จิตวิทยา และลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน เพื่อยืนยันความมั่นใจว่าได้พบนักศึกษาทุนที่เหมาะสม
“อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือร่วมใจคือสิ่งที่จะทำให้ทุกสถานศึกษาไปถึงเป้าหมาย ไม่ว่าความร่วมมือภายในสถาบันหรือความร่วมมือในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังหมายถึงความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาในจังหวัดเดียวกันหรือภูมิภาคเดียวกัน การวางแผนงานลงพื้นที่สำรวจ สร้างพันธมิตรในการดูแลส่งต่อเด็กระหว่างกัน ท้ายที่สุด ทุนจะได้ส่งไปถึงคนที่สมควรได้รับ และผู้รับทุนเองก็จะมีทางเลือกในการเรียนสาขาวิชาที่สนใจและถนัดจริง ๆ”
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : ‘ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต’ ชวนคุณครูและทุกท่าน ร่วมเป็นพลังเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยการ ‘ส่งต่อข่าวดี’ มอบโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’