สร้างภาพลักษณ์ใหม่นักเรียนชายขอบเติมโอกาสการศึกษา

สร้างภาพลักษณ์ใหม่นักเรียนชายขอบเติมโอกาสการศึกษา

ด้วยสภาพพื้นที่ชายขอบนักเรียน​โรงเรียนตชด.บ้านแพรกตะคร้อ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นักเรียนส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กชนเผ่าเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังพบว่านักเรียนอีกหลายคนต้องขาดเรียนไปช่วยผู้ปกครองทำงานทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร บางคนจึงยังไม่สามารถอ่านภาษาไทยหรือเขียนภาษาไทยได้อย่างเด็กคนอื่น จึงนำมาสู่แนวทางการรีบเร่งแก้ไขปัญหาด้วยเป้าหมายอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ครูสุชาติ ราศรี ครูโรงเรียน ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ อธิบายว่า ทางโรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 271 คน ได้รับทุนจากโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 143 คน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นค่ากินอยู่และบางคนก็จะใช้ซื้อเครื่องแบบนักเรียนเพิ่มจากที่ได้รับจากทางโรงเรียน

นอกจากนี้ บางส่วนยังใช้เป็นค่ารถเพราะนักเรียนที่นี่มีทั้งบ้านพักอยู่ใกล้โรงเรียน ​4-5 กิโลเมตร บางส่วนห่างจากโรงเรียน 18 กิโลเมตร ต้องจ้างรถรับจ้างเพื่อรับส่งประมาณ 30 คน ค่ารถเดือนละ 500 บาท เงินที่ได้ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ปกครองในค่ารถส่วนนี้ได้ โดยก่อนจะมอบทุนการศึกษานี้ทางโรงเรียนได้เชิญผู้ปกครองมาประชุมหลักเกณฑ์การใช้เงินถึงสามรอบเพื่อทำความเข้าใจและการใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ครูสุชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับทุนในส่วนที่ทางโรงเรียนได้รับสนับสนุนจาก กสศ. ซึ่งให้เน้นไปในเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนอาชีพ เรียนรู้กระบวนการทำงานจริงเพื่อต่อยอดหลังจบการศึกษาได้ โดยทางโรงเรียนจะแบ่งไปใช้ใน 4 กิจกรรมหลักสำคัญ คือ
1.อาหารเช้า
2.ผลิตภัณฑ์แปรรูปพืชผลเกษตร ที่จะแปรรูปผักผลไม้ในพื้นที่เพื่อนำมาเป็นอาหารกลางวันให้เด็ก
3.กิจกรรมทอผ้า
4.โครงการช่วยให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้

“จากที่เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชนเผ่า เมื่อมาเรียนไม่ต่อเนื่องหลายคนก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรากอยากให้เด็กเขาอ่านให้ออกเขียนให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงทำเป็นโครงการให้ครูสอนพิเศษรายชั่วโมงเพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จบการศึกษาไปสามารถเรียนต่อสูงขึ้น”ครูสุชาติระบุ

ครูสุชาติ เล่าให้ฟังอีกว่า โรงเรียนตชด.บ้านแพรกตะคร้ออยู่ไกลจากตัวเมืองหัวหินกว่า 75 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอปราณบุรีถึง 50 กิโลเมตร ถนนที่ใช้สำหรับเดินทางมาถึงโรงเรียนในช่วงระยะ 14 กิโลเมตรสุดท้าย ยังเป็นถนนลูกรัง ที่สำคัญโรงเรียนยังต้องใช้ระบบไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซล จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กเพื่อคัดกรอง​ บ้านเด็กนักเรียนที่นี่ต้องใช้โซลาร์โฮม บางบ้านก็ยังไม่มี บ้านบางหลังไม่มีฝาผนัง ที่ผ่านมาเคยขอความช่วยเหลือจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้มาช่วยสร้าง 2 รุ่น 20 หลังคาเรือน

อย่างไรก็ตาม ครูสุชาติ ย้ำอย่างหนักแน่นว่า สำหรับเงินทุนเสมอภาคที่เด็กนักเรียนได้รับไป ทำให้เด็กนักเรียนทุกคนไม่ต้องหยุดเรียนไปช่วยงานผู้ปกครอง สังเกตได้ชัดเจนโดยจะเห็นว่าหลังจากที่นักเรียนได้รับทุนนักเรียนเริ่มมาเรียนกันมากขึ้น นั่นคือสัญญาณแนวโน้มที่ดีว่าเด็กจะมาโรงเรียนและไม่ต้องลำบากเหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้รับทุนการศึกษาจากกสศ.