เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่อาคารเดอะ พอร์ทอล ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” โดยมีผู้นำนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 และผู้บริหาร ครู อาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 36 แห่ง เข้าร่วมกว่า 300 คน ภายในงานมีกิจกรรม Youth Talk ตัวตน ความฝัน ความหวังและอนาคต โดยตัวแทนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 โดยมี นายนภัทร อินทร์ใจเอื้อ หรือ ‘กัน เดอะสตาร์’ ได้ร้องเพลง “ชีวิตลิขิตเอง” ให้กำลังใจนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงด้วย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน” ว่า การเรียนสายอาชีพนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง ประเทศชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ล้วนให้ความสำคัญกับคุณภาพแรงงานในระดับสายอาชีพชั้นสูง โดยถือเป็นกำลังแรงงานกลุ่มสำคัญที่ทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่นๆ โครงการ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น
ดร.ประสาร กล่าวว่า สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีรูปแบบการทำงานที่เป็นนวัตกรรมกับสถานประกอบการและมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี มีโครงการความร่วมมือการจัดการศึกษาระดับ ปวส. สาขาระบบขนส่งราง สาขาบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและสาขาเทคนิคเครื่องกลในระบบขนส่งทางราง ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาทางรถไฟหลิ่วโจว (Liuzhou Railway Vocational Technical College) ประเทศจีน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 พัฒนาประเทศและพื้นที่ EEC ด้านคมนาคมขนส่งระบบราง นักเรียนที่เรียนจบได้วุฒิการศึกษา 2 ใบจากทั้งไทยและจีน ถือเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษามีประสบการณ์อย่างรอบด้าน นอกจากความร่วมมือกับต่างประเทศแล้วหลายสถานศึกษายังมีความร่วมมือทวิภาคีกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน ซึ่งจากงานวิจัยระดับนานาชาติ พบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพ การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการและภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะที่ทำให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่ง
“คาดว่าโครงการนี้จะมีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง ช่วยแก้ปัญหาแรงงานได้ตรงจุด รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยหากนักเรียนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจำนวน 2,053 ทุน ในปีแรก ออกไปสู่ตลาดแรงงาน ข้อสมมติฐานที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ เมื่อพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี พวกเขาจะสามารถสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 10” ดร.ประสาร กล่าว
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า ตามสถิติพบว่าแต่ละปีเด็กประมาณ 7 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 แสนคนมีฐานะยากลำบากและมีเพียง 5,000 คนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ.ต้องการเข้ามาลดช่องว่างจุดนี้เกิดเป็นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เรียนต่อในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรกและได้คัดเลือกผู้รับทุนรุ่น 1 เรียบร้อยแล้ว โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมโครงการ 36 สถาบัน 26 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้รับทุน 2,053 คน
“แบ่งเป็น ผู้รับทุนในประเภทประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่อง ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา (ทุน 5 ปี) จำนวน 922 ทุน และประเภท ปวส./อนุปริญญา (ทุน 2 ปี) จำนวน 1,131 ทุน เข้าศึกษาต่อใน 30 สาขาวิชาขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประเทศ โดยสาขาวิชาวิชาที่มีจำนวนผู้รับทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขาเครื่องกล จำนวน 286 ทุน สาขาเกษตรศาสตร์ จำนวน 220 ทุน สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม จำนวน 200 ทุน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 163 ทุน และสาขาไฟฟ้า จำนวน 161 ทุน” นพ.สุภกร กล่าว
นพ.สุภกร กล่าวว่า นักศึกษาผู้รับทุนทุกคนมาจากครอบครัวยากลำบาก ซึ่งเราก็พบว่านอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาอื่นๆแฝงมาด้วย จุดนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเรียน ซึ่ง กสศ.มีเป้าหมายให้ทุกคนจบการศึกษาและทำงานเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น การดูแลเมื่อเข้ามาในสถาบันจะต้องมีอาจารย์ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ด้วย กสศ.ก็จะมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำหน้าที่ในการติดตามดูแลนักศึกษาทุนจนจบการศึกษาด้วย ส่วนการเตรียมความพร้อมคัดเลือกนักศึกษาทุน รุ่นที่ 2 นั้น ก็อยู่ระหว่างการเริ่มเตรียมการ แต่ กสศ.ยังมีความห่วงใยในเรื่องของงบประมาณ เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งอาจจะทำให้การอนุมัติงบประมาณล่าช้า จึงกังวลว่าอาจจะกระทบต่อการเชิญชวนเด็กมาร่วมโครงการ
นางสาว กัลยาภรศ์ เตาวะโต ชั้น ปวส.1 สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยชุมชนสตูล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 กล่าวว่า ตนมีชีวิตที่ลำบาก ไม่มีพ่อแม่ที่คอยดูแลไม่ได้รับความอบอุ่นอย่างคนอื่นๆ ฐานะทางบ้านยากจน เป็นพี่คนโตในบ้าน ที่ต้องดูแลน้องๆ อีก 3 ชีวิต น้องคนแรกอายุ 15 ปี คนที่ 2 อายุ 4 ขวบ คนที่ 3 อายุเพียง 2 ขวบ ไม่มีเสาหลักที่พึ่งพิงได้ แต่มีความฝันเหมือนกับคนอื่นๆ รักงานบริการที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส สอบติดมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ภาระที่บ้านมากมายที่ต้องรับผิดชอบ นอนร้องไห้คนเดียวทุกคืน จนได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. จึงตัดสินใจสมัครโดยที่ไม่ลังเล เพราะนี่คือโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับอนุปริญญา และจะได้ทำตามความฝันของตัวเองให้เป็นจริงเพื่อจะดูแลทุกคนในครอบครัวได้
“ขอให้รัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี ลุงตู่ สนับสนุนทุนนี้ให้แก่รุ่นน้อง ๆ หนูทุกปี ท่านอย่าทิ้งพวกเรานะคะ ยังมีเด็กด้อยโอกาสอีกมาก ที่มีความฝัน อยากมีงานที่ดีทำ แต่ความยากจนเป็นอุปสรรค ไม่ได้เรียนต่อ ต้องมีชีวิตอยู่กับความยากจนไม่มีจบสิ้น มันทุกข์มากนะคะ คนที่มีฝันแต่ทำให้เป็นจริงไม่ได้ ส่วนหนูได้โอกาสในชีวิตแบบนี้แล้ว จะทำความฝันให้เป็นจริง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องต่อไปค่ะ” นส.กัลยาภรศ์ กล่าว
#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง #อาชีวศึกษา#ตลาดแรงงาน