ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่เคยมุ่งเน้นให้เด็กท่องจำความรู้ในตำรา เริ่มไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมตลอดจนการประกอบอาชีพในอนาคต กระบวนการ คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และ การทำงานร่วมกับคนถือเป็นทักษะจำเป็นที่ต้องปลูกฝังในปัจจุบัน คล้ายกับที่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ริเริ่มสร้างเครื่องมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ซึ่งปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายในโครงการมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ไม่เพียงแค่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งใน 70 ประเทศภาคีเครือข่าย แต่จากที่ได้นำระบบการเรียนการสอนของ OECD มาประยุกต์ใช้ ยังทำให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนดีขึ้น จนเด็กจากโรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา จ.ชลบุรี สามารถทำการทดสอบวัดผลได้คะแนนสูงกว่านัยยะสำคัญ จนต่างชาติต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้
ครูน้อย – สมพร วิชัยประเสริฐ ครูชำนาญการพิเศษ สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ม. 2 เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า ได้เริ่มไปอบรมกับทาง OECD ช่วง ปี 2559 เพื่อนำเทคนิคและรูปแบบการสอนมาสอนนักเรียน โดยรูปแบบของ OECD จะให้ความสำคัญกับเรื่องการลงมือปฏิบัติ มากกว่าการเรียนในเนื้อหา โดยให้ทำเป็นกิจกรรม อย่างการเรียนเรื่องสารละลาย หรือ การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกก็จะไม่ใช่การเน้นท่องจำ แต่ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยการทำเป็นกิจกรรมให้เด็กทำภูเขาไฟจำลอง เพื่อให้รู้จักการทำงานการวางแผนซึ่งจะสอดแทรกความรู้เข้าไป
“เริ่มตั้งแต่เราจะให้เด็กวางแผนว่าจะทำภูเขาไฟยังไง วัสดุที่จะนำมาทำคืออะไร ให้เขาคิดเอง เราเป็นแค่คนให้คำแนะนำ เขาก็จะต้องไปแบ่งหน้าที่รับผิดชอบภายในกลุ่ม คนนี้เอากาวมา คนนี้เอากระดาษมา เราก็แค่เตรียมของให้เขา ดังนั้นผลงานที่ออกมาก็จะมีหลากหลายบางกลุ่มเป็นเปเปอร์มาร์เช่ บางกลุ่มเป็นดินน้ำมันเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้ว แล้วเราก็เอา STEM (แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ) มาใช้อย่างปริมาตรของสารว่าจะใช้ขวดแบรนด์ หรือขวดยาคูลท์ ก็จะต้องต้องหาปริมาตรของขวดก่อนทดลองปฏิกิริยาทางเคมีที่บางกลุ่มก็ใช้ผงฟู อีโน น้ำอัดลม” สมพรระบุ
ครูสมพร กล่าวว่า อีกส่วนที่สำคัญคือเรื่องของการค้นคว้าซึ่งจะเป็นพื้นฐานต่อไปเราก็จะสอนให้เขาค้นหาข้อมูลใช้ไอแพดจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ว่าภูเขาไฟเกิดได้อย่างไร และจะทำการจำลองออกมาอย่างไร ซึ่งต้องให้เด็กคิดเองว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ สอนอย่างนี้ครูจะต้องเหนื่อยกว่าสอนปกติ ต้องกระตุ้นให้เด็กคิด ต้องคอยตัดสินหาข้อสรุปเวลาเด็กคิดต่างกันถกเถียงกันด้วย
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรของ OECD นี้เริ่มนำร่องในชั้น ม.2 เริ่มจากวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อย่างของวิชาคณิตศาสตร์ก็จะมีวิธีการสอนที่เน้นปฏิบัติเช่นลงไปวัดความสูงของเสาธงให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ โดยจะแทรกเข้าไปอยู่ในหลักสูตรปกติ มีกิจกรรมที่ดึงดูดให้เด็กไม่เบื่อ ให้สนใจการเรียน และกิจกรรมเหล่านั้นก็จะสอดแทรกความรู้ไปในตัวเด็กก็จะสนุกและได้รับความรู้ไปพร้อมกัน เด็กบางคนจบม.2 ขึ้น ม.3 ก็อยากให้ใช้การเรียนแบบนี้ในชั้นม.3 ต่อไปอีก
สำหรับรูปแบบการให้คะแนนตามกระบวนการของ OECD จะใช้รูปแบบการประเมินตัวเอง และ ประเมินกลุ่ม ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญที่ทำให้เด็กได้รู้จักการประเมินตัวเอง และรู้จักปรับปรุงตัวเอง คือ พอทำกิจกรรมเสร็จก็จะให้เขาประเมินตัวเองเป็นแบบใยแมงมุมให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ 5-4-3-2-1 ในหัวข้อที่กำหนดคือ ความรับผิดชอบ ความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ให้เด็กเลือกกันเองว่าจะประเมินหัวข้อใดบ้าง
“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเราจะเห็นเด็กกล้าแสดงออก เวลาเขาพรีเซนต์งานของตัวเอง เขาจะมีความกล้าขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะเขาวางแผน แก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาด้วยตัวเอง สิ่งที่สำคัญมองเห็นตัวเอง และยอมรับคนอื่นด้วย เพราะการวัดผลเป็นแบบรูบิคส์ (แนวทางการวัดผลตัวเองและผู้อื่น) ไม่ใช่การวัดแบบแนวข้อสอบ ซึ่งจะมีประเด็นอื่นทั้งเรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม ความเสียสละ ความสามัคคี ซึ่งเด็กเราปกติไม่เก่งมากเป็นเด็กปานกลาง ค่อนมาทางน้อย การได้คะแนนตรงนี้ไปช่วยทำให้คะแนนเขาดีขึ้น” ครูสมพรกล่าวก่อนจะอธิบายต่อ
หลักการทำงานไม่ใช่คนมีความรู้อย่างเดียวที่จะประสบความสำเร็จ ต้องมีเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบที่เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่สามารถสอนแบบนี้ได้ทั้งหมดทุกเนื้อหา เพราะยังมีหลักสูตรปกติที่เป็นหลัก ตรงนี้เป็นแค่กิจกรรมเสริมซึ่งดูว่าเรื่องไหนจะเสริมเข้าไปได้ เช่นเรื่อง “แรง” อธิบายไปก็ไม่เห็นภาพ ทำพาวเวอร์พอยต์ก็ไม่เห็นภาพ เราก็ทำกิจกรรมให้เด็กออกแบบรถหาวัสดุง่ายๆ มาทำบางคนทำเป็นรูปเครื่องบิน บางคนทำเป็นรูปรถสปอร์ต เขาก็จะได้ทั้งความรู้ ความสนุก
ส่วนเรื่องที่นักเรียนได้คะแนนการทดสอบเกินค่านัยยะสำคัญของ OECD นั้น ก็ตอบยากว่าเป็นเพราะอะไรเราก็สอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่สอนในตำราอย่างเดียว ให้เขารู้จักค้นคว้าด้วยตัวเอง ตอนเด็กทำการทดสอบก็จะเป็นเหมือนข้อสอบที่ไม่ใช่ข้อสอบ เช่นเขาก็จะถามว่าทำไมคนชราจึงเชื่องช้ากว่าวัยกลางคน ให้บรรยายเด็กเขาก็จะเขียนไปเยอะเลยว่า มีอายุมาก มีโรคภัย บางเรื่องไม่คิดว่าจะเขียนก็เขียนมา อย่างเรื่องกระดูกคนแก่เสื่อมสภาพ เขามองอะไรลึกขึ้น มีความตั้งใจมากขึ้น
“เราภูมิใจกับเด็กของเราว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราอยากให้เด็กของเราได้ในสิ่งที่ดี ซึ่งกิจกรรมนี้ครูต้องพร้อม ต้องเตรียมตัว เตรียมสื่อ ต้องเหนื่อยกว่าเดิม ต้องทั้งกระตุ้น หว่านล้อม ใช้คำพูดที่เหมาะสม วัยรุ่นเขาไม่ชอบใช้ภาษาที่รุนแรงเราก็ต้องมีเทคนิค จะพูดยังไงให้เขาร่วมมือ เราต้องพูดภาษาเขา ไม่ใช่ครูโบราณที่คอยสั่งให้เขาทำนู่นทำนี่ เราต้องฟังความคิดเขาให้มาก“ ครูน้อยกล่าวทิ้งท้าย