องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประเทศฝรั่งเศส ได้ริเริ่มสร้างเครื่องมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ของครูทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 2 กระบวนการหลัก คือการวัดและประเมินคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายในโครงการมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ผศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวิทยบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยเครื่องมือเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ กล่าวว่า ทักษะที่สำคัญต่อการเป็นพลเมืองของสังคมโลกในอนาคต ซึ่งทุกสิ่งรอบตัวจะเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว คือทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skill) หรือความสามารถด้านสังคม เช่น การใช้ภาษา การสื่อสาร มนุษย์สัมพันธ์ ทัศนคติที่ดี และการแสดงออกทางสังคม เป็นต้น โดยทักษะเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตและเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของตลาดแรงงานโลกในศตวรรษที่ 21
“ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา OECD องค์การซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงวงการศึกษาของโลก ได้สร้างเครื่องมือวัดตัวหนึ่งคือ PISA (Programme for International Student Assessment) เพื่อประเมินระบบการศึกษาทั่วโลกผ่านการทดสอบทักษะและความรู้ความสามารถของนักเรียนวัย 15 ปี โดยมี 3 วิชาคือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทักษะการอ่าน ซึ่งใช้วัดและประเมินคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศต่างๆ” ผศ.ดร.ธันยวิชกล่าว
ขณะที่โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยกระแสของความเปลี่ยนแปลง OECD จึงมีแนวคิดพัฒนาเครื่องมือวัดตัวใหม่ที่คล้าย PISA แต่มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาทักษะมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะการคิด วิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ จากนั้นได้เชิญนักการศึกษาทั่วโลกเข้าร่วมระดมความคิดเพื่อร่วมพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ได้ออกแบบเครื่องมืออีกตัวหนึ่งคู่ขนานไปด้วย คือเครื่องมือในการเสริมสร้าง อันเป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการสำหรับใช้ในห้องเรียน เป็นแพลทฟอร์มที่มีทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่จะช่วยครูผู้สอนในการกระตุ้น ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมในห้องเรียน”
ผศ. ดร ธันยวิช อธิบายต่อว่า สำหรับโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมกับ OECD มาตั้งแต่เริ่มโครงการ ในฐานะหน่วยงานด้านพัฒนาการศึกษาที่ร่วมงานกันมายาวนาน
โดยในจุดเริ่มต้นเรามีเพียงเครื่องมือส่งเสริมทักษะแต่ยังไม่มีแบบวัด การร่วมงานกับ OECD ทำให้เราสามารถทำสองกระบวนการคู่ขนานกันไป คือมีทั้งเครื่องมือวัดผล และเสริมสร้างทักษะ ซึ่งเป็นทั้งงานวิจัยและโครงการพัฒนา มีการหาปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มีการนำสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง จัดทำระบบที่เป็นไปตามเส้นทางงานวิจัยและพัฒนาที่ OECD ได้ออกแบบเอาไว้
“ในปีแรกเรามีโรงเรียนต้นแบบคละสังกัดคละประเภทโรงเรียน แบ่งสัดส่วนที่เหมาะสมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหลังจากนำเครื่องมือมาใช้จริงคือ เราพบผลความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมีนัยยะสำคัญกับโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง ที่คะแนนเชิงพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงโดดเด่นที่สุดกว่าในบรรดาประเทศต่างๆ ที่ใช้เครื่องมือวัดและเสริมสร้างตัวเดียวกัน” ผศ. ดร. ธันยวิช กล่าว พร้อมอธิบายต่อไปว่า
ความน่าสนใจคือ โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่นักเรียนส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการเข้าถึงการเรียนรู้ เป็นเด็กต่างด้าวหรือกลุ่มที่ต้องย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครองบ่อย ๆ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสในการศึกษาต่อน้อย และมีเปอร์เซ็นต์หลุดจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา โดยเมื่อมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนแล้วปรากฏว่าคะแนนของโรงเรียนนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทาง OECD จึงนำทีมงานเข้ามาสังเกตการณ์ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าการออกแบบการสอนเพื่อพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้ที่เด็กได้ลงมือกระทำและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตน (Active Learning) สามารถสร้างความรักความผูกพันระหว่างเด็ก ระหว่างนักเรียนกับครู รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง อันนำไปสู่ผลการเรียนโดยรวมที่ดีขึ้น
ผศ. ดร. ธันยวิช กล่าวว่า โครงการของ OECD ทำให้เกิดการเรียนการสอนที่นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้โดยมีครูเป็นผู้วางรูปแบบ เด็กจะได้มุ่งเน้นพัฒนาทักษะเชิงสังคม ได้สร้างบทเรียนด้วยตนเองที่เชื่อมโยงกับทักษะวิชาชีพที่ตนสนใจ ได้ลงมือปฏิบัติจริง เหล่านี้ล้วนเสริมสร้างให้ฐานรากการคิด วิเคราะห์ และพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์หยั่งลึกในตัวเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถออกแบบวิธีการจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง และมีทักษะรอบด้านในการใช้ชีวิตในสังคม
“ขณะที่การวัดและประเมินผลตามสภาพจริงที่ไม่ได้วัดผลและใช้วิธีสอบด้วยมาตรฐานเพียงแบบเดียว แต่มีเครื่องมือให้ครูใช้ในการทดสอบสิ่งที่ผู้เรียนได้จากประสบการณ์จริง จะทำให้ครูอยู่ในฐานะที่ปรึกษา เป็นเหมือนโค้ชซึ่งสามารถสังเกตการณ์และช่วยพัฒนาทักษะผู้เรียนได้เป็นรายบุคคล เครื่องมือนี้ยังช่วยให้ครูเก็บข้อมูลเด็กได้อย่างเป็นระบบซึ่งสามารถนำมาขยายผลจากห้องเรียนไปสู่สังคมและเครือข่ายการเรียนรู้ระดับนานาชาติได้อีกด้วย” ผศ. ดร. ธันยวิช ระบุ
ทั้งนี้ แบบวัดและเสริมสร้างทักษะของ OECD ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันมีผลตอบรับจากครูผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ออกมาว่า ด้วยการสอนที่เน้นพัฒนาทักษะและให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก สามารถสื่อสารวิธีคิดและตอบคำถามได้ดีขึ้น โดยเฉพาะพัฒนาการด้านการวิเคราะห์ ตั้งข้อสงสัย การสังเกตกระบวนการทำงาน และทักษะการทำงานเป็นทีมที่ส่งผลให้การเรียนรู้ในภาพรวมพัฒนาขึ้น
ผศ. ดร. ธันยวิช อธิบายต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย โครงการของ OECD อยู่ในช่วงขยายผล เรามีโรงเรียนคละขนาดและประเภทเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีก 400 โรงเรียน ซึ่งเราได้ดึงครูที่เข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น จนมีความเข้าใจและใช้เครื่องมือได้คล่องแคล่วมาเป็นครูพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่เพิ่งนำเครื่องมือไปใช้ ด้วยวิธีการนี้ทำให้ครูเก่ายิ่งมีความรู้ที่แน่นขึ้น ขณะเดียวกันครูจากโรงเรียนใหม่ ๆ ในโครงการก็สามารถนำประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้การขยายผลเป็นไปได้เร็วขึ้น
“สิ่งสำคัญคือการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ 3 ปีของโครงการตั้งแต่ปี 2559-2561 จนได้เป็นหลักสูตรในการพัฒนาครูซึ่งจะนำออกมาใช้ในการสร้างโรดแมปในโอกาสต่อไป”
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นการสร้างพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู เริ่มจากพื้นที่ที่เล็กที่สุดคือห้องเรียน แล้วเมื่อขยายไปสู่ในระดับชาติได้ บทบาทของครูก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทุกอย่าง ก็จะเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เป็นโค้ชที่จะช่วยเหลือผู้เรียนให้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ และการเรียนรู้แบบ Active Learning นี้ จะสร้างพลเมืองโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับโลก รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของวงการศึกษา นั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้ในโรงเรียนทุกระดับ