กระบวนการติดตามเด็กนอกระบบกำลังขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดของประเทศไทย ในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อค้นหาช่วยเหลือสนับสนุนในด้านต่างๆ และเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ห้องเรียนตามช่วงวัยที่เหมาะสม นั่นจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ สู่การเป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศต่อไป
ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายกับการควานหาเด็กแต่ละคน อีกทั้งยังต้องลงไปพูดคุยถึงปัญหารายบุคคลที่มีรายละเอียดปลีกย่อย รวมทั้งต้องประสานงานด้านความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ท้องถิ่น อบต. อบจ. จังหวัด มูลินิธิต่างๆ ภาคประชาสังคม อาสาสมัคร ฯลฯ ในพื้นที่ในการทำภารกิจครั้งนี้จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ระบุว่า กระบวนการทำงานยากตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ทั้งกระบวนการพูดคุยให้คนที่ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงเข้ามาเป็นจิตอาสาติดตามเสาะหาเด็ก ต้องอาศัยคนที่มีใจทำงานเพราะแต่ละพื้นที่มีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และหลายคนก็อาจคิดว่าต่อให้เข้ามาในระบบการศึกษาแล้วต่อไปก็คงหลุดออกไปจากระบบอีกอยู่ดี
“มันจึงยากที่ต้องบิ้วท์อารมณ์คนทำให้เขาเห็นควาสำคัญของตรงนี้ก่อน เขาถึงจะคล้อยตามว่าสิ่งที่กำลังทำกับเยาวชนให้เขาสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา ตรงนี้มีความสำคัญ ยิ่งถ้าเขาได้ลงพื้นที่ได้เห็นเด็กก็จะสงสาร ถ้าช่วยได้แค่คนสองคนให้เขาได้โอกาสจากสังคมให้กลับมาในสังคม ต่อไปเขาก็จะเป็นกลายเป็นคนที่ช่วยเหลือสังคม” รุ่งกานต์กล่าว
ตัวอย่างเบื้องต้นในพื้นที่ จังหวัดยะลา ติดตามเด็กมาได้เบื้องต้นแล้ว 6 คน พบว่าใน 5 คนอยากกลับไปเรียนหนังสือต่อ แต่ติดปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจะต้องแบกรับ ซึ่งเราก็จะต้องไปหาทางช่วยเหลือให้ได้เรียน มีเด็กคนหนึ่ง อายุ 15 ปี ไม่เคยเรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่สนใจอยากเรียน อีกคนหนึ่งไม่อยากเรียนต่อเพราะอยากทำงานตรงนี้ก็จะต้องไปช่วยจัดอบรมวิชาชีพตามที่เขาต้องการ
รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ยากคือบริบทที่อยู่รอบตัวเด็ก เริ่มต้นเราจะต้องไปบิ้วท์ให้พ่อแม่เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษาก่อน อย่างการเสาะหาเด็กบางคนมีชื่อในทะเบียนบ้านแต่ตัวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เราก็ต้องไปสอบถามพ่อแม่ว่าเด็กไปอยู่ที่ไหน บางคนตัวไปอยู่นครศรีธรรมราช เขาก็โทรไปหาเมื่อเด็กบอกว่าอยากเรียนเราก็ต้องไปดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบราชการค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้ อย่างค่าครองชีพ เงินที่จะใช้ระหว่างการเรียน ค่าอาหารเช้า อาหารเย็น บางคนประสบปัญหาพ่อแม่ ป่วย ยากจน เด็กบางคนจิตใจดีไม่อยากสร้างภาระให้พ่อแม่ บางครอบครัวมีพี่น้อง 6 คน พี่คนโตอยากเรียน ถึงจะได้ทุนแต่ก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานเพราะไม่งั้นน้องก็ไม่มีอะไรกิน เราก็ต้องทำให้เขาเห็นความสำคัญของการเรียนและดึงเด็กกลับมาให้ได้
รุ่งกานต์ กล่าวว่า ช่วงวันที่ 21-22 ส.ค. มีการประชุมทีมงานสหวิชาชีพในพื้นที่เพื่อจะสร้างองค์ความรู้นำกระบวนการไปช่วยการคัดกรองเด็กว่าจะต้องมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง มีหมอเข้ามาร่วมด้วยในการสัมภาษณ์ติดตามเด็ก เพราะเจ้าหน้าที่บางคนเป็นครู ราชการ เอ็นจีโอ ท้องถิ่น ในพื้นที่ไม่ได้เรียนหมอ หรือจิตวิทยามาก็จะต้องมีการสอนการกลั่นกรอง การวิเคราะห์
สำหรับกระบวนการหลังจากค้นพบเด็กก็จะเป็นการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และนำไปสู่การแก้ไขช่วยเหลือ เช่น หากเด็กมีปัญหาสุขภาพก็จะมีหน่วยงานมาช่วยดูแล การศึกษาในพื้นที่ก็จะมีฝ่ายสนับสนุน หรือคนที่อยากฝึกอาชีพก็จะหาสถานที่จัดฝึกให้ ทั้งหมดเราจะต้องเจอตัวเด็กก่อน ไปดูสภาพบ้าน พูดคุยกับครอบครัวว่ายากจนเข้าเกณฑ์ที่กำหนดอย่างไร
รองปลัด อบจ.ยะลา ย้ำขั้นตอนทำงานว่า กระบวนการข้างต้นนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ งานตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องละเอียดอ่อนต้องใช้เวลา อย่างวันแรกที่เจอเด็กเขาก็ยังดูแข็งๆ มีการต่อต้าน แต่พอเจอครั้งที่สองเริ่มได้ชวนคุย ก็ดูสนิทกันมากขึ้น ทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลา