ครูราชทาน นิ่มนวล ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) นับเป็นหนึ่งใน 17 คนที่ได้รับรางวัลครูยิ่งคุณ ในปี 2562 จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเชิดชู “ครู” ที่เปรียบเสมือนแม่พิมพ์ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ ผู้สร้างคุณูปการต่อการศึกษา ที่สำคัญเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนครูด้วยกัน
จากผลงานการสอนที่พัฒนาหลักสูตรสาระเพิ่มเติม นอกจากหลักสูตรปกติโดยเน้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ทดลองแก้ปัญหาในรูปแบบโครงการวิทยาศาสตร์จนได้รับการพิจารณาว่าเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการศึกษาในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ทำหน้าที่ตรงนี้
“ผมใช้วิธีการสอนแบบโครงงานมากว่า 10 ปี คล้ายกับการทำวิทยานิพนธ์ให้เด็กมาเสนอชื่อ ซึ่งชื่อเรื่องนั้นจะต้องไม่ลอกใครมา มีการตรวจชื่อเรื่องทุกอันถามว่าเหนื่อยไหมถ้าสอนเป็นก็จะไม่เหนื่อย เราต้องสอนเรื่องที่เด็กเขาอยากรู้ เมื่อเขาสนใจ มีทัศนคติเชิงบวกกับเราก็ทำงานง่าย สิ้นปีการศึกษาก็จะให้เด็กจัดแสดงผลงานเป็นนิทรรศการยืนพรีเซนต์ประจำบอร์ด มีชิ้นงานที่ทำการทดลองกันมา” ครูราชทานกล่าว
อีกด้านหนึ่งตอนนี้ทางโรงเรียนได้ทำ MOU ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ซึ่งได้รับกล้องดูดาวมาทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีเด็กอนุบาล ป.1-ป.3 ตลอดจนเด็กพิเศษ ที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมดูดาวในช่วงเวลากลางคืนได้ หรือการจะพาเด็กไปทัศนศึกษาที่ท้องฟ้าจำลองก็ต้องใช้ครูจำนวนมากในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสเรียนรู้
จนนำมาสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ 3 ห้องจากฝีมือเด็กนักเรียน ห้องหนึ่งเป็นท้องฟ้าจำลอง ซึ่งเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ที่สร้างด้วยกระบวนการ STEM (แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง) ของนักเรียน เริ่มตั้งแต่ตัวโดม เครื่องฉาย ระบบเสียงเซอร์ราว ไฟบรรยากาศ ซึ่งนักเรียนจะเป็นนักวิจัยตัวน้อยช่วยกันหาวัสดุออกแบบเชิงวิศวกรรมว่าชิ้นไหนดีไม่ดีอย่างไร อีกสองห้องเป็นห้องนิทรรศการดาวเคราะห์และห้องนิทรรศการดาวฤกษ์ ที่เนื้อหาสามารถปรับเปลี่ยนได้
ครูราชทาน อธิบายเพิ่มเติมว่า สไตล์การสอนจะเน้นให้เด็กคิดเอง ไม่ใช่แค่หยิบยื่นอะไรให้เด็ก ซี่งครูจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก เมื่อเจอปัญหาก็จะต้องศึกษา ค้นคว้า ทดสอบอย่างไร ซึ่งเป็นการน้อมนำพระราชดำรัส ร.9 ที่ทรงสอนให้เบ็ดไม่ใช่ให้ปลา เราก็สอนวิธีการให้เขาไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง แต่เราไม่ได้บอกว่าท้ายที่สุดแล้วผลจะออกมาอย่าไง ซึ่งการสอนนอกจาก ระบบ STEM แล้วยังนำเรื่องของศิลปะเข้ามาประยุกต์เพิ่มเติม เป็น A-STEM อีกด้วย
“การออกแบบจะต้องมีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์ก็จะเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทดสอบ ทดลอง หาคำตอบ แม้ครูจะรู้คำตอบอยู่เต็มอกแต่ต้องไม่บอกเด็ก ถ้าเราทำแบบนี้ไม่ได้ก็จะไม่ม่ีนักวิจัย ไม่มีอินโนเวชั่น (innovation) ใหม่ๆ เกิดขึ้น แม้ตอนแรกจะเตรียมการสอนยาก แต่เมื่อทำได้ไปสักระยะจะรู้สึกสบาย สนุก ทุกวันนี้ผมสนุกกับการทำงาน ผมชอบเห็นเด็กที่นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงมากกว่าเห็นเด็กได้เกรดสี่สามสอง” ครูราชทานระบุ
ส่วนข้อดีของการให้เด็กคิดในระบบนี้คือเด็กจะทำในสิ่งที่ชอบที่ถนัด ถ้าเด็กไม่ชอบแล้วเราไปยัดในสิ่งที่เด็กไม่อยากได้มันก็ยาก ดังนั้นในแต่ละปีครูก็จะมีสิ่งแปลกใหม่ให้เรียนรู้ร่วมกันไปกับเด็ก อย่างก่อนหน้านี้ 7-8 ปีที่แล้วเด็กเคยคิดเครื่องไล่ยุงพลังงานแสงอาทิตย์ ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นมีเครื่องดังกล่าวขายใน LAZADA แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ต่อยอดในเชิงธุรกิจ หรือระบบโซลาร์เซลล์ไล่งู อุโมงค์โอโซน ที่ออกมาในช่วงไข้หวัด 2009 ระบาด กระจกเคลือบสีธรรมชาติที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า
กระบวนการคิดสิ่งเหล่านี้เด็กจะเสนอมาว่าอยากทำอะไร เช่น อยากทำโซลาร์เซลล์ เราก็ถามต่อไปว่าทำมาจากอะไร เด็กบอกทำมาจากซิลิกา เมื่อไม่มีโรงงานก็ไปค้นคว้าหาวิธีทำสิ่งที่ต้องใช้คือกระจกโปร่งแสงนำไฟฟ้าเราก็เจอทางตัน เพราะเราสร้างไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการอื่น ถึงจะทำไม่สำเร็จเราก็ต้องทำโครงการเพื่อให้รู้ว่าทำไม่สำเร็จเพราะอะไร สิ่งที่ได้ก็จะเป็นการคิดค้นไปพร้อมกับเด็ก เด็กบางคนจบไปแล้วก็ยังมาปรึกษาเรื่องโปรเจ็คท์ โครงงาน เพราะที่ปรึกษาเขาอาจให้คำตอบที่ไม่ตรงความต้องการของเขา เขาก็อยากคุยกับเรา
ครูราชทาน เล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่ใช่คนที่จบเรียนสายวิทย์จึงรู้ว่าวิทย์มันยาก เรารู้มาได้ทุกวันนี้จากการเรียนรู้ ต้องสอนให้ลูกศิษย์ของผมเรียนรู้สิ่งที่ยากๆ จากกระบวนการที่ผมรับรู้มา ต้องค้นคว้า ทุกวันนี้เราเรียนรู้ง่ายจากดร.กูเกิ้ล จากครูยูทูบ แต่เราต้องสอนเด็กว่าไม่ใช่หามาแล้วลิ้งค์แรกจะเป็นลิ้งค์ที่ถูกต้องเสมอไป เราต้องกลั่นกรองดูเครื่องหมาย ไลค์ อันไลค์ เพราะบางเว็บมีการหลอกเพื่อเรียกยอดไลก์
“จากที่มุ่งมั่นตั้งใจสอนหนังสือเด็กด้วยวิธีที่คิดว่าดีที่สุดกับเด็กทำให้มีความภาคภูมิใจ แต่ความภาคภูมิใจก็ตีค่าไม่ได้ มันรู้สึกอิ่มใจเหมือนน้ำตาจะไหลอยู่คนเดียว เมื่อเห็นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ มันตื้นตันเพราะเสียใจร้องไห้ แต่เป็นความภูมิใจที่เห็นว่าลูกเรามาได้ไกลขนาดนี้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เติมเต็มผมตลอด ที่ทำมาเหนื่อยตรงนี้ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้ผมทำงานอยู่ได้ และที่ได้รางวัลก็ภาคภูมิใจแต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือเห็นสิ่งที่เด็กๆ เขียนถึง เช่นบางคนอยากเป็นครูเหมือนผมมันทำให้รู้สึกตื้นตัน การศึกษาจะไปได้ไกลครูต้องมีจิตวิญญาณ แต่จิตวิญญาณสร้างไม่ได้ บอกต่อไม่ได้ ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง” ครูราชทานทิ้งท้าย