“หนูเคยติดยางอมแงม ใช้ยาหนักมาก เรียกว่าอยู่กับยาตลอดเวลา เพื่อนๆ น้องๆ
รอบตัวเราก็ใช้ยาเสพติดกันทุกคน ชีวิตวันๆ ก็เตร็ดเตร่อยู่ย่านนี้ นอนหอเพื่อนบ้าง บางทีหลับนอนอยู่แถวๆ
นี้ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย เราหนีจากบ้านมา มาเจอสภาพรอบตัวแบบนี้ ทุกคนเล่นยาเป็นเรื่องปกติ
เพื่อนชวนเราก็ลอง จนติด ติดแล้วก็ไม่อยากทำอะไร คิดแต่จะเสพต่อไปเรื่อยๆ”
ดาวหญิงสาววัย 21 ปี เล่าย้อนถึงเรื่องราวชีวิตเมื่อราว 3 ปีก่อน ครั้งที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง กินอยู่หลับนอนที่นี่ ปล่อยคืนวันให้วนเวียนผ่านไปกับการใช้ยาเสพติด ซึ่งเธอบอกว่าเมื่ออยู่ในฤทธิ์ยาแล้วก็ไม่ต้องคิดอะไร นอกจากพยายามหายามาเสพเพิ่ม ด้วยวิธีใดก็ได้
ดาว เล่าต่อไปว่า ตัวเองเป็นคนจังหวัดยะลา เรียนจบแค่ชั้น ป.6 วันหนึ่ง ดาวโกหกแม่เพื่อหาทางออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟมาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง มีเพื่อนมารับพาไปอยู่หอพักใกล้ๆ แล้วชีวิตก็หยุดอยู่ตรงนั้น แต่ละวันดำเนินซ้ำไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จนเริ่มย้อนคิดถึงครอบครัวที่อยู่ข้างหลังอีก 6 ชีวิต หลังพ่อเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็ก แม่ต้องทำงานรับจ้างทำสวนทำไร่แลกค่าแรงน้อยนิดเลี้ยงดูน้องอีก 3 คน กับหลานที่เป็นลูกของพี่สาวของดาวอีก 2 คน
ตอนนั้นเองที่เธอเริ่มคิดถึงการเลิกยา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ ดาวได้พบกับครูจากมูลนิธิสายเด็ก เดอะ ฮับ (the hub) ท่านหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้เธอนับถือเสมือนเป็น ‘แม่’ อีกคน นั่นเพราะความช่วยเหลือของครู ดาวจึงมีโอกาสได้กลับมาอยู่บนเส้นทางที่เธอรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยในชีวิตอีกครั้ง
“วันหนึ่งเราคิดถึงแม่คิดถึงน้อง ๆ ที่บ้าน คิดว่าแม่ต้องส่งน้องเรียนแล้วยังต้องรับภาระดูแลหลานด้วย
ตั้งแต่โตมาหนูก็เห็นแม่ดูแลลูก 5 คน ถึงวันนี้จะไม่ต้องเลี้ยงหนูกับพี่สาวแล้ว แต่ก็มีหลานมาเพิ่มอีก 2 คน ภาระก็ไม่ได้ลดลงไปเลย หนูก็มาคิดว่าเราเป็นลูกคนที่สอง โตแล้ว ชีวิตที่เป็นอยู่เล่นยาไปวันๆ มันก็เท่านั้น มีแต่ทรมานตัวเอง ยิ่งใช้ยาก็ยิ่งไม่กินข้าว ร่างกายก็ซูบผอม เพื่อนบางคนก็เป็นโรคเรื้องรังไม่หายเพราะใช้แต่ยาเสพติด ตอนนั้นเราตัดสินใจเลยว่าจะต้องทำงานส่งน้องๆ เรียนหนังสือ หาค่านมค่าแพมเพิสให้หลาน ช่วยแม่อีกแรงหนึ่ง”
ว่าไปแล้ว เหมือนเป็นโชคดีของหนูที่ในวันที่เราคิดว่าอยากเปลี่ยนตัวเอง เราได้เจอคนที่เขาให้โอกาสเรา มีครูจากมูลนิธิฯมาลงพื้นที่คุยกับพวกหนูที่หัวลำโพง หนูเลยตัดสินใจเล่าเรื่องของตัวเองให้เขาฟัง จากนั้นครูเขาก็ให้เราเข้าไปอยู่ที่มูลนิธิ ไปกินนอนอยู่ที่นั่น ช่วยงานด้านทำอาหารทำขนม เพราะเราพอมีความสามารถด้านนี้ ครูเขาช่วยให้เราเริ่มกลับมาดูแลตัวเอง หางานให้ทำ ส่งเสริมให้เรียน กศน. เพื่อให้ได้วุฒิ ม.3 จนตอนนี้เราพอตั้งหลักได้ มีเงินส่งเสียให้ทางบ้าน ได้ส่งน้องๆ เรียน แต่หนูก็ยังช่วยงานของมูลนิธิทุกครั้งที่มีโอกาส
“ครอบครัวหนูมีพื้นฐานด้านการทำอาหาร เราทำขนมได้ ทำเค้ก คุกกี้ ทำอาหารไทย สเต็กก็ทำได้ ครูเขาเห็นเราเก่งด้านนี้เขาเลยฝากงานให้เราทำร้านอาหาร ทำอยู่สองที่เป็นเชฟเลย ได้ทำอาหารอยู่หน้าเตาตลอด แต่งานร้านอาหารเป็นงานที่หนัก หนูต้องเข้างานหกโมงเช้าเลิกสี่ทุ่ม เดือนหนึ่งได้หยุดแค่สี่วัน หนูเคยทำงานหนักมากๆ จนวูบไปหน้าเตา ก็เอาเรื่องไปปรึกษาครู เขาก็แนะนำให้ลองเปลี่ยนไปทำงานสายอื่น”
ดาว เล่าต่อไปว่า ครูเขาฝากเราให้ทำงานปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง จนตอนนี้ได้ตำแหน่งเป็นแคชเชียร์อยู่ที่ปั๊มยี่ห้อหนึ่ง แถวสามย่าน ได้บรรจุแล้ว หนูตั้งใจทำงานมาก ตอนแรกมีหน้าที่เติมน้ำมันเราก็เติมไม่เคยพลาด ทางผู้จัดการเขาเห็นความตั้งใจเขาก็สนับสนุนเรา แล้วทางปั๊มเขามีทุนให้พนักงานได้เรียนต่อ เขาส่งเสริมด้านการศึกษา ตอนนี้เราก็มุ่งมั่นเรียน กศน. ให้ได้วุฒิ ม.3 ก่อน เราไปเรียนเต็มเวลาไม่ได้ มันไม่มีเวลาพัก เรียน กศน. เหมาะกับเรามากกว่า เราชอบทำงาน ภูมิใจที่ทุกวันนี้น้องสามคนได้เรียนหนังสือทุกคนด้วยเงินที่เราส่งไปให้
ดาวเป็นหนึ่งในเด็กเร่ร่อนต้นแบบที่หลุดพ้นจากชีวิตข้างถนนย่านหัวลำโพง ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและสามารถทำงานส่งเสียตัวเองและครอบครัวได้ ทุกวันนี้ ดาวยังเป็นจิตอาสา รับหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ ให้คำแนะนำ และปลูกฝังเด็กเร่ร่อนคนอื่นๆ ย่านหัวลำโพงให้มองเห็นข้อดีของการศึกษาหรือการฝึกทักษะอาชีพ เข้าไปสอนน้องๆ ในสถานพินิจ ชี้ให้เห็นพิษภัยของยาเสพติด ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่มเด็กเร่ร่อน
โดย ดาวบอกว่า เธอเป็นอดีตเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งที่โชคดีได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ขณะที่ยังมีเพื่อนๆ และน้องๆ อีกมากมายที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยสังคมรอบด้าน พวกเขาอยากมีที่พัก อยากได้อาหาร อยากได้เรียนหรือทำงาน แต่ไม่มีโอกาส
ทั้งหมดจึงนำไปสู่ความร่วมมือจาก 5 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน และสมาคมสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เกิดเป็นโครงการ Children in Street เพื่อค้นหาและวางมาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนบนท้องถนนในพื้นที่ กทม. ให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่
โดยมุ่งค้นหาเด็กเร่ร่อนที่มีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นคนใน กทม. เพื่อนำมาช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ จัดการศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมให้แต่ละคนได้เรียนหรือฝึกอาชีพ รวมถึงเสริมศักยภาพเด็กและครอบครัวให้มีกิจกรรมเสริมรายได้หรืออาชีพทางเลือกที่เหมาะสมตามวัย