ตัวอย่างความสำเร็จจากนักเรียนสายอาชีพเกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่มีแต่ด้านลบเพียงอย่างเดียว เหมือนอย่าง ธวัช ธนันชัย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธวัชแมชชีนเทค ชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อดีตนักเรียนสายอาชีวะ แผนกช่างกล ร่วมแชร์เรื่องราวชีวิตระหว่างเรียนสายอาชีพจนประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต กลายเป็นเถ้าแก่เจ้าของโรงงานกัดกลึงขนาดใหญ่ ในจังหวัดลำพูน ผ่านเวที “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จังหวัดลำพูน
ธวัช ขึ้นเวทีจับไมค์ เปิดใจเล่าว่า บางคนเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง แต่ผมเกิดมาคาบจอบกับเสียมออกมา ชีวิตเรียนอยู่โรงเรียนวัด พักอาศัยอยู่วัด ตื่นเช้ามาออกไปซื้อตับซื้อปลาทูให้แมวกิน หลวงพ่อให้ค่าขนม 20 บาท เดินไปเรียนทุกวันจนจบชั้น ม.3 ก่อนได้โควต้าไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน ในช่วงระหว่างเรียนยังรับจ้างส่งหนังสือพิมพ์ ย่างข้าววัดที่เหลือจำนวนมากนำมาตากแห้งขาย
ช่วงปี 2538 ได้ทุนมูลนิธิกตเวทิน ได้รับทุนปีละ 10,000 บาท จำนวน 2 ปี ขณะเรียนอยู่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน แผนกช่างกล ทั้งระดับปวช. และ ปวส. จนมีโอกาสไปเรียนต่อที่ช่างกลปทุมวัน กรุงเทพฯ ไปในนามนักเรียนทุนหวังว่าจบออกมาจะได้เป็นครูสอนหนังสือ
ธวัช บอกว่า ตอนนั้นปี 2540 ดันเกิดวิกฤตค่าเงินบาทลอยตัว ทุนต่างๆที่ได้รับถูกยกเลิกหมด ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหนจะกลับบ้านให้ชาวบ้านสมน้ำหน้าหรือ? เลยไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหารต่างๆอดทนเพื่อวันข้างหน้า และโทรหาหลวงพ่อที่วัดที่เคยอาศัยอยู่ หลวงพ่อช่วยส่งเงินมาให้เดือนละ 2,000 บาท จนจบการศึกษา
กระทั่งจบออกมาเป็นครูอยู่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน มาสอนหนังสืออยู่ 7 ปี 4 เดือน 16 วัน แต่ไม่มีเปิดสอบบรรจุแม้แต่วันเดียว เลยล้มเหลวกับชีวิตไม่ได้เป็นข้าราชการ สุดท้ายตัดสินใจลาออก ขณะนั้นทำงานได้เงินเดือน 6,300 บาท
“ก่อนตัดสินใจไปขอเงินพ่อ 80,000 บาท พ่อไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) มาให้ นำมาลงทุนซื้อเครื่องกลึงทันที มาทำเองนับปี ปัจจุบันมีลูกน้องและนักศึกษาฝึกงาน 60 คน มีเครื่อง CNC หรือ เครื่องอัตโนมัติกัด กลึง เครื่องละ 2.4 ล้านบาท จำนวน 14 เครื่อง ในโรงงานยังมีฟาร์มวัว เป็ด หมูป่า ปลา ไก่ และข้าว” เถ้าแก่ใหญ่เล่า
ธวัช เผยเคล็ดลับความสำเร็จในการเรียนสายอาชีพว่า ความสำเร็จมี 3 ข้อสำคัญ 1.ซื่อสัตย์ ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เมื่อตัวเองสัญญาว่าจะทำอะไรต้องทำให้ได้ตามนั้น แม้ส่วนตัวจะเรียนจะไม่เคยติด 1 ใน 10 แต่เกรดเฉลี่ยไม่เคยต่ำกว่า 3.00 ส่วนตัวมองว่าทุนมี 2 แบบ 1.ทุนเรียนดี และ2.เรียนดีแต่ยากจน ถ้าเราเรียนเราซื่อสัตย์กับตัวเองเกรดเราไม่มีปัญหาแน่นอน อ่านหนังสือ เรียน ทำงาน ทำการบ้าน นี่คือการซื้อสัตย์กับตัวเอง
ส่วน 2.ขยัน ขยันอย่างไร เสาร์อาทิตย์รับจ้างทำงานทุกอย่าง ปลูกข้าว ปลูกลำไย ในขณะที่เพื่อนวางแผนไปเที่ยว แต่เราเลือกกลับบ้านไปรับจ้างทำงาน และ3.อดทน ครูบาอาจารย์เคยด่าผม “ความรู้เท่าหางอึ่ง เอ็งจะไปทำอะไรได้” เลยตอบอาจารย์ไปว่า “ขอบคุณที่อาจารย์เตือนสติผม” และหลักการมีอย่างเดียว “คิดแล้วทำ แล้วทำให้มันมีความสุข”
สุดท้าย ธวัช ฝากถึงนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.ว่า เผื่อวันข้างหน้านักศึกษาอาชีวะทุกคนจะได้เป็นนายจ้าง เป็นเจ้าของโรงงาน ขอฝากข้อคิด 1 ประโยคถึงน้องๆว่า “ทำงานต้องได้เงิน จ่ายเงินต้องได้งาน”