การดำน้ำถือเป็นอีกกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติและชาวไทยให้ความนิยมมาใช้บริการกันอย่างต่อเนื่องจนทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวด้านนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว สอดรับกับความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาลัยเทคนิคพังงา จึงให้ความสำคัญกับการสอนหลักสูตรว่ายน้ำและดำน้ำให้กับนักศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
อ.ประทิน เลี่ยมจำรูญ ผู้จัดการโครงการฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า เนื่องจากจังหวัดพังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทางด้านกิจกรรมทางน้ำที่หลากหลาย ทางวิทยาลัยจึงเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรจะว่ายน้ำและดำน้ำ ไม่เฉพาะว่าจะต้องเป็นเด็กด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งจากเหตุการณ์ สึนามิในอดีตที่มีนักเรียนเสียชีวิตจากครั้งนั้น ยิ่งต้องให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและการช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปในอนาคต
สำหรับหลักสูตรการสอนจะเริ่มตั้งแต่นักเรียน ปวช.ปี 1 ที่จะสอนพื้นฐานการว่ายน้ำเบื้องต้น การลอยตัว ตีขา ไปจนถึงการว่ายท่าฟรีสไตล์ ท่ากบ มีการสอบวัดผล ว่าย 10 เมตร 25 เมตร โดยเน้นหลักการเอาตัวรอดให้ได้ก่อน จากนั้นก็จะสอนหลักสูตรการช่วยเหลือผู้อื่นโดยมีการสมมติเหตุการณ์ช่วยเหลือคนจมน้ำด้วยวิธีต่าง ๆ ตั้งแต่โยนเชือก หาไม้ให้ยึด ไปจนถึงการลงน้ำไปช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังสอนไปถึงการฝึกช่วยเหลือแบบ CPR โดยจะมีวิทยากรที่มีประสบการณ์มาช่วยสอน ก่อนที่ในชั้นปีที่ 3 นักเรียนจะเริ่มไปฝึกดำน้ำได้ลงทะเลจริงต่อไป
จุฑามาศ อ่อนทา หรือ ‘น้องบี’ นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปวช. 1 สาขาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ (เทคโนโลยีการท่องเที่ยว) ยอมรับว่า ไม่มีพื้นฐานหรือว่ายน้ำไม่เป็นเลย แต่เมื่อได้มาเรียนตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ตอนนี้สามารถว่ายได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จากตอนสอบกลางภาคที่ต้องสอบว่าย 10 เมตร ยังต้องสอบ 3 ครั้งกว่าจะผ่าน มาตอนนี้สอบปลายภาคก็สามารถว่ายได้ถึง 25 เมตร
“การเรียนว่ายน้ำตอนแรกก็คิดว่ายาก แต่ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น คนเก่งแพ้คนขยัน หนูก็ขยัน ซึ่งพอเราว่ายน้ำได้เราก็ภูมิใจเพราะก่อนหน้านี้ว่ายน้ำไม่เป็นเลย ตอนนั้นก็เคยรู้สึกท้อเห็นคนอื่นเขาว่ายได้ทำไมเราว่ายไม่ได้ก็พยายามซ้อมจนทำได้ การว่ายน้ำก็เหมือนการออกกำลังกายประเภทหนึ่ง เหมือนคนแก่ว่ายน้ำเพื่อสุขภาพ คนเป็นโรคหอบก็ว่ายน้ำได้ ยิ่งเราเรียนด้านการท่องเที่ยวต่อไปเป็นไกด์เจอลูกทัวร์ตกเรือ ตกน้ำเราก็ช่วยได้” จุฑามาศกล่าว
จุฑามาศ ระบุด้วยว่า เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเคยคิดว่าจะเรียน กศน. แต่เมื่อรู้ว่ามาเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพังงา มีทุนการศึกษาจึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเป็นครู ซึ่งตั้งใจจะเรียนให้ได้สูงที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหนเพราะที่บ้านฐานะไม่ดี พ่อต้องรับจ้างได้เงินวันละไม่ถึง 300 บาท แม่ออกไปช่วยกรีดยางบางวัน มีน้องสองคนที่ยังอยู่ในวัยเรียน บ้านเป็นบ้านไม้ที่สร้างอยู่บนที่ดินของลุงซึ่งทรุดโทรมไปมากจนอบต.ต้องมาช่วยซ่อม เมื่อได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็ตั้งใจว่าจะเรียนให้ได้ดีและเก็บเงินก้อนเพื่อให้ได้เรียนในระดับปริญญาตรีต่อไป
สอดคล้องกับ พิยะดา นิลบุศย์ หรือ ‘น้องส้ม’ นักเรียน ปวช. ปี 1 สาขาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ (เทคโนโลยีการท่องเที่ยว) ซึ่งแม้จะมีบ้านติดทะเลแต่ก็ว่ายน้ำไม่เป็น ตอนนี้ว่ายน้ำได้ไกลถึง 25 เมตร ถ้าถามว่าว่ายน้ำยากไหม ก็ต้องบอกว่ายาก แต่ทำได้ซึ่งคิดว่าว่ายน้ำเป็นเรื่องสำคัญเวลาเราไปทะเลกับเพื่อนแล้วเพื่อนจมน้ำ เราก็ช่วยได้ หรือเรียนด้านนี้หากในอนาคตต่อไปทำงานด้านการท่องเที่ยวเวลาไปทัวร์แล้วเรือล่มก็สามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้
น้องส้ม กล่าวว่า หลังจากได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงช่วยให้การเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะที่บ้านฐานะไม่ดี อยู่กับพ่อและน้องชาย พ่อเป็นโรคนิ้วถุงน้ำดี ตับ ไต ต้องไปหาหมอที่ มอ.ปัตตานีทุกเดือน และต้องเปลี่ยนท่อทุก 3 เดือน ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากทั้งค่ารักษาที่ได้รับการส่งตัวไปจากรพ.ตะกั่วป่า ก็จ่ายเงินเพียงแค่หมื่นกว่าบาทจากราคาเต็ม 3-4 หมื่นกว่าบาท และยังต้องมีค่าเดินทาง และขาดรายได้ที่ไม่ได้ไปทำงานในช่วงนั้น
“ได้ทุนแล้วก็ช่วยที่บ้านได้เยอะ เพราะบ้านก็ยังต้องเช่าเขาอยู่เดือนละสองพันกว่าบาทโดยพ่อเป็นคนหารายได้คนเดียวบางครั้งไม่มีเงินก็ต้องไปหยิบยืมเขามา มีเงินก็ไปใช้คืนเขา ดังนั้นเมื่อได้ทุนตรงนี้ก็ตั้งใจจะเรียนให้ได้สูงที่สุด ส่วนตัวชอบวิชาคอมพิวเตอร์ และ คณิตศาสตร์ แต่อ่อนวิชา สังคม ประวัติศาสตร์และภาษาอังกฤษ และวิชาที่ต้องใช้ความจำ โตขึ้นอยากเป็นโปรแกรมเมอร์แต่อีกใจหนึ่งก็ชอบออกแบบซึ่งหาความรู้ด้วยตัวเองในอินเทอร์เน็ตซึ่งอยู่ระหว่างช่างใจว่าทางไหนจะรุ่งกว่ากัน” น้องส้มกล่าว