เวทีสัมมนาโลกชื่นชมผลงาน’กสศ.’ ชี้นำไปใช้ขยายผลได้ ชื่นชม’กสศ.’ผลงานเด่นรัฐบาลไทย หนุนทั่วโลกนำไปต่อยอด
“ยูเนสโก” เชิญ กสศ. ร่วมเวทีสัมมนา “มากกว่าคำมั่นสัญญา” สรุปผลงานเด่นของโลกในรอบ 5 ปีแรกของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ชื่นชมการจัดตั้ง กสศ. คือผลงานเด่นของรัฐบาลไทยที่ทั่วโลกนำไปใช้ขยายผลได้
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 62 ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ได้รับเชิญจากคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO Global Education Monitoring Report: GEM) เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการเปิดตัว รายงานพิเศษ “มากกว่าคำมั่นสัญญา” (Beyond Commitments) สรุปผลงานเด่นของโลกในรอบ 5 ปีแรกของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเวทีระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 62 (High-Level Political Forum on Sustainable Development – HLPF 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-18 ก.ค. 62 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค โดยได้รับเกียรติจากอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) นางเฮเลน คลาร์ก ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ให้แก่องค์การยูเนสโก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประเทศไอร์แลนด์ และประเทศกาน่า รวมทั้ง เอกอัคราชฑูตแอนติกาและบาร์บูดา ประจำ UN และ Dr.Robert Jenkins รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ร่วมอภิปรายผลด้วย
Dr.Manos Antoninis ผู้อำนวยการคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring Report: GEM) ซึ่งเป็นคณะทำงานวิชาการอิสระภายใต้การสนับสนุนของ องค์การยูเนสโก ได้สรุปที่มาและสาระสำคัญของรายงานฉบับพิเศษที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสการประชุม HLPF 2019 ครั้งนี้ ว่า ปี 2019 นี้ประเทศต่างๆทั่วโลกได้เดินทางมาถึง 1 ใน 3 ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) แล้ว คณะทำงานจึงได้จัดทำรายงานพิเศษฉบับนี้ขึ้นเพื่อทบทวนสถานการณ์การศึกษาทั่วโลกตามเป้าหมายตัวชี้วัดของ SDG4 รวมทั้ง ความสำเร็จ ความพยายาม และความท้าทายที่แต่ละประเทศได้แสดงให้องค์การสหประชาชาติและประชาคมโลกได้เรียนรู้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นต้นทุนในการต่อยอด และขยายผลการดำเนินงานให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย SDG4 ได้ครบถ้วนภายในปี 2030 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีเท่านั้น โดยสาระสำคัญของรายงานพิเศษ “มากกว่าคำมั่นสัญญา” ฉบับนี้ได้สรุปและจัดกลุ่มความก้าวหน้า และนวัตกรรมการทำงานที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความพยายามในการทำงาน “มากกว่าคำมั่นสัญญา” ของพันธสัญญาตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ของ 72 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลให้แก่คณะทำงาน รวมทั้งจุดเน้นของการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG4 ออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) มากกว่าค่าเฉลี่ย (2) มากกว่าโอกาสทางการศึกษา (3) มากกว่าการเรียนรู้ทั่วไป (4) มากกว่าการศึกษาในโรงเรียน (5) มากกว่าระบบการศึกษา และ (6) มากกว่าระดับประเทศ”
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า ได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ของ กสศ. ในฐานะกรณีศึกษาในรายงานพิเศษฉบับนี้ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) ความสำคัญของการมีเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ (EdTech) ในการบริหารจัดการข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นรายบุคคลทั้งเพื่อการสนับสนุนงบประมาณจาก กสศ. และการสนับสนุนนวัตกรรมการระดมทุน (Innovative Financing) จากภาคเอกชนมาช่วยเหลื่อมกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (2) การลงทุนในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานข้ามหน่วยงานและข้ามระบบ เช่น การบูรณาการทำงานด้านข้อมูลและงบประมาณร่วมกับ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ของ กสศ. เป็นต้น และ (3) ความสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ซึ่งทางกสศ. ยินดีร่วมงานกับทุกหน่วยงานที่มีภารกิจเพื่อความเสมอภาคในทุกระดับ
ขณะที่ Dr.Manos Antoninis ผู้อำนวยการ (Global Education Monitoring Report: GEM) กล่าวว่า คณะทำงานมีความชื่นชมการสนับสนุนวาระความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยที่มีต่อประชาคมโลกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปฏิญญาการศึกษาเพื่อปวงชน (ปฏิญญาจอมเทียน) เมื่อปี 1990 จนถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยในปี 61 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งทางคณะทำงานมีความยินดีที่ได้นำเสนอกรณีศึกษา กสศ. ในรายงานพิเศษฉบับนี้ให้เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของโลกในรอบ 5 ปีที่ “มากกว่าคำมั่นสัญญา” ของรัฐบาลไทยที่มีต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) และหวังว่าประเทศต่างๆ จะได้นำความสำเร็จของรัฐบาลไทยนี้ไปขยายผลการดำเนินงานในประเทศของตนต่อไปในอนาคต