ไม่ไกลจากย่านธุรกิจ ใจกลางกรุงเทพ สถานที่ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “บ้าน” แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณบางทางเข้า ชุมชนโค้งรถไฟยมราช และนับเป็นบ้านหลังแรกของชุมชน บ้านหลังนี้ มีเนื้อที่ขนาดประมาณ 4 ตารางเมตรบรรจุ 13 ชีวิต เป็นเด็กวัยเรียนถึง 10 คน บริเวณหน้าบ้านและหลังบ้าน มีรถไฟวิ่งผ่านแทบจะตลอดทั้งวัน ขบวนสุดท้ายของวัน คือช่วงประมาณตี 2 ขณะอีกด้านหนึ่งติดกับตัวบ้าน เป็นที่ตั้งของกองขยะ และเป็นจุดที่เด็กๆ ในบ้านใช้เป็นสนามเด็กเล่นทุกๆ วันหลังเลิกเรียน
จิรา ศรีเจริญ หรือที่คนในชุมชนนี้เรียกว่า “ป้าเตี้ย” เจ้าของบ้านหลังนี้ ผู้ปกครองของเด็กทั้ง 10 คน เล่าว่า แม้เด็กแต่ละคนจะมีสถานะเป็นหลาน แต่เด็กทุกคนก็เรียกยายของตัวเองจนติดปากว่า “แม่” เพราะได้ดูแลพวกมาตั้งแต่แบเบาะ
“ทั้งพ่อและแม่ ต้องออกไปทำงาน ไม่มีเวลามาเลี้ยงดู ก็กลายเป็นภาระของเราต้องดูแล แต่เด็กพวกนี้เลี้ยงง่าย ถึงจะดื้อบ้าง ซนบ้าง ตามประสาวัยเด็กแต่ก็เป็นเด็กดีเชื่อฟัง คนโต ชื่อป.(นามสมุติ) เริ่มเก่ง มีฝีมือช่วยงานบ้าน ช่วยร้อยมาลัยได้ แบ่งเบาภาระได้บ้าง คนเล็กๆ พวกนี้มีดื้อบ้างชอบแอบกินแป้ง แป้งทาตัวนี่แหละ กินกันเป็นกระป๋องๆ ห้ามก็ไม่ค่อยฟัง นิสัยนี้คงจะติดมาจากแม่ แม่ของเด็กพวกนี้ชอบแอบกินยากันยุง จุดไว้ก็แอบดับแล้วหักมากิน เราก็กลัวว่ากินไปแล้วจะเมา หรือจะเป็นอะไรไป ก็พาไปหาหมอ ไปถึงโรงพยาบาลก็ไปบอกหมอว่า ถ้าไม่กินจะมีอาการไข้ขึ้น ทำงานไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้กินไป” ป้าเตี้ยสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของลูก และหลานๆ
จิรา บอกอีกว่า เด็กทุกคนตั้งใจเรียน แต่อุปกรณ์หลายๆ อย่างที่พวกเขาอยากได้ ก็เกินกำลังที่จะจัดหามาได้ ที่พอที่จะซื้อให้ได้ก็ต้องแบ่งกันใช้ พวกเขายังขาดแคลนชุดนักเรียน เพราะเงินอุดหนุนที่โรงเรียนจัดให้ ประมาณ 500 บาท ไม่เพียงพอ
“โรงเรียนให้ค่าชุดนักเรียนคนละ 310 บาท ค่าอุปกรณ์ คนละ195 บาท ขาดเหลือจากนี้เราก็ต้องซื้อเอง หลาน 10 คน ก็เกินกำลัง ไหนจะค่ารถ ก็ใช้วิธีเหมารถตุ๊กตุ๊ก วันละ40บาท ให้เงินไปโรงเรียนคนละ 10 บาท ตอนเช้าตอนเที่ยงก็กินข้าวของโรงเรียน กลับบมากินข้าวเย็นที่บ้าน
เด็กพวกนี้กินง่าย ข้าวไข่เจียว ผัดผักก็กินกันได้ ถ้าถามว่า อยากได้ความช่วยเหลือเรื่องอะไร ก็บอกเลยว่าเรื่องอุปกรณ์การเรียน ตอนนี้เกินกำลังจริงๆ เราอยากให้เขาทุกคนได้เรียนสูงๆ เท่าที่จะมีกำลังส่งพวกเขาเรียนได้ เพราะไม่อยากให้มีอนาคตเหมือนเรา ” ป้าเตี้ยเล่า
ป.(นามสมุติ) ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 5 ทุกๆ วันหลังกลับจากโรงเรียนจะต้องรับภาระช่วยแบ่งเบางานบ้านของยายและดูแลเด็กๆ คนอื่นๆในบ้านหลังนี้ เล่าว่า โตขึ้น อาชีพในฝันที่เขาอยากเป็นก็คือ ทหาร เมื่อถามถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงอยากเป็นทหาร หนึ่งสมาชิกตัวน้อยในบ้านก็แย่งตอบแทนพี่ด้วยเสียงดังหนักแน่นว่า “อยากรับใช้ชาติ อยากตายเพื่อชาติ
นั่นเป็นเพียงภาพสะท้อนจากบ้านหลังหนึ่งในชุมชนแห่งนี้ ซึ่ง“ครูจิ๋ว” ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ขยายความให้ฟังว่า เด็กๆ ในชุมชนนี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ครอบครัวมีฐานะเป็นคนจนเมือง มีภาระหนี้สิน การศึกษาไม่สูง และประกอบอาชีพที่ไม่แน่นอน บางคนประกอบอาชีพขายดอกไม้ ขายพวงมาลัยริมถนนไม่ไกลจากชุมชนโค้งรถไฟยมราช บางคนก็ไปขอทานบริเวณซอยนานา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เคยมีตัวเลขที่ระบุถึง ตัวเลขกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 476,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทาง และมักจะหลุดจากระบบการศึกษา และมีวงจรชีวิตที่ต้องอยู่กันแบบตามมีตามเกิดตั้งแต่รุ่นพ่อแม่และส่งมอบมรดกความยากจนไปถึงลูกๆ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจะหลุดพ้นจากวงจรนี้
“เท่าที่ได้คุยกับคนในชุมชน บางคนต้องขายพวงมาลัยดอกจำปีมาแล้ว ถึง 40 ปี พวกเขาต้องการการจัดการชีวิตที่มีระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องจับมือกัน แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และต้องเป็นการแก้ที่ถูกจุด แก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาให้ได้ เมื่อได้มาพูดคุยก็พบว่า เด็กๆ หลายคนตั้งใจเรียน แต่พวกเขาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ทำงานหนัก นอนดึก ไปเรียนก็เรียนไม่ไหว เรียนไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็ต้องถอดใจ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพวกเขาควรจะได้รับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น เช่นรองเท้านักเรียน หรือชุดนักเรียน เพราะเงินอุดหนุนที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว