แล้วห้องเรียนน่าเบื่อจำเจก็กลับมีชีวิต มีความงอกงามความสุขที่ทั้งครูทั้งเด็กรับรู้ร่วมกัน

แล้วห้องเรียนน่าเบื่อจำเจก็กลับมีชีวิต มีความงอกงามความสุขที่ทั้งครูทั้งเด็กรับรู้ร่วมกัน

ฟังเสียงสะท้อน ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ (TSQP) โดยมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ในโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach)

ที่วันนี้แม้โครงการสิ้นสุดลง แต่ผู้บริหาร ครู รวมถึงเขตพื้นที่การศึกษา ยืนยันเดินหน้าทำงานต่อโดยไม่คิดหันหลังกลับ พร้อมร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสุข ความทรงจำ และความงอกงามจากการทำงานที่ผ่านมา

เมื่อนวัตกรรม ‘จิตศึกษา’ ‘PBL’ และ ‘PLC’ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง และหยั่งรากลึก ลงในโรงเรียนของพวกเขา ทั้งยังสุกงอมพร้อมแตกหน่อก่อผลออกไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป

‘มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา’ เป็นเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของ กสศ. ที่นำแนวคิด ‘สนามพลังบวก’ มาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ ผ่านนวัตกรรม จิตศึกษา, หน่วยบูรณาการ PBL เรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และ PLC ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

โดยนวัตกรรมเหล่านี้ได้เปลี่ยนการเรียนการสอนเป็น ‘Active Learning’

แล้วครู ที่เคยเป็นผู้ ‘บอกความรู้’ ก็เปลี่ยนบทบาทเป็น ‘โค้ช’ หรือผู้นำการเรียนรู้ ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักค้นคว้าและเป็นนักปฏิบัติ

ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่เมื่อผู้บริหารโรงเรียนและครูเปิดใจยอมรับ ผลลัพธ์เชิงบวกจึงเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่นาน

“active Learning สร้างเด็กให้เป็นนักค้นคว้า มีการคิดขั้นสูงเชิงนวัตกรรม รู้จักแก้ปัญหาด้วยวิจารณญาณ สร้างสรรค์ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ค่อย ๆ บ่มเพาะและฝังในตัวเด็ก เขามองว่าปัญหาคือสิ่งท้าทาย ไม่ยอมละเลิกง่าย ๆ ถ้ายังทำไม่สำเร็จ

“ครูเองก็กลายเป็นนักเรียนรู้ไปด้วย คือถ้ายังไม่ดี ไม่ได้ เราไม่หนีไม่ยอมไม่ปล่อย ต้องเรียน ต้องรู้ ต้องหาทางทำจนสำเร็จ หาเทคนิควิธีการมาผลักดันให้เด็กถึงเป้าหมาย เราเปลี่ยนตัวเองจากครูที่สอนให้ ‘จำ’ เป็นสอนให้ ‘คิด’ ไม่ยัดเยียดความรู้ ไม่ตัดสิน แต่เรามุ่งไปที่ความสนใจของเด็ก

“แล้วห้องเรียนที่น่าเบื่อจำเจก็กลับมีชีวิต มีความงอกงามความสุขที่ทั้งครูทั้งเด็กรับรู้ร่วมกันได้”

ครูฉัตรวรีย์ บุญสิริเกียรติ
โรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล)
อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

“ห้องเรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่มีการชี้ถูกผิด มีการเสริมพลังด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ทำให้เด็กเห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเอง รักที่จะเรียนรู้ เหล่านี้คือสิ่งที่จิตศึกษาเป็นจุดคานงัดให้ความเปลี่ยนแปลงปรากฏ

“เราเชื่ออย่างหมดใจว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แม้ต้นทุนเขาไม่พร้อมสักแค่ไหน หรืออยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม

“ถ้าครูเชื่อมั่น หาทางผลักดัน สนับสนุน สุดท้ายแล้วไม่ว่าโจทย์ยากเท่าไหร่ ลำบากห่างไกลเพียงใด เขาจะพบวิถีทางในการพัฒนาตนเองจนได้”

ผอ.พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ
โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง
อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

“การเรียนภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ช่วยเปิดโลกทัศน์ จินตทัศน์ จากภาษาที่สวยงาม มีศัพท์ชั้นสูงและคลังคำที่กว้าง ยาก ลึกซึ้ง สื่อความหมายได้มากกว่าเพียงชั้นเดียว

“ถ้อยคำเปิดจินตนาการให้เขาเห็น สร้างภาพลึกล้ำ มีทักษะพื้นฐานหลักภาษาที่ไปไกลกว่าแค่เขียนตามคำบอก สามารถวิเคราะห์ตีความข้อเขียนได้ เพราะวรรณกรรมนั้นไม่บอกอะไรเลย แต่จะทิ้งปลายเปิดให้ตีความ แล้วศัพท์บางคำยังทำให้เด็กได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในความคิดหรือในใจมาถึงครู ทำให้ครูเข้าใจบริบทชีวิตเขาได้มากขึ้น”

ครูภัทรวีร์ สุขโทน
โรงเรียนบ้านกองทูล (พิทักษ์ราษฎร์วิทยาคาร)
อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

“หนูชอบที่ครูให้โอกาสเราเรียนรู้ด้วยตัวเอง เสนอความเห็นได้ว่าอยากทำอะไร ตอนทำงานไม่เสร็จครูก็ให้กำลังใจ สอนให้หาวิธีรับมือจนผ่านไปได้ พวกเราจึงพร้อมกลับไปทำซ้ำ แล้วพอทำสำเร็จทุกคนก็ดีใจไปด้วยกัน

“วันนี้หนูมีความสุขกับการไปโรงเรียนมาก อยากให้โรงเรียนของเราเป็นแบบนี้ตลอดไปค่ะ”

ด.ญ.ณัฐชากรณ์ แสนกลาง ชั้น ป.6
โรงเรียนบ้านก่ำ (สิทธิผลนุกูล)
อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

“เรามีเครือข่ายที่แตกยอดออกไปทั้งโรงเรียนข้างนอก และใน TSQP ด้วยกัน มีการเยี่ยมชมงาน แชร์ประสบการณ์ระหว่างโรงเรียน และก่อนเปิดเทอมทุกครั้งจะมีประชุมวางแผนการเรียนการสอน เจาะทีละสัปดาห์จนครบเทอม

“เหล่านี้คือความงอกงามของการมีเพื่อนร่วมทางหัวใจเดียวกัน ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ บางทีคนเดียวก็พอไปได้ แต่ถ้ามีเพื่อนร่วมทาง พวกเราจะไปได้ไวกว่า”

ผอ.การุณ ชาญวิชานนท์
โรงเรียนบ้านโกรกลึก
อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

“ความสำคัญต่อจากนี้คือผู้บริหารที่จะมาสืบทอด โดยทางเขตจะมุ่งคัดสรรคนมี mind set เดียวกันมาทำงานต่อ คนที่เข้าใจกระบวนการ พร้อมสานงานไปข้างหน้า

“เพราะเรามองว่าโครงการนี้คือโอกาสของเด็กทุกคน ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ครูไม่ครบชั้น สร้างแรงบันดาลใจให้ครู เปลี่ยนแปลงเด็กให้มั่นใจ กล้าแสดงออก มีทักษะชีวิต ซึ่งหลายโรงเรียนพิสูจน์ผลลัพธ์แล้ว จึงพูดได้ว่าในเบื้องต้น เราประสบความสำเร็จแล้ว”

ดร.นฤมล สุภาทอง
รองผู้อำนวยการ สพป. นครพนม เขต 1

“ผมมองว่าการมีส่วนร่วมสำคัญที่สุด กว่าที่โครงการจะเดินมาจนพูดว่าสำเร็จได้ ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำและผู้สร้างความเชื่อมั่น แรก ๆ อาจเป็นรูปคำสั่ง หรือร้องขอ แต่การให้ครูได้ทำซ้ำ โดยมอบบทบาทให้ครูแต่ละคน เขาจะค่อย ๆ เข้าใจกระบวนการ แล้วทำจนเห็นผล

“…วันนี้ผมแน่ใจแล้วว่า จะไม่ยอมให้ครูกลับไปเปิดหนังสือสอนแบบเดิมอีกแล้ว เพราะเราเห็นทั้งผลสำเร็จและเส้นทางก้าวหน้า ที่การเรียนการสอนอย่างเดิมให้เราไม่ได้”

ผอ.สมเดช อ่างศิลา
โรงเรียนวัดเนินกระปรอก
อ.บ้านฉาง จ.ระยอง