นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยภายหลังเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ระบบ isee 2.0 : Edtech เพื่อพัฒนานโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่อาคารรัฐสภา (ตึกส.ส.) เกียกกาย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เรื่องโอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เด็กไทยควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม
หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของทุกฝ่ายขณะนี้ คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับครอบครัวของเด็กและเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาสกว่า 1,800,000 คน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. รายงานว่าในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 ถึง300,000 คน เนื่องจากผล กระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างมาก เด็กๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา
“กสศ. ได้พัฒนาระบบ iSEE เป็นแหล่งข้อมูลของเด็กและเยาวชนกว่า 4,000,000 คน ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายมองเห็นสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ระบบ iSEE 2.0 ของ กสศ. จะช่วยทำให้เรามีเครื่องมือล้วงลึกไปถึงเด็กในแต่ละครัวเรือนว่าสภาพเป็นอย่างไร เพื่อการช่วยเหลือจะได้เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด และยังช่วยให้สภาผู้แทนราษฎร ขับเคลื่อนวาระการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ทางกสศ.จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. เพื่อเชิญชวนท่าน ส.ส. ส.ว. ได้เข้ามาเห็นวิธีการทำงานของกสศ.ซึ่งเราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในชื่อว่า “ระบบ iSEE 2.0” หรือ ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ใช้ค้นหาเด็กนักเรียนยากจนว่าอยู่ที่ใดบ้าง มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์จำแนกข้อมูลภาพรวม ทั้งระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล นอกจากนี้ ระบบ iSEE 2.0 ยังเป็นเครื่องมือที่จะตามดูงบประมาณที่กสศ. จัดส่งเข้าไปช่วยเหลือว่าถึงปลายทางจริงหรือไม่ และติดตามการมาเรียนของเด็กอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลการเรียน สุขภาพอนามัย ได้รับการพัฒนาหรือไม่
“ปัจจุบันมีฐานข้อมูลของเด็กทั้งประเทศ ประมาณ 2 ล้านคนที่เป็นกลุ่มนักเรียนยากจน และ50% มีความยากจนพิเศษ คือ ยากจนมากกว่าปกติ โดยตัวเลขเด็กยากจนปี2563 สูงถึง1ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี2562 จำนวน 3 แสนคน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีเด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 90% เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการไม่มีสัญชาติ ปัญหาด้านกฎหมาย ทั้งนี้มีนักเรียน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียน 95% และกลุ่มนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 5% ซึ่งถ้าไม่มีการดูแลป้องกัน กลุ่มนักเรียน 95% จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ ” นายสุภกร กล่าว