ลบภาพนร.นั่งเงียบ เป็นกล้าคิดตอบ สร้างสรรค์ ผ่านการสอนแบบจิตศึกษา​

ลบภาพนร.นั่งเงียบ เป็นกล้าคิดตอบ สร้างสรรค์ ผ่านการสอนแบบจิตศึกษา​

สำหรับ​โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) ซึ่งเป็นความร่วมมือ ​สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ​(กสศ. )​ โดยมีโรงเรียนเข้าร่วม ทั้งหมด 291 แห่งในพื้นที่ 35 จังหวัด ที่สำคัญ​หลายโรงเรียนที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเริ่มเห็นผลความเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน

เริ่มตั้งแต่รูปแบบการเรียนการสอนของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ที่นำกระบวนการจิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – based Learning : PBL) และ ชุมชนแห่งการเรียนรู้​ (Professional Learning Community : PLC) มาเป็นกลไกสำคัญเพื่อเน้นให้ได้เด็กได้รู้จักตัวเอง รู้จึกคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ ซึ่งครูหลายคนที่นำแนวทางนี้ไปใช้สอนเด็กต่างสะท้อนตรงกันถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ครูพิมญาภัศ สิมสวัสดิ์ จากโรงเรียนบ้านน้ำแคม จ.เลย เล่าให้ฟังว่า ​สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการนำจิตศึกษามาใช้คือ เด็กนิ่งขึ้น รู้จักตัดสินเองว่าสิ่งไหนถูกไม่ถูก แม้จะไม่ใช่กับเด็กทุกคนแต่เด็กหลายคนก็เริ่มรู้จักแบ่งปันความเห็นกับเพื่อน ​หรือในส่วนของ PBL ที่ทำให้เด็กบางคนที่ไม่สนใจการเรียนหันมาสนใจการเรียนมากขึ้นกว่าเดิม

ครูพิมญาภัศ สิมสวัสดิ์ จากโรงเรียนบ้านน้ำแคม จ.เลย

“ถามว่าการปรับเปลี่ยนการสอนยากไหม ต้องตอบว่าไม่ยากมันอยู่ที่มุมมองเขา เราว่าเราเอาเป้าหมายไว้ที่เด็กหรือไว้ที่ตัวเรา ถ้าเราเอาเป้าหมายไว้ที่ตัวเด็กก็ไม่ยากควรจะปรับ เพราะถ้าสิ่งที่เราปฏิบัติมา 20 กว่าปีมันไม่เห็นผล ทำไมไม่ลองดูแนวทางใหม่ หากได้ผลดีก็โอเค​แต่ถ้าไม่ดีเราก็กลับไปเดินทางเดิม ถ้าเราคือครูด้วยจิตวิญญาณก็ควรที่จะเปลี่ยน” ครูพิมญาภัศกล่าว

ครูพิมพญาภัศ อธิบายว่า เริ่มมาอบรมการสอบรูปแบบใหม่ครั้งแรก​นั่งฟังแทบไม่รู้เรื่อง แต่ก็รับทุกอย่างกลับมาคิด อย่างบางเรื่องเป็นครูมา 20 กว่าปีไม่เคยรู้เลยว่า คำพูดหรือการกระทำของครูบางอย่าง ทำให้พฤติกรรมของเด็กเป็นการเอาตัวรอด มากว่าคิดต่อยอด สิ่งที่เราพูดมาบางทีทำให้เด็กเอาตัวรอด
ลอกคำตอบกัน ลอกการบ้านกัน ก็ย้อนไปถึงตัวเราหากเป็นอย่างนี้ก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งเริ่มต้นครูต้องมีใจที่เปลี่ยนก่อน

คล้ายกับ ครูณัฐภัทร อาสาริน จากโรงเรียนบ้านน้ำแคม จ.เลย ที่สอนเด็กในชั้นอนุบาลและนำเรื่องจิตศึกษาไปใช้เพียงแค่ 2 เดือนก็พบว่าเด็กกล้าตอบคำถามมากขึ้น จากวันแรกๆที่เริ่มเล่านิทานถามเด็ก ว่ารู้สึกยังไงพอเด็กคนแรกบอว่าสนุก คนต่อมาก็ตอบว่าสนุกเหมือนๆ กันแต่ระยะหลังเด็กเริ่มมีคำตอบที่เป็นของตัวเอง เด็กได้รู้จักคิด รู้จักสร้างสรรค์มากขึ้น

สำหรับสิ่งที่นำมาปรับใช้ในการสอนคือกระบวนการจากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ​คือตอนเตรียมสภาวะจิต ชง- เชื่อม-ใช้ ซึ่งไม่ยากและเห็นผลดี แต่ในส่วนของการบูรณาการ PBL ส่วนตัวที่สอนหนังสือมา 2 ปี
ยังมองว่าเป็นเรื่องยาก​แต่ก็จะพยายามปรับเปลี่ยนให้ได้ต่อไป

ไม่ต่างจาก ครูเมตตา นาหิรัญ จากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย ​ที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงหลังการปรับการสอนมาใช้กระบวนการจิตศึกษา และ PBL ว่าเด็กสนใจการเรียนมากขึ้น บางคนที่ชอบหนีเรียนในวิชายากๆ อย่าง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็เริ่มกลับมาเรียนและทำกิจกรรมจนเลิกเรียน ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะ PBL ไม่ได้สอนหนัก แต่สอนให้เด็กรู้จักคิดมากขึ้น

อนึ่ง แม้จะสอนหนังสือในรูปแบบปกติมา 27 ปี แต่ในแง่ของการปรับเปลี่ยนการสอนของครูก็ไม่ยากเพราะใช้แผนของลำปลายมาศพัฒนามาเป็นเครื่องมือ โดยสิ่งที่ได้ผลอย่างหนึ่งคือเทคนิคการพูดเสียงเบาลงเพื่อให้เด็กสนใจตั้งใจฟังมากขึ้น จากเดิมที่เคยต้องพูดเสียงดังเด็กก็ไม่สนใจแต่พอนำวิธีพูดเสียงเบามาใช้ครู 20 คนที่มาอบรม ในจำนวนนี้ 18 คนพูดตรงกันว่าได้ผลดี ​หรือเรื่องการใช้จิตศึกษามาช่วยทำให้เด็กรู้จักตัวเอง จากเดิมที่ต้องคอยเตือน ว่าอย่าทำอย่างนั้นนะ อย่างทำอย่างนี้นะ ซึ่งเด็กเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างแต่ตอนนี้ ลองเปลี่ยนให้เขามาสำรวจตัวเองว่าจะทำอะไรไม่ทำอะไรก็ช่วยให้เด็กๆเรียนรู้จากตัวเองและได้ผลมากขึ้น

ครูเมตตา นาหิรัญ จากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย

ครูเมตตา กล่าวเสริมว่า ​รูปแบบของ PBL ตอนนี้ที่เริ่มสอนคือการปั้นดินเหนียว ที่ผ่านมามีปัญหาคือดินแข็งปั้นไม่ได้ เด็กก็ต้องเรียนรู้หาทางแก้คือเติมน้ำ แต่ก็เติมน้ำมากไปก็ต้องแก้ไขด้วยการเติมดินเข้าไปอีก เวลานี้เป็นช่วงการหมักดิน ปัญหาทั้งหมดเด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้หาทางแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีการสอนมาใช้รูปแบบนี้มากขึ้นจะทำให้เด็กรักเรียนมากกว่าเดิม

สอดคล้องกับ ครูกิรวัส วงศ์เทิดสิริ ครูจากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย เพิ่งได้รับการบรรจุเมื่อช่วงประมาณเดือน ม.ค. ของปี 2562 กล่าวยืนยันตรงกันว่า เด็กนิ่งมากขึ้น ​เรารู้เลยว่าเขามีกระบวนการคิดเกิดขึ้น กล้าตอบกล้าแชร์กับเพื่อน ​จากเด็กบางคนที่ไม่เคยตอบคำถามในชั้นเรียนแม้เราจะยิงคำถามใส่เขาตรงๆ เขาก็ไม่เคยตอบ ทุกวันนี้พอเขาเห็นเพื่อนเริ่มตอบ เขาก็จะกล้าที่จะพูดมากขึ้น

​“สิ่งที่เราจะสอนได้บอกกับเด็กตรงๆ ว่าสิ่งนี้ถูกนะ แต่เราจะให้เขาไปหาความรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่ การสอนแบบเก่าๆ อาจจะเป็นการตีกรอบให้เด็กมากจนเกือบไม่มีจินตนาการ แต่พอเปิดให้เขาคิดบางทีเราก็จะได้เจออะไรมากขึ้น บางทีเด็กตัวแค่นี้คิดได้มากกว่าที่เราคิดก็มี ​สำหรับวิธีการสอนรูปแบบใหม่ก็ไม่ยาก อาจจะง่ายกว่ารูปแบบเก่าด้วยซ้ำ ​จากเดิมที่เราเหมือนต้องตีเส้นให้เขาเดินไป แต่ตอนนี้เรากำหนดลู่ไว้เฉยๆ เขาจะไปซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่ต้องเดินตรงเสมอไปก็ได้ สุดท้ายก็ไปถึงเส้นชัยได้เหมือนกัน” ครูกิรวัสกล่าว

ครูกิรวัส วงศ์เทิดสิริ ครูจากโรงเรียนบ้านนาค้อ จ.เลย