เผย Distance Learning มีความสำคัญมาก หนุนอาสาสมัครทางการศึกษา

เผย Distance Learning มีความสำคัญมาก หนุนอาสาสมัครทางการศึกษา

 

การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19  ทำให้การดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนไป แม้แต่ระบบการศึกษายังต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน

ยิ่งการเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  ทำให้เห็นภาพชัดของสถานศึกษา ในการออกมาตรการคัดกรองผู้เข้าเรียน การให้ความสำคัญต่อสุขภาพพลานามัยของบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ  การแบ่งกลุ่มสลับวันเรียน  การนำระบบการเรียนออนไลน์มาใช้

ทว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ New Normal มิอาจนำมาใช้ได้กับทุกสถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาในชนบท ไม่มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน ขาดการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ

ประจวบเหมาะกับที่  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม โดยมีนักการศึกษา นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านระบบออนไลน์ข้ามประเทศครั้งแรก  พร้อมเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนร่วมรับฟังการประชุมครั้งสำคัญ ผ่าน  http://afe2020.eef.or.th/thai/

หัวข้อสำคัญในการหยิบยกมาหารือแลกเปลี่ยน นั่นคือ จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายตัวมากขึ้น  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศจะร่วมหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร

นอกจาก  Mr. Amartya  Sen  (อมาตยา เซน ) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล  ให้เกียรติมาบรรยาย ในหัวข้อ “ความเสมอภาคทางการศึกษามีความหมายเพียงใดในโลกที่เปลี่ยนแปลงจากวิกฤตโควิด-19 ในวันที่ 10 ก.ค. นี้  ทางกสศ. ได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.ศุภชัย พานิชย์ภักดิ์  อดีตเลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO )  ซึ่งคุ้นเคยกับ ดร.อมาตยา เซน เป็นอย่างดี ในฐานะที่เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาร่วมกัน

มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา “ดร.ศุภชัย ให้ความเห็นว่า  เมื่อรัฐบาลจัดการกับโรคติดต่อได้ระดับหนึ่ง กล่าวคือ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงเรื่อยๆมาได้สามสิบกว่าวันแล้ว จึงเป็นความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง ว่าเรามีเครื่องไม้เครื่องมือในการเฝ้าระมัดระวังโรคได้ เพราะฉนั้นจึงต้องยอมให้ประเทศเปิดบ้าง

“ความหมายของผมต้องเอาชนะสงครามกับโรคโควิด -19 ให้ได้ก่อน ค่อยปล่อยให้เศรษฐกิจประเทศเปิด ถ้าชนะสงครามไม่ได้แล้วเปิดก็ไม่ใช่ แต่ขณะนี้ เราสามารถควบคุมโรคได้อีกระดับหนึ่ง  ต้องปล่อยให้เศรษฐกิจขยับขึ้นมา การขยับขึ้นตามที่รัฐบาลดำเนินการ ยังต้องระมัดระวังค่อยเป็นค่อยไป  ด้านการแพทย์ของไทยมีประสบการณ์สูง น่าเชื่อถือมาก ถ้าประชาชนเข้าใจ เราก็ต้องสอนเด็กนักเรียนตามมา”  

ดร.ศุภชัย  เชื่อว่า กระทรวงศึกษาธิการเตรียมการอยู่แล้ว  โดยต้องผสมผสานกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ระหว่างนี้การไปอยู่โรงเรียนไม่ควรใช้เวลามาก โดยใช้ออนไลน์ผสมผสาน แล้วค่อยๆปรับเป็นระบบออฟไลน์มากขึ้นเมื่อการควบคุมโรคระบาดอยู่ในระดับควบคุมได้   อย่างไรก็ตาม การรักษาความสะอาด  การสร้างความปลอดภัยควรให้เด็กทำเหมือนเดิม ขอให้มีการลงพื้นที่ทดสอบหรือ Testing เรื่อยๆ  กับโรงเรียนขนาดใหญ่

อดีตผอ. WTO  กล่าวว่า   เมื่อมีการเปิดเทอมแล้ว ย่อมมีความเสี่ยงแน่นอน และรู้สึกเห็นใจผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษา ตั้งแต่ผู้ปกครอง นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา  แต่เมื่อมีการเปิดการเรียนการสอนแล้ว ภาครัฐต้องพร้อมเข้าไปทำการ Testing  หรือสุ่มตัวอย่างไปเรื่อยๆ เหมือนสถานที่ ตลาดสด ซึ่งสำคญมากต้องเทสต์ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งพื้นที่ในภาคใต้   ที่มีการลักลอบเข้ามาทางเขตชายแดน

จากนี้รูปแบบการเรียนต้องเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะระบบ  Distance Learning  จะมีความสำคัญมาก ( Distance Learning   คือ สื่อการเรียนการสอนทางไกลซึ่งผู้เรียนจะเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน หรือ สถานที่ที่มีอุปกรณ์สื่อสาร  โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนยังสถาบันการศึกษา )

 ทั้งนี้  Distance Learning   บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย  ไม่ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่มีโควิด-19  เพราะว่า โรงเรียนชนบทที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก ครูไปไม่ถึง สมควรสร้างความคุ้นเคยกับการเรียนผ่านออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือเด็กชนบทได้รับคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

 

 “ผมคิดว่า ถ้ามี Distance Learning ความไม่เสมอภาคจะน้อยลง  ที่ผ่านมา ครูที่สอนเก่งๆ  ครูสอนภาษาอังกฤษดีๆ เขาก็ไม่ไปสอนชนบทไกลๆ แต่ถ้ามีหลักสูตรเรียนกันได้ เรียนผ่านโทรทัศน์ หรือ ถ้าไม่มีโทรทัศน์  ให้ไปใช้โทรทัศน์ประจำหมู่บ้าน แต่ถ้าหมู่บ้านไม่มีควรติดต่อทางการของบทำการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งระบบนี้มีรายการสอนเผยแพร่ผ่านช่องต่างๆ ตามหลักสูตรตามเวลา ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากต่อระบบการเรียนการสอนของประเทศไทย “  

 ดร.ศุภชัย เน้นย้ำ การเรียนการสอนระบบ Distance Learning   ควรให้ความสำคัญเด็กประถมวัย เนื่องจากเด็กเล็กควรได้รับการฝึกทางสมองให้เท่าเทียมกันตั้งแต่เล็ก แต่ถ้ามาช่วยกันตั้งแต่มัธยมจะสายเกินไป โดยรูปแบบการสอนวิชายังพบว่า บางรายการสื่อสารการสอนแบบวิธีสมัยใหม่ ให้เด็กเล็กได้ร่วมทำกิจกรรมผ่านการตั้งคำถาม ตรงจุดนี้พ่อแม่ต้องช่วย แต่ อาจลำบากสำหรับผู้ที่มีอุปกรณ์สื่อสารไม่พร้อมแต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการจัดระบบหมู่บ้านรวมกันได้  จัดให้เด็กมาเรียนพร้อมกัน

เขาเสนอต่อไปว่า  วิธีการใช้หมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง ถ่ายทอดสื่อการเรียนการสอน ให้กับเด็กประถมวัย สามารถนำรูปแบบของ อสม.สาธารณสุข มาเป็นตัวช่วยในส่วนนี้ได้อีกด้วย

 “ผมอยากเห็นอาสาสมัครประเภทการศึกษาเหมือนกัน ไปช่วยพ่อแม่สอนให้เข้าใจ   เช่น ในกรณีโทรทัศน์ไม่มีใช่ไหม ให้มารวมกันที่หมู่บ้าน  ณ เวลาเก้าโมงถึงเที่ยง ผมจะเปิดรายการสอนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ให้เด็ก แบบที่เวียดนามทำอยู่ขณะนี้  นอกจากวิชาหลักสามวิชาอาจบวกดิจิทัล โค้ดดิ้งเข้าไปด้วยก็ได้    เด็กประถมวัยผมห่วงมาก อยากให้มีความเสมอภาคตอนนี้ ถ้าไม่เสมอภาค โตมาแล้วก็จะมีปัญหา” 

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกหรือ WTO

“ผมเห็นระบบอสม.ดีมาก อยากให้มีอาสาสมัครการศึกษา เข้ามาสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กประถมวัย” ดร.ศุภชัย ย้ำ  

สำหรับ อาสาสมัครด้านการศึกษา จะเป็นตัวช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 ได้  ซึ่งรูปแบบของ อาสาสมัครการศึกษานั้น  เขาเสนอว่า  “อาจนำคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของหมู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นครู แต่ถ้าเป็นครู อาจารย์ยิ่งดี เอาผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือ เหมือนเช่น อสม.หมู่บ้าน เวลาใครเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาให้คำอธิบายสร้างความเข้าใจ”   

 “สมัยผมเป็นรมต.คลัง มีปัญหาการแพร่ระบาดโรคเอชไอวี   ตอนนั้น ครม.ส่งผมไปทางเหนือไปคุยกับผู้ใหญ่ของหมู่บ้าน ทำความเข้าใจโรคเอดส์เหมือนกัน ทำให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลอย่างใกล้ชิด  จนกระทั่ง มีอสม.สาธารณสุข เช่นเดียวกัน การมี อาสาสมัครทางการศึกษา อาจมีไปผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือ อาจเรียนมามากหน่อย  ให้เขาป็นคนช่วยจัดการ  ไม่ใช่สอนเอง  ช่วยให้นำระบบที่ทางการส่งมาเข้ากับหมู่บ้านได้ ไปนั่งคุยกับพ่อบ้านแม่บ้านได้  ไม่มีทีวีก็มานั่งดูที่นี่ มาส่งลูกมา หรือทางการเอาเงินช่วยคนยากจน ไม่ว่าจะสามพันบาท หรือ ห้าพันบาท ก็ขอให้ไปบอกเลย อย่าลืมนำลูกมาโรงเรียนทุกวัน โดยเฉพาะเด็กประถมวัย ต้องได้ไปโรงเรียน และถ้าจับได้ไม่ส่งลูกมาเรียนก็ตัดเงินช่วยเยียวยา ผมอยากโยงไปถึงตรงนี้ด้วยซ้ำ “ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายสมัย เสนอแนวทาง