นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อปี 2552 มีมติการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ผ่านมาเป็นเวลา 10ปี ที่การกำหนดเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ยังคงใช้ฐานข้อมูลเดิมซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทบไปถึงผู้ปกครองที่ต้องมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในการจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียน อีกทั้งขนาดของสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆมีความแตกต่างกันแต่ก็ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวด้วยฐานข้อมูลเดิม
ล่าสุด สภาการศึกษา ( สกศ. ) ได้มีการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเงินอุดหนุนการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว) เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอต่อฝ่ายนโยบายซึ่งก็คือ รัฐบาลว่าถึงเวลาหรือยังที่จะมีการปรับปรุงการสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จากการเปิดเผยของนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) ระบุว่า จากโครงการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเงินอุดหนุนการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว) ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยกระบวนการตอนนี้ สกศ.ได้ตรวจสอบอัตราเงินเฟ้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว
“พบว่า การจัดเก็บรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 40-50 แต่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 16 แสดงให้เห็นว่าประเทศมีความสามารถในการสนับสนุนงบประมาณในเรื่องนี้” นายสุภัทร กล่าว
ทั้งนี้ สกศ.ยังได้ส่งทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างประมาณเกือบ 200 โรง ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงสำรวจโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย
“การสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายรายหัว ทำใน 5 หัวข้อเดิม คือ 1.ค่าเล่าเรียน 2.ค่าหนังสือเรียน 3.อุปกรณ์การเรียน 4.เครื่องแบบนักเรียน และ 5.กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ว่าแต่ละโรงเรียนได้รับสนับสนุนเท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งทั้ง 5 รายการนี้ ถือว่าใช้มาเป็นระยะเวลา 10 ปี แล้ว หรือตั้งแต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เมื่อปี 2552 ดังนั้นหากจะปรับปรุงตามสภาพการจ่ายจริงควร ที่จะปรับให้เป็นไปในทิศทางไหนอย่างไร” นายสุภัทร กล่าว
เลขาฯ สกศ. เปิดเผยด้วยว่า สกศ.ยังสำรวจค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าชุดนักเรียนที่รัฐสนับสนุนให้ปีละ 2 ชุด แต่นักเรียนก็จะต้องมีชุดพละและชุดลูกเสือ เนตรนารี เพิ่มขึ้นมา หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ซึ่ง สกศ.จะจัดทำเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้เห็นภาพชัดว่าค่าใช้จ่ายในเรื่องใดที่รัฐควรจะสนับสนุน และสนับสนุนจำนวนเท่าไรในแต่ละระดับชั้น
โดย สกศ.จะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้
“ในส่วนของวงเงินที่จะต้องใช้เพิ่มเติม สกศ.จะพิจารณาให้ไม่เกินอัตราเงินเฟ้อ คิดว่าน่าจะอยู่ที่ 12,000-13,000 ล้านบาท แต่อาจจะไม่ได้เพิ่มในลักษณะนี้ทุกปี เนื่องจาก ปัจจุบันอัตราการเกิดของประชาชนลดลง คือ เมื่อ ครม.เริ่มอนุมัติค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ ในปีการศึกษา 2553 รัฐใช้เงินงบประมาณอยู่ที่ 64,000 ล้านบาท และปัจจุบันงบประมาณที่ใช้สนับสนุนเรื่องนี้ อยู่ที่ 55,000 ล้านบาท” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อรายงานนี้ได้ผ่านการพิจารณาจาก รมว.ศธ.แล้ว จะต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งในส่วนของ สกศ.เองเราได้จัดทำงานวิจัยเพื่อรองรับเรื่องนี้ รวมถึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้วย