กว่า 2 ปีท่ามกลางสภาวะฉุกเฉิน การศึกษาถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่บนหน้าจอออนไลน์ แม้ว่าความยากลำบากของปัญหาการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปัญหาสุขภาพจิตของผู้เรียนจะถูกนำเสนอผ่านหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ดีเพื่อขุดลึกถึงรากของปัญหาการศึกษาออนไลน์ สารคดี ‘โตมากับจอ’ สารคดี 8 ตอน สะท้อน 8 ปัญหาการศึกษาไทยภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยจับอารมณ์ และฉายให้เห็นภาพบาดแผลของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางการศึกษาอย่างชัดเจน
สารคดีเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทยชุดนี้เป็นความร่วมมือของ Eyedropper Fill กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และเว็บไซต์ The101.world โดยนำเสนอประเด็นเรื่องการเรียนออนไลน์ที่สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย โดยใช้การถ่ายทำออนไลน์ 100% แล้วนำเสนอออกมาในรูปแบบสารคดี 8 ตอน
‘101 (mid)night round: ‘โตมากับจอ’ กะเทาะปัญหาการศึกษาไทย’ วงเสวนาออนไลน์จึงได้เชิญชวนตัวละครในสารคดี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยถึงภาพปัญหาการศึกษาออนไลน์ และทางออกของหล่มลึกด้านการศึกษา ร่วมวงเสวนาโดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรองประธานมูลนิธิ Thai Civic Education, แม่บี – มิรา เวฬุภาค คุณแม่และผู้ร่วมก่อตั้ง mappa และ Flock Learning องค์กรด้านการศึกษา, วิว – มุกริน ทิมดี นักศึกษาผู้ดรอปเรียนออนไลน์ หนึ่งในตัวละครจากภาพยนตร์สารคดี School Town King ร่วมด้วยวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย, จิรเมธ โง้วศิริ และนภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม ผู้กำกับสารคดีโตมากับจอ
เสียงสะท้อนของปัญหาการศึกษาไทย
วงสนทนาเริ่มต้นด้วยการพาไปเข้าใจภาพรวมของปัญหา ผ่านผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาอย่างใกล้ชิด ภูมิศรัณย์กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 เปิดพรมให้เห็นถึงปัญหาที่ซุกซ่อนในการศึกษาไทย ฉายชัดถึงความเหลื่อมล้ำ ทั้งในด้านความแตกต่างของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาระหว่างโรงเรียน และความแตกต่างของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาระหว่างครอบครัว
ภูมิศรัณย์ชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ เนื่องจากการขาดทรัพยากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเปราะบางและกลุ่มเด็กรอยต่อ ได้แก่ เด็กที่อยู่ระหว่างชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 หรือ ม.3 ขึ้น ม.4 ซึ่งมักเป็นช่วงชั้นที่ผู้เรียนมีการย้ายโรงเรียน ทำให้ยากต่อการติดตามของคุณครูและเอื้อให้เกิดการหลุดออกนอกระบบจนนำไปสู่การสูญเสียโอกาสพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงวัยเรียน
ประเด็นนี้ส่งผลสืบเนื่องไปยังความสูญเสียทางเศรษฐกิจในอนาคต ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาสุขภาพจิต สถิติการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ และบาดแผลทางด้านจิตใจของกลุ่มเด็กและเยาวชนในระยะยาว ยิ่งในกลุ่มเด็กกำพร้าที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทยพบว่ามีเด็กกำพร้าในลักษณะดังกล่าวเกือบ 500 คนและมีการวิเคราะห์ว่าเด็กกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบหลายมิติ เนื่องจากขาดคนเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด
ต่อประเด็นนี้ อรรถพล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรองประธานมูลนิธิ Thai Civic Education เห็นด้วย และร่วมตั้งคำถามถึงปัญหาด้านการจัดการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา
“สุดท้ายความรับผิดรับชอบทางการศึกษาเป็นเรื่องของใคร ตอนนี้เราปล่อยให้ทุกครอบครัวดิ้นรนด้วยตัวเองและปล่อยให้ครูที่อยู่ปลายทางของการตัดสินใจต้องเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้า พอตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ทั้งหมด ปัญหาก็แค่ผ่านไปตรงหน้าและปล่อยให้พังลง” อรรถพล กล่าว
เขาชี้ว่าการจัดการศึกษาไทยมีปัญหาด้านความรับผิดรับชอบ (Accountability) กล่าวคือไม่มีองค์กรที่แสดงบทบาทรับผิดรับชอบในการทำงานอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลต่อปัญหาด้านอำนาจหน้าที่ (Authority) ในการบริหารจัดการการศึกษา เตรียมพร้อม และเยียวยาด้านการศึกษา และปัญหาด้านอิสระในการบริหารจัดการ (Autonomy) ของผู้ทำงานหน้างาน
เขาขยายความว่าถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะกล่าวว่าโรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่กฎระเบียบในระดับเขตพื้นที่ หน่วยงานต้นสังกัด และอำนาจเชิงวัฒนธรรมภายใต้ความไม่เชื่อใจกันเป็นเวลานาน กลับไม่สนับสนุนให้มีอิสระในการตัดสินใจอย่างเพียงพอ รวมถึงยังมีปัญหาการเชื่อมโยงประสานงานกลไกในการทำงานขององคาพยพด้านการศึกษา (Alignment) เช่น เรื่องซิมช่วยเรียนที่หลายโรงเรียนยังไม่ได้รับ แม้จะมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ อรรถพลยังตั้งคำถามว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมามีการใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนนโยบายหรือตัดสินใจมากน้อยเพียงใด หรือเป็นการลองผิดลองถูกของคนทำงาน เขากล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คณาจารย์สาขาเทคโนโลยีการศึกษาจำนวนมากที่มีองค์ความรู้ไม่ถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านการเรียนรู้ตั้งแต่ในระดับวางนโยบาย แต่กลับต้องเป็นฝ่ายตั้งรับจากโรงเรียน
อรรถพลยังเสริมจากภูมิศรัณย์ว่านอกจากเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ยังมีชื่อในโรงเรียน แต่ไม่ได้เข้าสู่การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากต้องผันตัวไปเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว โดยยกตัวอย่างนักเรียนที่จะต้องไปขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารระหว่างที่ฟังชั้นเรียนออนไลน์ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่คุณครูผู้สอนเจอบีบคั้นจากการถูกเร่งปรับตัวและระบบการทำรายงานจนนำไปสู่การลาออกและภาวะซึมเศร้าของคุณครู ขณะเดียวกันปัญหาเกี่ยวกับบทเรียนที่ไม่ได้ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมต่อการเรียนออนไลน์ และไม่ได้เอื้อกับผู้เรียนทุกคนให้เข้ามาเป็นเจ้าของห้องเรียนร่วมกัน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญต่อผู้เรียน
“ผมตกใจมากกับการผ่านงบในปีงบประมาณที่ผ่านมา สุดท้ายแม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการก็เสนองบตามแผนงบแบบเดิมของตัวเอง ด้วยโครงการแบบเดิม แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องการช่วยเยียวยาโรงเรียนและสถานการณ์โควิดเลย” อรรถพลกล่าวถึงท่าทีของกระทรวงศึกษาธิการ
วงสนทนาขยับมาที่แม่บี ผู้ปกครองที่ต้องรับความเปลี่ยนแปลงจากการเปิด-ปิดโรงเรียน เธอเกริ่นว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนจากการเรียนรู้ทางไกล (remote learning) เข้าสู่การเลี้ยงดูทางไกล (remote parenting) แทน เนื่องจากผู้ปกครองจำเป็นต้องกลับไปทำงาน ขณะที่ลูกยังต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ทำให้หลายครอบครัวต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูแลความปลอดภัยลูก หรือฝากไว้กับปู่ย่าตายายที่ไม่พร้อมดูแลด้านการศึกษา ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นค่าอินเทอร์เน็ตหรือค่าชุดตรวจ ATK ในขณะที่ผู้ปกครองหลายคนต้องเผชิญการลดเงินเดือนหรือตกงาน
“เพื่อนคนหนึ่งของเราเคยพูดพูดว่าระบบการศึกษาไทยเหมือนกระเชอก้นรั่ว ตัวระบบการศึกษาเป็นภาชนะและปัญหาเหมือนรอยรั่ว เด็กๆ ก็ร่วงหล่นมาจากภาชนะ ทีนี้ก็มีหลายหน่วยงานมาช่วยอุดรอยรั่ว เพื่อกันไม่ให้เด็กๆ ร่วงหล่นลงมา โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าปัญหาอยู่ที่รอยรั่วหรืออยู่ที่ภาชนะกันแน่
“โควิด-19ถามเราว่าเป็นภาชนะหรือเปล่าที่ต้องปรับและเปลี่ยน เพื่อให้รองรับการร่วงหล่นของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้”
แม่บีตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และยังกล่าวว่าในการทำงานของmappaแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ เธอพบว่ามีผู้ปกครองหลายคนที่ลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาด้วยกันเอง แต่ก็ไม่สามารถเอื้อมไปถึงทุกคน เนื่องจากมีกำลังไม่มากพอ
วิว นักศึกษาผู้ดรอปเรียนออนไลน์ อีกหนึ่งเสียงที่สำคัญของระบบการศึกษา เปิดใจว่าเธอเป็นคนเดียวในรุ่นจากเด็กชุมชนคลองเตยทั้งหมดที่ตัดสินใจเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางทฤษฎี ในขณะที่เพื่อนหลายคนเลือกไปต่อสายอาชีพ เพื่อฝึกทักษะและมีรายได้จากการฝึกงาน แต่สิ่งที่ทำให้เธอยืดหยัดที่จะเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเรียนต่อในมหาวิทยาลัยก็เพื่อความฝันจะรับราชการ อันหมายถึงเงินเดือนที่มั่นคงและสวัสดิการที่ดูแลคนในครอบครัว แม้เธอเองจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม
วิวเปิดฉากชีวิตว่าเธอเลือกไม่ศึกษาต่อคณะมนุษยศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เนื่องจากปัญหาคุณแม่ป่วย หลังจากนั้นเธอตัดสินใจเรียนต่ออีกครั้งในคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี แต่เมื่อทราบว่าต้องเรียนออนไลน์ 100% ด้วยปัญหาด้านอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่อาจจะได้ไม่เต็มที่ เธอจึงตัดสินใจดรอปเรียนและกลับมาทำงานซักรีด ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว เพื่อรอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นก่อนกลับไปเรียนอีกครั้ง
“ถ้าถามว่าหนูเสียใจไหม หนูก็เสียใจ วิวรู้สึกว่าเด็กที่รุ่นราวคราวเดียวกัน เขาอยากเรียนเยอะ แต่เศรษฐกิจแบบนี้บางครอบครัวก็คิดว่าการส่งให้ลูกเรียนไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก พ่อแม่บางคนไม่มีเงิน เขาก็บอกว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ในเมื่อบางคนเรียนจบมา ไม่ได้ทำงานตามหลักสูตรที่เราเรียน”
วิวเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่ามีเพื่อนคนอื่นที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันตัดสินใจไปเข้ามหาวิทยาลัยเปิดแทน เพื่อเอาเวลาในการเรียนไปทำงานเพื่อจุนเจือครอบครัว แต่เธอยังมีภาระการทำงานและต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยจึงรอให้พร้อมก่อนจึงจะกลับไปเรียนอีกครั้ง
“ตอนนี้วิวมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว และแม่ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว ความฝันของวิวก็เริ่มเดินหน้าต่อไป วิวเลยอยากกลับไปเรียนต่อ” เธอกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนจะเสริมว่าหากได้รับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐผ่านทุนการศึกษาจะช่วยให้เด็กที่ประสบปัญหาอย่างเธอได้กลับไปเรียนอีกครั้ง โดยเธอคำนวณว่าหากได้ทุนการศึกษาประมาณ 20,000 บาทจะช่วยเหลือครอบคลุมทั้งในด้านค่าเทอม เงินแรกเข้า และค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนได้
เรียนรู้ผ่านเลนส์ระหว่างสารคดี #โตมากับจอ
วงพูดคุยขยับมาที่ประสบการณ์และความรู้สึกของผู้กำกับสารคดีโตมากับจอ วรรจธนภูมิพบว่าการสวมประสบการณ์ร่วมเพื่อเข้าใจตัวหลักของเรื่องที่เผชิญปัญหาการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทำออนไลน์ทั้งเรื่องนั้น ทำให้รู้ว่าที่เคยคิดว่าง่ายกลับยากกว่าที่คิด เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์กับทีมงานระหว่างการทำงาน ไม่สามารถสังเกตการสื่อสารผ่านภาษากายของผู้ถูกสัมภาษณ์ และจำต้องใส่พลังเพื่อรักษาความสนใจให้จดจ่อกับประเด็นที่ตัวละครพูดอยู่มากยิ่งขึ้นจนเกิดอาการล้า และเผชิญความเครียด
เขาพบว่าการจ้องหน้าจอส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายอยางชัดเจน อย่างไรก็ดีเขาได้เรียนรู้จากข้อจำกัดการถ่ายทำออนไลน์ว่าการใช้ภาพลักษณะ found footageที่ถูกถ่ายโดยตัวผู้ถูกสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวิดีโอหลบวัวกลัวโดนขวิดตอนหาเดินตามหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต, ภาพบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ช่วยถ่ายทอดให้ผู้ชมสามารถเข้าสู่โลกของตัวละครในสารคดี และเข้าใจมุมมองและวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างแท้จริง
จิรเมทเสริมว่าในฐานะคนทำสื่อ สารคดีชุดนี้สร้างความท้าทายในแง่ของผลลัพธ์และกระบวนการในการผลิต เพื่อที่จะสื่อสารข้อมูลและอารมณ์ให้สมบูรณ์เหมือนเดิม หรือกระทั่งเกิดคำถามตลอดกระบวนการถ่ายทำว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องสื่อสารในลักษณะเดิม จึงนับเป็นคำถามต่อความท้าทายของสื่อในอนาคตที่ต้องถกกันต่อ ในขณะเดียวกันตลอดการถ่ายทำช่วยทำให้เขาตกตะกอนถึงความสำคัญของทักษะการเรียนรู้ Learning how to Learn ซึ่งมีประโยชน์และเป็นหนึ่งในสกิลสำคัญสำหรับการอยู่ต่อไปของมนุษย์ในอนาคต เพื่อที่จะเติบโตก้าวข้ามผ่านปัญหาและมีชีวิตต่อไป
ขณะที่นภสินธุ์ผู้กำกับในตอนHurt at first sight ‘ออนไลน์คลาสแรก…หัวใจก็แตกสลาย’ ว่าด้วยเรื่องสุขภาพจิต และตอนLost Generation ‘วัยมัธยมที่สูญหาย ทำได้เพียงแค่คิดถึง?’ ว่าด้วยช่วงวัยชีวิตมัธยมที่หายไป ถ่ายทอดมุมมองว่าในระหว่างการถ่ายทำถึงแม้วัยรุ่นวัยเรียนจะเผชิญความเครียด แต่การได้พูดคุยกับพวกเขากลับได้เห็นพลังใจ ความไม่ย่อท้อจนส่งมาเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไปของทีมงานเช่นกัน
ทางออกของหล่มการศึกษาไทย
ช่วงท้ายของบทสนทนาชวนพูดคุยถึงทางออกของหล่มการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและจากปัญหารากลึกของการศึกษาก่อนหน้าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ภูมิศรัณย์กล่าวว่า เบื้องต้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฉีดวัคซีนและการพยายามที่จะกลับไปเรียนในระบบโรงเรียนปกติ เขาชี้ว่ากลุ่มนักเรียนช้างเผือก ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีความพยายามมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่มีความขัดสนทางทรัพยากร เช่น กรณีของวิวเป็นกลุ่มที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมต้องให้ความช่วยเหลือ ทาง กสศ. เองก็พยายามให้ความสนับสนุน ทั้งผ่านการให้ทุนการศึกษา และการทำงานร่วมกับสื่อเพื่อสะท้อนภาพของเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาสู่สังคม อย่างสารคดีโตมากับจอและภาพยนตร์สารคดี School Town King
เขาให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฟื้นตัวรูปตัว K (k shaped recovery) กล่าวคือการฟื้นตัวหลังโควิด-19 จะมีกลุ่มคนที่ปรับตัวและมีความพร้อม ผู้เรียนสามารถพัฒนาไปในขาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มคนที่ไม่มีความพร้อม ขาดทรัพยากรในการเรียนรู้จะพบกับความยากลำบาก และจะทำให้เกิดช่องว่างในการเรียนรู้ เมื่อกลับเข้าสู่ชั้นเรียน คุณครูจะจัดการเรียนการสอนได้ยากขึ้น ในการแก้ปัญหาระยะยาวจึงต้องพยายามรักษาความสมดุล ให้ความสำคัญกับกลุ่มด้อยโอกาสที่ขาดทรัพยากรมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการฟื้นฟูความรู้
โดยในต่างประเทศมีกระบวนการฟื้นความรู้หลายวิธี ได้แก่ การเพิ่มชั่วโมงติว หรือการจัดชั้นเรียนพิเศษตอนเย็นหรือช่วงซัมเมอร์ การเพิ่มนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาในประเด็นปัญหาอารมณ์และสังคมของวัยรุ่น กรณีของประเทศไทยมีการเพิ่มครูแนะแนวและเสริมความรู้ด้านจิตวิทยาการแนะแนวให้กับครูประจำชั้นหรือครูในชั้นเรียน เพื่อช่วยเป็นที่พึ่งทางจิตใจของนักเรียน
นอกจากนี้ ภูมิศรัณย์ยังคาดการณ์ว่าการเรียนรู้ในอนาคตจะเป็นการเรียนแบบผสมผสาน (blended learning) ทั้งการเรียนออนไลน์และการเรียนในชั้นเรียน และมีแนวโน้มที่จะให้อิสระในการตัดสินใจของโรงเรียน (autonomy) มากขึ้น เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าได้
ด้านอรรถพลกล่าวว่า การศึกษาเป็นองคาพยพที่ใหญ่และมีตัวละครจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง ควรจะเริ่มจากการยอมรับ รับฟังเสียงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและตระหนักว่าในวันนี้การศึกษาไทยมีปัญหา เพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามถึงบทบาท อำนาจหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบในเชิงระบบ และผลักดันไปสู่แนวทางการจัดการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว ยืดหยุ่น เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
“เรื่องใหญ่หลังโควิดคืออย่ากลบฝังปัญหา อย่าคิดว่าตัวเองกำลังตื่นจากฝันร้าย หากคิดว่ากลับมาโรงเรียนอีกครั้งหลังโควิด คุณจะกลับไปทำแบบเดิม ผมว่าอันนี้จะยิ่งเป็นปัญหาที่หนักกว่าเดิม”
อรรถพลกล่าวว่าปัจจุบันผู้เรียนได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากเรียนออนไลน์ พวกเขามีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็คุ้นชินกับการสื่อสารผ่านการพิมพ์มากกว่าพูด เกิดภาวะห้องเรียนเงียบกว่าปกติ มีภาวะความเครียดและบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนเดิม เช่น เด็กมหาวิทยาลัยมีความโกรธมากขึ้นและหมดความรู้สึกยึดโยงกับสถาบันของตัวเองกันมากขึ้น เนื่องจากสิ้นหวังกับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยภายใต้สถานการณ์โควิด เป็นต้น
สำหรับประเด็นการฟื้นฟูการเรียนรู้ อรรถพลเสนอให้มีการเรียนการสอนซ่อมเสริมผ่านการจัดทำนโยบายจ้างงานบัณฑิตด้านคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่ผ่านการฝึกสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกำลังรอที่จะสอบบรรจุ เข้ามาเสริมทีมสำหรับโรงเรียนที่มีความจำเป็นที่จะต้องหาคุณครูเพิ่มเติมเพื่อประกบเด็กเป็นรายบุคคล โดยโครงการลักษณะนี้จะเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เรียนและกับบัณฑิตที่ยังว่างงาน
แม่บีในฐานะผู้ปกครองชวนตั้งคำถามกลับว่าหากจะหาทางออกด้านการศึกษา แนวทางนั้นกำลังทำเพื่อรักษาระบบการศึกษาหรือคนที่อยู่ในระบบการศึกษา หลายครั้งการกังวลว่าเด็กจะเรียนไม่ทัน เธอกลับอยากถามว่าสังคมกำลังกลัวไม่ทันอะไรในสถานการณ์ที่มีความยากลำบาก และมนุษย์จะต้องก้าวข้ามปัญหามากมายในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจว่าเด็กจะได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์นี้
“learning loss ที่แท้จริง ไม่ใช่ learning loss จากระบบการศึกษา แต่กำลังเป็น learning loss ที่เราไม่เห็นคนที่กำลังลำบากหรือสถานการณ์ที่ทุกคนเผชิญทุกปัญหากันอยู่ตอนนี้”
แม่บีกล่าวว่าสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐคือโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น อินเทอร์เน็ตที่ควรจะกระจายให้เด็กทุกคนได้รับ และความร่วมมือระหว่างเครือข่ายทั้งภาครัฐ โรงเรียน ผู้ปกครอง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหาการศึกษา
นอกจากนี้เธอยังเสริมว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนมากกับการศึกษาในอนาคต หากภาครัฐสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่กล่าวไปข้างต้น และสนับสนุนทุนในการพัฒนางานด้าน EdTech ในหัวข้อที่หลากหลาย ไม่ซ้ำกับการให้ทุนในอดีตหรือให้ทุนผลิตแพลตฟอร์มที่คล้ายกับแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว เมื่อรวมกับงานด้าน EdTech ที่สร้างสรรค์จากทั่วโลกก็จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาที่ดีได้
ขยับมาที่ทีมผู้กำกับ วรรจธนภูมิกล่าวว่าสิ่งที่คนทำสื่อพอทำได้เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการศึกษา คือการสื่อสารเรื่องนี้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะสื่อสารให้เห็นถึงเสียง ชีวิต และความเจ็บปวดของมนุษย์ที่เผชิญปัญหาทางการศึกษา เขามองว่านอกจากจะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหา ยังเป็นการเสริมพลังให้คนที่เจอปัญหาเดียวกันไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
“ภาพรวมอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา จริงๆ แล้วผู้ที่รับผิดชอบสิ่งนี้อย่างภาครัฐ ไม่ค่อยมองคนในประเทศเป็นคนเท่าไหร่ ไม่ค่อยมองคนในประเทศเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีความทุกข์ยาก เลยรู้สึกว่าหน้าที่ในการทำสื่อคือจะต้องพูดประเด็นปัญหาเหล่านั้นผ่านความเป็นมนุษย์ โดยหนังทำหน้าที่เชื่อมโยงความรู้สึกร่วมของความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน” วรรจธนภูมิเชื่อว่าหากสังคมมีการพูดถึงประเด็นการศึกษาเยอะขึ้นจะนำไปสู่การขับเคลื่อนบางอย่างต่อไปในอนาคต
ขณะที่นภสินธุ์เสริมว่านอกจากการสื่อสารในฐานะคนทำสื่อ หัวใจหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางออกจึงเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ และการจัดสรรสวัสดิการให้เข้าถึงประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
ประเด็นขบคิด – ชวนติดตามสารคดีโตมากับจอ
วงเสวนาช่วงท้ายผ่านคลับเฮ้าส์ ได้มีผู้ฟังได้ร่วมหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อสังเกตท่าทีขององค์กรด้านการศึกษาที่ไม่ช่วยสนับสนุนต่อการเรียนรู้ผู้เรียน เช่น การตอบแชทของ ทปอ. ต่อกรณีนักเรียนติดเชื้อโควิด ทำให้ไม่สามารถไปสอบได้ และตั้งข้อสังเกตถึงช่องทางที่ภาคประชาชนจะสะท้อนการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานการศึกษาโดยตรง
อรรถพลเห็นด้วยว่าเป็นโจทย์สำคัญในการมีช่องทางที่จะนำเสียงสะท้อนไปสู่หน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษา และองค์กรเหล่านี้จะต้องเข้าใจบทบาท เห็นอกเห็นใจคนที่กำลังเผชิญความทุกข์ด้านการศึกษา และเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน นอกจากนี้เขายังมองว่าการศึกษาจะยังต้องมีการจัดเพื่อให้เด็กจำนวนมากได้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ใช่ปล่อยให้ปัจเจกดิ้นรนเข้าถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมย้ำว่าการมีประชาธิปไตยจะช่วยให้เสียงของคนมีความหมายต่อการทำงานของภาครัฐ
ภูมิศรัณย์กล่าวว่าได้รับประโยชน์จากการรับฟังผู้เข้าร่วมเสวนาและผู้ฟัง ในฐานะคนทำงานด้านการกำหนดนโยบาย เขาจะนำความเห็นไปใช้ในการทำงานผลักดันนโยบายด้านการศึกษาต่อไป
แม่บีทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามเหมือนกับในสารคดีว่าอะไรคือสิ่งสำคัญระหว่างชีวิตกับคะแนน เธอย้ำว่าการศึกษาและการเรียนรู้สำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ หากต้องการให้หลายชีวิตดำเนินไปได้ ควรจะนำชีวิตเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เวลาครอบครัวและผู้เรียนได้แก้ปัญหาชีวิตก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการสอบวัดระดับกันอีกครั้ง
ขณะที่ทีมผู้กำกับ วรรจธนภูมิ, จิรเมธ และนภสินธุ์ ได้ฝากติดตามสารคดีโตมากับจอที่จะช่วยขยายเข้าใจปัญหาการศึกษาไทยที่กำลังเผชิญอยู่ให้ไปถึงผู้คนในวงกว้าง จิรเมธยังเสริมว่าในฐานะคนทำสื่อต้องการให้วงการสื่อไทยเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในแง่ของการมีสื่อใหม่ๆ มีสารคดีใหม่ๆ เพื่อให้สารคดีมีพื้นที่ในตลาด เพิ่มจำนวนบุคลากรที่ทำงานสารคดี และเนื้อหาคอนเทนต์ที่ดีมากขึ้น
ปิดท้ายที่วิว หนึ่งในตัวละครในสารคดีตอนที่ 2 Left Behind Dream ‘ฝากฝันไว้ข้างฝา’ ฝากติดตามรับชมสารคดีโตมากับจอ
“ในทุกเรื่องราวเป็นเรื่องจริงที่ไม่ได้ปรุงแต่ง เป็นชีวิตจริงๆ ของวิวเลย พอดูตัวเองในสารคดีแล้วเหมือนเราได้มองว่าในแต่ละวันเราเติบโตแบบไหนและกว่าเราจะผ่านมันมา เราต้องเจออะไรมาบ้าง การดูสารคดี ไม่ว่าจะเป็นของวิวหรือว่าของคนอื่น วิวคิดว่าจะได้แลกเปลี่ยนความคิดและความแตกต่างค่ะ”