ทุนสายอาชีพเปลี่ยนทางชีวิต จากถนนแรงงานสู่วิทยาลัย มุ่งใช้ความรู้ตอบแทนสังคม

ทุนสายอาชีพเปลี่ยนทางชีวิต จากถนนแรงงานสู่วิทยาลัย มุ่งใช้ความรู้ตอบแทนสังคม

วางแผนทำงานโรงงานหลังจบ ม.6 แต่วันนี้ได้ใช้ความสามารถพัฒนาเครื่องจักรการเกษตรช่วยเหลือชุมชน

หลังจบ ม.6 เป้าหมายของเด็กส่วนใหญ่ย่อมหนีไม่พ้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ตนสนใจ แต่ ‘ดุ๊ก’ ภรากรณ์ ฦาชา กลับเลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทางสู่การเรียนสายอาชีพ ด้วยเชื่อว่าเมื่อเรียนจบออกมาแล้วจะมีงานให้ทำแน่นอน ขณะที่เขาค้นพบแล้วว่าตัวเองรักชอบในงานช่าง จึงไม่คิดรอช้า เมื่อได้รู้ว่าบทเรียนที่เน้นการปฏิบัติในห้องเรียนสายวิชาชีพ จะช่วยขัดเกลาความสามารถให้เขาตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อมุ่งตรงสู่การประกอบอาชีพที่ได้เลือกไว้

ดุ๊กเล่าถึงจุดเปลี่ยนให้เบนเข็มมาเรียนสายอาชีพว่า ก่อนจบ ม.6 ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน รวมถึงทิศทางที่เป็นไปได้หากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เขาพบว่าตัวเองชอบงานช่าง และเคยฝึกฝนลองทำด้วยตัวเองมาตลอด แล้วพอเห็นว่าการได้เรียนสายอาชีพจะทำให้เขาได้อยู่กับสิ่งที่สนใจทุกๆ วัน ทั้งยังมีโอกาสได้ทำงานตรงสายกับสิ่งที่เรียนมากกว่า ดุ๊กจึงคิดว่าการเรียนสายอาชีพเหมาะสมกับเขา

ย้อนไปก่อนหน้านั้น เส้นทางชีวิตของดุ๊กเกือบต้องเลี้ยวไปอีกทางหนึ่ง เพราะเกือบไม่ได้เรียนต่อ ด้วยฐานะทางบ้านที่เป็นอุปสรรค เขาเล่าว่าหลังแม่เสีย พี่สาวของดุ๊กต้องกลายมาเป็นเสาหลักของบ้าน ทำงานส่งเสียน้องๆ อีก 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเขา

“ตอนนั้นผมเริ่มคิดแล้วว่าอาจไม่ได้เรียนต่อ ดูไม่มีวี่แววเลยว่าที่บ้านจะส่งเสียไหว ก็เริ่มมองแล้วว่าหลังจบ ม.6 คงต้องไปหางานทำในโรงงาน อย่างน้อยให้พอเลี้ยงตัวเองได้ก่อน เป็นช่วงเดียวกับที่มีอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิเข้ามาแนะแนวทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงให้รู้จัก ผมเลยสนใจ ลองทำเรื่องสมัครเข้าไป แล้วก็ได้รับเลือก ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนต่อ”

ดุ๊กจึงเข้ามาเป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ระดับชั้น ปวส. ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ แผนกช่างกลการเกษตร

 

งานจิตอาสาของหนุ่มนักกิจกรรม

แม้จะพอมีพื้นฐานด้านงานช่าง แต่ดุ๊กบอกว่าการเข้ามาเรียนสายช่างจริงๆ หลังจากที่จบสายสามัญมาก่อน ทำให้ทุกอย่างเหมือนต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เขาต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ แต่แทนที่จะกลายเป็นปัญหา ดุ๊กกลับบอกว่าชีวิตใหม่ในวิทยาลัยกระตุ้นให้เขาอยากเรียนดีขึ้น รอบคอบกับการใช้จ่ายและมีวินัยในตัวเองมากขึ้น จนรู้สึกได้ว่าตัวเองเติบโตขึ้นมากภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี รวมถึงสามารถรักษาระดับเกรดเฉลี่ยได้ที่ 3.3-3.5

“การได้ทุนเปลี่ยนชีวิตผมมาก ทำให้ได้เรียนต่อ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินเรียนจนจบ และที่สำคัญคือทำให้ผมอยากทำเกรดให้ดี ประคองตัวเองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายที่ต้องทำบัญชีอย่างละเอียดทุกเดือน เพราะผมรู้ว่าเงินทุกบาทที่ได้รับมีจุดมุ่งหมายให้ผมได้เรียนหนังสือ พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และเรียนจบไปทำงานที่เป็นประโยชน์เพื่อตอบแทนสังคม”

ความคิดดังกล่าวทำให้ดุ๊กกลายเป็นนักกิจกรรมซึ่งอาสาช่วยงานทุกอย่างที่ทำได้ เขาเป็นรองประธานชมรมกิจกรรม ดูแลงานด้านเอกสาร บริหารงานสหกรณ์ของวิทยาลัยที่ขายของช่วงกลางคืนให้กับนักศึกษาที่พักในวิทยาลัย รวมถึงยังร่วมกับเพื่อนๆ ทำแปลงเกษตรปลูกผัก นำผลผลิตไปขายในชุมชน สร้างทั้งรายได้เสริม และเป็นพื้นที่คิดค้นพัฒนาเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรใหม่ๆ ซึ่งสร้างประโยชน์ต่อยอดไปยังเกษตรกรในท้องถิ่นได้อีกด้วย

 

ผลงานที่ 4 ระดับภาค นวัตกรรมแห่งความภูมิใจ ที่ได้นำกลับมาช่วยพัฒนาชุมชน

เมื่อได้ใช้เวลากับสิ่งที่สนใจตลอดสองเทอมการศึกษา ความรู้ที่สั่งสมจึงเปลี่ยนแปรเป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่นักเรียนช่างกลการเกษตรคนนี้ได้นำไปคว้าอันดับ 4 ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2562 พร้อมกับนำความรู้กลับมาถ่ายทอดให้เกษตรกรที่บ้านเกิดได้นำไปต่อยอด กลายเป็นผลงานที่ถูกนำไปใช้จริง ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับเจ้าตัวและเพื่อนๆ อย่างยิ่ง

“โจทย์ตอนนั้นคือสิ่งประดิษฐ์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผมเลยเลือกทำเครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ ควบคุมการทำงานด้วยสมาร์ทโฟน ทีมเรามีกัน 3 คน ก็ช่วยกันคิดว่าสิ่งที่เราทำจะต้องประหยัดพลังงานและใช้งานได้สะดวก สามารถตั้งเวลาทำงานได้ กำหนดปริมาณน้ำได้ และต้องสั่งงานได้จากระยะไกล”

ดุ๊กบอกว่าการได้ไปแข่งคือประสบการณ์ที่เยี่ยมยอด แต่สิ่งที่สร้างความประทับใจและความภูมิใจที่แท้จริงเกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อสิ่งที่เขากับเพื่อนๆ ช่วยกันคิดได้ถูกนำกลับมาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่นของเขา

“ที่วิทยาลัยเรามีกิจกรรมพบปะกับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม เรามีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ นำสิ่งประดิษฐ์ที่เราเอาไปประกวดมาแสดงให้คนที่บ้านของเราได้เห็น ซึ่งพวกเขาสนใจ และได้นำไปถอดแบบทำใช้กันจริงๆ โดยเราเป็นที่ปรึกษา มันทำให้พวกเราดีใจว่าสิ่งที่คิดสามารถเพิ่มผลผลิตและช่วยประหยัดต้นทุนให้เขาได้มาก ตั้งแต่แปลงผักสวนครัวเล็กๆ ไปจนถึงไร่หรือสวนขนาดใหญ่”

และจากจุดเริ่มต้นตรงนั้น ดุ๊กกับเพื่อนจึงนำมาขยายผลจนได้เป็น ‘เครื่องสีข้าว’ พลังงานแสงอาทิตย์ตามมา ซึ่งก็สามารถทำงานได้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเครื่องสูบน้ำ และกลายมาเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแบ่งเบางานของเกษตรกรในพื้นที่ได้อีกชิ้นหนึ่ง

และนั่นคือเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ใช้ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ เปลี่ยนแปลงชีวิต จากเส้นทางการศึกษาที่คล้ายจะสิ้นสุดลง กลับกลายมาเป็นนักศึกษาช่างกลการเกษตรคนสำคัญ ที่สามารถนำความรู้จากวิทยาลัยมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของเขาได้ เหมือนดังที่เขาบอกว่า ‘การได้เรียนทำให้ผมเติบโตมากขึ้นทั้งในด้านความคิด และเพิ่มพูนด้วยสติปัญหา แล้ววันหนึ่ง สิ่งที่ผมได้รับมาทั้งหมดนี้ จะตอบแทนกลับคืนไปสู่สังคม’

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค