ถ้าได้เจอกลุ่มเด็กที่สักลาย โกรกสีผม หรือระเบิดหูมานั่งใกล้ๆ คุณจะรู้สึกอย่างไร?
กลุ่มที่ถูกสังคมตัดสิน ไม่ยอมรับ กีดกัน เลยต้องปลีกตัวไปรวมตัวกันตามมุมมืดในสังคม เช่นกันกับจังหวัดขอนแก่นที่เคยมีถึง 22 แก๊งตามจุดต่างๆ ในเมือง หาตัวได้ยาก มักจะออกมาตอนกลางคืน สร้างวีรกรรมป่วนเมืองมากมาย ทั้งก่ออาชญากรรม รวมกลุ่มแว้น ใช้ยาเสพติด จากรอยแผลทางใจที่เด็กแต่ละคนมีมาแตกต่างกัน เป็นระยะเวลาอันยาวนานที่สังคมเหมือนมีโลกสองใบ คือโลกทั่วไปที่เราอยู่ กับโลกของเด็กกลุ่มนี้ที่ดูจะไม่มีใครเข้าใจ
ซึ่งถ้าจะหา “ใครสักคน” ที่จะเข้าใจพวกเขาได้มากที่สุด ก็น่าจะเป็นคนที่เคยอยู่ในจุดเดียวกันมาก่อน เขาคนนั้นคือ “ประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ” หรือ “พี่เปี๊ยก มังกรดำ” อดีตหัวหน้าแก๊งผู้หันหลังให้กับเส้นทางสีดำ มาคอยเป็นทั้งผู้นำ เป็นทั้งพี่ชายและเพื่อนที่คอยรับฟัง ปัจจุบันเป็นหัวหน้าผู้ดูแลโครงการบ้าน AF (Academy Family) ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนแห่งขอนแก่นที่เปลี่ยนชีวิตกลุ่มเด็กชายขอบไปมากมาย
เหตุผลที่เลือกเดินในเส้นใหม่
ในบรรดา 22 แก๊งทั่วขอนแก่น “มังกรดำ” ถือเป็นแก๊งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด มีสมาชิกหลักพันคน และทุกคนจะมีรอยสักรูปมังกรดำอยู่กลางหลังเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นสมาชิก โดยมีพี่เปี๊ยกคอยกำกับดูแล
แต่หลังจากที่ต้องสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รักไป ก็เป็นแรงผลักดันให้พี่เปี๊ยกเลือกที่จะเดินเส้นทางใหม่โดยไม่ลังเล
“ตอนท่านยังอยู่ จะถามผมเสมอเลยว่าพอได้มั้ยลูก? เพราะเวลาดูข่าวในทีวีแต่ละครั้ง ท่านก็ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรกับชีวิตผมเมื่อไหร่ กลับไปบ้านครั้งหนึ่ง ผมก็ได้พักแค่วันสองวันก็ต้องระวังตัว ต้องนอนทับปืนตลอดเวลา พอจะออกจากบ้านแม่ก็จะสะกิดดินขึ้นมาโรยหัวให้” พี่เปี๊ยกเท้าความ
ก่อนจะทำการแบ่งแก๊งมังกรดำออกเป็นสองส่วน โดยส่วนที่สองจะเป็นพี่เปี๊ยกนำทีมเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือทุกคนต้องทำตามกฎเดียวกันคือ “ห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ” มังกรดำโฉมใหม่ที่กลับใจ จึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่วันนั้นมา
จุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจมาร่วมงานกับทางเทศบาลนครขอนแก่น
ก่อนหน้านี้พี่เปี๊ยกไม่เคยไว้ใจหน่วยงานราชการเลย ด้วยปัจจัยและมุมมองที่ต่างกัน แต่แล้วเมื่อปี 2552-2553 เขาก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เมื่อทีมงานเทศบาลได้พยายามติดตามเข้าหาเขาอยู่นานกว่า 6 เดือน จนอดีตหัวหน้าแก๊งมังกรดำถามไปว่า “อยากเห็นปัญหาจริงไหม?” ก่อนจะพาทีมงานไปลงพื้นที่ดูปัญหาที่เด็กชายขอบต้องเจอจริงๆ เด็กบางคนเร่ร่อน ไม่มีการศึกษา นอนตามดิน ตามสะพานลอย บางคนก็ขับรถแว้นป่วนเมือง ทะเลาะวิวาท บางคนพ่อแม่ทอดทิ้งไปอยู่ตามศาลาก็มี โดยพี่เปี๊ยกเปรียบเสมือนไกด์นำทางช่วยคัดกรองให้ทีมงานได้เห็นว่าเด็กแต่ละกลุ่มมีปัญหามาจากไหน ถ้ามีแผลตรงไหน ต้องไปรักษาตรงนั้น ไม่ใช่มีแผลที่เท้าแล้วไปรักษาที่มือ
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้มาทำงานกับเทศบาล คือ ใน 6-7 เดือนผมสังเกตพวกเขาตลอดว่าคิดยังไง เมื่อเขาได้เห็นปัญหา ก็เลยพาเขาไปดูปัญหา ดูว่าเขาจะแก้ปัญหายังไง ก็มองภาพรวม เราก็ดูความจริงจังของเขามาตลอด จนกระทั่งรู้สึกว่าเขาเอาจริงละ ที่สำคัญเขาไม่เคยหักหลังผมเลย ก็เลยได้ทำงานร่วมกันมาตลอดหลายปีครับ” พี่เปี๊ยกกล่าว
โดยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นเล่าเสริมว่า ทางเทศบาลสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยการให้พื้นที่พี่เปี๊ยกในการทำงานอย่างเต็มที่ แล้วก็ยึดมั่นในหลักการว่าทำจริงนะ ไม่ใช่วูบวาบทำปีหนึ่งแล้วก็หาย นึกอยากจะทำก็กลับมาทำ เพราะมีโครงการ มีงบประมาณอยู่ในแผนพัฒนาเทศบาลอย่างต่อเนื่อง แล้วเขาเองก็จะเป็นคนนำเสนอเองว่าในปีต่อปีเขาอยากจะทำอะไร โดยมีคนของเราเข้าไปจัดกระบวนการร่วม
“เดิมที่สปอร์ตไลท์พยายามจะหาตัวเขา แต่หาไม่เจอ แต่วันหนึ่งเขาก็มายืนอยู่ท่ามกลางแสงทั้งหมดที่สาดส่องมายังตัวเขา มองเห็นคุณค่าว่าการปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นพลังบวกกับสังคม ตัวเขาเองก็ได้รับการยกย่อง ได้รับการเชิดชู เขาก็ภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำ” นายธีระศักดิ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
เปลี่ยนจาก “แก๊ง” ที่เคยป่วนเมือง มาเป็น “กลุ่ม” ที่มีอาชีพและการศึกษาเป็นแรงผลักดัน
แนวคิดของพี่เปี๊ยกคือการยุบ “แก๊ง” ที่เคยป่วนเมือง ให้กลายเป็น “กลุ่ม” ที่จะดึงคนมารวมกลุ่มทำกิจกรรมด้วยกัน มาทำงานกันในลักษณะของเครือข่าย ด้วยการมองหาจุดเด่นและความถนัดว่าแต่ละคนมีอะไรดี บางคนเก่งเรื่องงานก่อสร้างก็ไปทางก่อสร้าง บางคนเก่งทำอาหาร หรืออื่นๆ พี่เปี๊ยกก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุน ใครมีดีตรงไหนก็เอามาใช้ให้ตรงจุด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคุณครูและสหวิชาชีพต่างๆ มาช่วยสร้างองค์ความรู้ โดยมีเทศบาลเป็นพี่เลี้ยงด้วยอีกแรง
“เขาพร้อมที่จะเลิกคำว่าแก๊ง พร้อมอยู่ดูแลน้องๆ เขาต่อ โดยร่วมมือกับรัฐ จากบางสิ่งที่อยู่ในมุมมืด ตอนนี้ก็เปิดเผยแล้วก็ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง สลายบทบาทความเป็นแก๊งที่มีปัญหาชัดเจน มาเป็นกลุ่มเชิงสัญลักษณ์เพื่อจะดึงคนเอาไว้และมาทำกิจกรรมกับพวกเรา” นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ กล่าว
“นวัตกรรมเนื้อย่าง” เชื่อมโลกสองใบเข้าด้วยกัน
แม้ทีมงานเทศบาลจะหาตัวเด็กกลุ่มชายขอบเจอแล้ว การเข้าไปพบปะแนะนำตัว พูดคุย ทำความรู้จัก อาจจะทำได้ แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจนี่อาจจะยาก เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นคนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด เด็กก็มักจะคิดถึงารใช้กฎหมาย ใช้อำนาจที่เหนือกว่าเข้าไปจัดการเขา จับกุมเขา เขาก็จะมีความระแวงในเรื่องนี้มาโดยตลอด
ดังนั้นกระบวนการที่ทางเทศบาลนำมาใช้คือ “นวัตกรรมเนื้อย่าง” กินเลี้ยงสร้างสัมพันธ์กันในวงเนื้อย่าง กินกับเด็ก คุยกัน จนกระทั่งรู้จักว่าใครเป็นใคร จนเด็กเห็นว่าพี่เขาใส่ใจจริง พยายามที่จะนำเสนอหากิจกรรมบางอย่างทำร่วมกัน เพื่อจะได้พบปะทำความรู้จักกันมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่งเด็กๆ ก็ให้ความไว้วางใจว่าพี่ๆ ว่าเขาพร้อมที่จะให้การดูแล ให้ความช่วยเหลือจริง เป็นการเชื่อมโลกสองใบที่เคยอยู่คนละมุมเข้าด้วยกัน
บ้าน AF ศูนย์กลางที่พักพิงสร้างอนาคตให้เด็กชายขอบ
พอเริ่มคุ้นเคยกันไปในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะมีการคัดกรองเด็กที่เข้าเกณฑ์มาเข้าร่วมบ้าน AF (Academy Family)
ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง โดยจะมีกรอบระยะเวลา 9 เดือน ให้เด็กในรุ่นนั้นๆ ได้ค้นหาตัวเอง ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร มีความใฝ่ฝันจะไปต่อในด้านไหน พอชอบอะไรก็สนับสนุนไปในสิ่งที่เขาชอบและมันใช่ ด้วยการนำหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาช่วยให้ตรงจุด เช่น ถ้าเด็กอยากฝึกวิชาชีพก็จะนำศูนย์ฝึกอาชีพเข้ามาช่วย หรือถ้าอยากจะเรียนต่อก็ส่งเสริมให้เขาเรียน ไปเรียน กศน. ส่วนใครไม่มีที่พักก็สามารถพักที่นี่ได้ด้วย
โดยจะมีหลักสูตรที่หน่วยงานและเครือข่ายมาร่วมมือกัน เช่น อบรมอาชีพ อบรมเรื่องเพศศึกษา เรื่องเอดส์ เรื่องธรรมะ เรื่องกิจกรรมต่างๆ จากนั้นก็จะมีการคัดกรองเด็กที่เหมาะสม ใครที่ไม่มีที่พักก็พักที่นี่ได้ด้วยเป็นบ้านที่จะคอยฟูมฟัก สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้มีอนาคตที่ดีต่อไป ซึ่งทุกวันนี้มีเด็กที่ผ่านกระบวนการบ้าน AF ถึงสองรุ่นด้วยกัน รุ่นปัจจุบันจะเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ มีเด็กอยู่กว่า 30 คน
“พอจบรุ่นเดือนกันยายนนี้ ก็จะมีต่อไปเรื่อยๆ เราตั้งโครงการไว้เพื่อจะพัฒนาแต่ละรุ่นๆ ไป เป้าหมายคือทำทุกปี
ปีนี้ก็ทดลอง 30 คนดู เพราะถ้าใช้แนวทางจากเชิงปริมาณมาพัฒนาสู่เชิงคุณภาพ จากกลุ่มที่เรามีแล้วเข้ามาผ่านกระบวนการพัฒนาแบบนี้ ก็น่าจะได้คนดีกลับไปและกลายเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองที่แท้จริง นี่คือเป้าหมายระยะยาวและปลายทางที่อยากให้เป็น” คุณธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ กล่าว
ความภาคภูมิใจที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้
ด้วยพลังความร่วมมือของพี่เปี๊ยกกับทางเทศบาลขอนแก่น ทำให้ปัจจุบันสามารถ
- สร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กชายไปแล้วกว่า 1,200 คน (ตกปีละประมาณ 300 คน)
- ในจำนวนนี้มีถึง 160 คนที่มีพัฒนาการที่ดีทางการศึกษา สามารถเรียนต่อในระดับต่างๆ แบ่งเป็น
– ม.3 จำนวน 61 คน
– ม.6 จำนวน 32 คน
– ปริญญาตรี จำนวน 3 คน
– อีก 64 คนมีวุฒิการศึกษากับสถาบันอื่นอยู่แล้ว - คนที่ทำวิชาชีพเปิดร้านอาหาร เปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ เป็นผู้ช่วยเทศกิจ รับงานก่อสร้างอีก 44 คน ส่งกลับครอบครัวอีก 17 คน จำนวนรวม 61 คน
“สำหรับหัวหน้าแก๊งบางคนอาจจะหวง พอจำนวนคนที่อยู่รอบตัวลดลง บางคนก็ยอมรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่สำหรับพี่เปี๊ยก เขามีความสุขในแง่ที่ว่าเด็กที่เคยหนีออกจากบ้าน เมื่อเข้ากระบวนการ ทำกิจกรรมกับเรา เด็กก็พร้อมจะกลับบ้าน จำนวนสมาชิกอาจจะร่อยหรอลง เด็กบางคนก็ไปเรียนต่อ เด็กบางคนก็มีงานทำ ดังนั้นในเชิงปริมาณที่เคยนับใครที่จำนวนมันอาจจะลดลง เขาไม่ได้มองเป็นเรื่องลบ สำหรับเขามองเป็นเรื่องบวก ในการที่จะทำให้เด็กพวกนี้กลับมาเป็นคนดี ผมว่าผลงานแบบนี้แหละชัดเจนมากสำหรับเขา” นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ กล่าว
ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. โดยจังหวัดขอนแก่นนับเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่องที่ร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
“การทำงานร่วมกับ กสศ. มีลักษณะของการดูแลเรื่องการศึกษาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีหลากหลายรูปแบบอย่างไร เราเองก็ได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ ฉะนั้นในบางเรื่องถ้าสามารถส่งเสริมกันได้ เราก็ยินดีที่จะรับการส่งเสริมจากทาง กสศ.” นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ “พี่เปี๊ยก มังกรดำ” และ “นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นที่มาร่วมแชร์เรื่องราวและประสบการณ์ในการร่วมสร้างความเสมอภาค สร้างโอกาสทางการศึกษาไปด้วยกัน