สถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษา
ประเทศไทยมีเด็กที่อยู่ในครอบครัวซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยมีทั้งกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงกลุ่มวัยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป
ซึ่งต้องการกลไกที่เข้ามาช่วยเหลือให้มีความพร้อมและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน
โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ จึงเป็นที่มาของการจัดทำ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
ประสิทธิผลการจัดการปัญหาของประเทศ
ปีการศึกษา 2561
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงิน 1,222 ล้านบาท
- ได้จัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ ที่เรียนอยู่ในระดับขั้นพื้นฐานตั้งแต่ ป.1-ม.3 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 26,557 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 711,536 คน
ปีการศึกษา 2562
- ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงิน 2,537 ล้านบาท
- ให้เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขหรือนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 949,941 คน
- ให้ทุนนักเรียนในกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งเรียกว่าทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จำนวน 2,113 คน โดยให้จนกว่าจะจบการศึกษา ทั้งนี้ในการคัดเลือกนักเรียนมารับทุนเป็นการร่วมมือกันหลายฝ่ายโดย กสศ.ทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวะ 36 แห่ง ต้องเสนอหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ หรือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
รุ่นแรกในปี 2562 ให้ทุนการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ปีการศึกษา 2563
- ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงิน 5,496 ล้านบาทเศษ
- ขยายผลการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนอย่างมีเงื่อนไขไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 949,941 คน ครอบคลุมนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น ในสังกัด สพฐ. อปท. ตชด. และ พศ. ทั่วประเทศ
- กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สำคัญได้แก่ นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาล จำนวน 150,407 คน
- การช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและการฝึกทักษะอาชีพตามศักยภาพ จำนวน 55,000 คน ในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี ยะลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ มหาสารคาม นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ระยอง และกาญจนบุรี
- เพิ่มเติมทักษะสมัยใหม่ให้แก่ผู้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมากกว่า 5,000 คน โดยส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพ (ปวส./อนุปริญญา) ประกอบด้วยทุนต่อเนื่อง 2,113 คน และทุนใหม่ 2,500 ทุน รวมถึงการจัดแนะแนว ดูแลสวัสดิภาพ การฝึกงานกับสถานประกอบการ การส่งเสริมการมีงานทำ โดยนักศึกษาทุนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปี 2564 จำนวน 1,000 คน
- สนับสนุนการพัฒนาครูในโรงเรียนขนาดกลางที่มีสัดส่วนนักเรียนด้อยโอกาสเกินครึ่งโรงเรียนครอบคลุม 560 โรงเรียน ในพื้นที่ 60 จังหวัด คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของโรงเรียนประจำตำบล
- โครงการการสร้างครูที่มีคุณภาพ 300 คน เมื่อจบการศึกษาแล้วยินดีที่จะไปสอนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งการคัดเลือกนักศึกษารับทุนจะคัดเลือกจากนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล
- พัฒนาคุณภาพและศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ในลักษณะศูนย์บริการต้นแบบประมาณ 300 ศูนย์ ใน 17 จังหวัด ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 60,000 คน
- การจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนมาตรการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ครอบคลุม 40 จังหวัดตามเป้าหมาย ซึ่งจะแสดงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางพัฒนาการ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ในช่วงวัยที่สำคัญจำนวน 3 ช่วงวัย รวมถึงการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาระดับจังหวัด (Provincial Education Account: PEA) ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลแสดงรายจ่ายด้านการศึกษาในระดับจังหวัดทั้งในส่วนของภาครัฐ ท้องถิ่น ครัวเรือน และภาคเอกชน
ข้อสังเกต
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ น่าเป็นเครื่องมือใหม่ที่มีความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในระยะยาว