ผู้เขียน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
นักวิจัยหัวหน้าโครงการพัฒนาองค์ความรู้และแม่แบบเพื่อการดูแลและสนับสนุนด้านการศึกษา ของเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในกรุงเทพมหานคร กสศ.
การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลกระทบแทบจะครอบคลุมถึงทุกคนในปัจจุบัน ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงทางสุขภาพ การต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ความตึงเครียดและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แม้จะมีคำกล่าวว่าเชื้อไวรัสส่งผลไม่เลือกหน้าไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจน หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนเปราะบางและด้อยโอกาสในสังคมดูจะได้รับความเสี่ยงทั้งในทางสุขภาพและเศรษฐกิจสังคมที่มากกว่าผู้มีฐานะทางสังคม
เด็กเปราะบางด้อยโอกาสและเด็กบนท้องถนน ดูจะเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ชีวิตของพวกเขานอกจากจะพบกับความเสี่ยงทางสุขภาพจากการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตแล้ว การแพร่ระบาดอาจส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาหลังจากนี้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
เมื่อเราพิจารณาความเสี่ยงที่เด็กเปราะบางด้อยโอกาสและเด็กบนท้องถนนจะได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาด อาจกล่าวได้ว่าพวกเขาอาจต้องพบความเสี่ยงหลัก 2 ประการ คือ ความเสี่ยงทางสุขภาพ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสังคม เช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางในเมือง ในสังคม กลุ่มอื่นๆ ที่จะต้องประสบกับความเสี่ยงดังกล่าวในระดับที่รุนแรงแตกต่างกัน
ด้านความเสี่ยงทางสุขภาพ เป็นที่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของเชื้อจะส่งผลให้คนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงทางสุขภาพและความเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มเด็กเปราะบางด้อยโอกาสหรือแม้แต่เด็กบนท้องถนนดูจะเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพที่ค่อนข้างสูง ชีวิตและการหารายได้ของพวกเขาและครอบครัวที่สัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ส่งผลต่อความเสี่ยงทางสุขภาพที่มากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของเด็กและครอบครัวที่มีรายได้วันชนวัน มีอาหารกินมื้อชนมื้อ ก็ดูจะไม่อาจทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงเครื่องมือป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ ในทางเดียวกัน ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการปฏิบัติตัวในภาวะแพร่ระบาดก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่พวกเขาและครอบครัวส่วนใหญ่เข้าถึงได้ไม่มากนัก
ภาวะการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ (Pandemic) ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยของผู้คนเท่านั้น การแพร่ระบาดในระดับดังกล่าวนี้ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่กว้างและลึกด้วยเช่นกัน ในระยะสั้น COVID-19 จะส่งผลให้เกิดการว่างและการขาดรายได้อย่างฉับพลันของแรงงานหลายระดับของสังคมทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์ ครอบครัวของเด็กเปราะบางด้อยโอกาสรวมถึงเด็กหลายคนที่มีรายได้จากการทำงานในพื้นที่สาธารณะหรือเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองต้องประสบกับการขาดรายได้ จากความยากจนและรายได้ที่เพียงพอแต่เดิมจะส่งผลให้ไม่เพียงพอมากยิ่งขึ้น พร้อมกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในระยะกลาง/ยาว ไม่เพียงแต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจและปากท้องจะเพิ่มสูงขึ้นตามความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดเท่านั้น ผลกระทบของ COVID-19 อาจจะทำให้การว่างงานและความยากจนของผู้คนเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ภาคการผลิตและบริการที่เป็นตัวจักรทางเศรษฐกิจอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวที่ยาวนานและอาจปรากฏความเปลี่ยนแปลงในแบบแผนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (supply-chain) ของประเทศอันส่งผลต่อความต้องการทางด้านแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างกว้างขวาง และจะส่งผลกระทบต่อทั้งเด็กเปราะบางด้อยโอกาสและครอบครัวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วง COVID-19 และ Post COVID-19 จะมีแนวโน้มที่ทำให้เด็กเปราะบางด้อยโอกาสมีแนวที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษา (drop out) มากยิ่งขึ้น ความแร้นแค้นและฝืดเคืองที่ครอบครัวของพวกเขาต้องประสบจะส่งผลกระทบต่อทุนทรัพย์ในการเข้าถึงระบบการศึกษา ในทางเดียวกัน เด็กจำนวนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องออกมาทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัวมากขึ้น อันส่งผลต่อการออกจากระบบการศึกษาและความไม่ต่อเนื่องในการรับการศึกษา ในส่วนของเด็กบนท้องถนนที่ใช้ชีวิตหรือมีชีวิตที่สัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ แหล่งงานที่ลดน้อยลงและความช่วยเหลือขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อจำกัดในสถานการณ์แพร่ระบาดและความเข้มงวดในการใช้ชีวิต จะส่งผลให้พวกเขาไม่เพียงแต่จะมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลงจากการขาดรายได้เท่านั้น หากแต่การเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคมทั้งบริการทางด้านสาธารณสุข การเข้าถึงการดูแลด้านการศึกษาและการเรียนรู้ หรือความช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ จะทำให้ชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลงมากยิ่งขึ้นด้วย
ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสังคมดังที่กล่าวมา จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างยากจะปฏิเสธ เฉกเช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่นๆ ของสังคม ที่คนยากคนจนและเด็กเปราะบางด้อยโอกาสต้องพบเจอในระดับที่รุนแรงกว่าคนหลายกลุ่ม
เราควรมีทางออกหรือแนวทางอย่างไรสำหรับเรื่องนี้?
ภายใต้การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ภาพของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แม้จะยังดูไม่ชัดเจนและอาจเรียกได้ว่าอยู่ใน “ภาวะฝุ่นตลบ” หากแต่การวางกรอบแนวทางเพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจสังคมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น
ในระยะสั้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีระบบการสนับสนุนเด็กเปราะบางด้อยโอกาสและครอบครัว รวมถึงเด็กบนท้องถนน ให้สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมให้สามารถผ่านพ้นช่วงแห่งวิกฤตินี้ไปให้ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ตลอดจนเข้าถึงการป้องกันและให้ความรู้ทางสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนว่ายังไม่มีมาตรการของรัฐใดที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กบนท้องถนนโดยเฉพาะ
ความช่วยเหลือของรัฐ เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาทสำหรับแรงงานนอกระบบหรือลูกจ้างรายวัน แม้จะเป็นสิ่งที่ดีและสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของภาครัฐต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง หากแต่วิธีการในการเข้าถึงความช่วยเหลือดูเหมือนจะกีดกันกลุ่มเปราะบางหลายกลุ่มออกไป โดยเฉพาะครอบครัวของเด็กเปราะบางด้อยโอกาสที่ประสบความยากจนที่สุด (extreme poverty) ที่ไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนออนไลน์ การมีบัญชีเงินฝาก หรือระบบพร้อมเพย์ได้ นอกจากนี้ ควรกล่าวได้ว่าลักษณะการจ่ายเงินเป็นรายเดือนอาจไม่สอดคล้องกับชีวิตของลูกจ้างหรือคนทำงานรายวันหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้เพียงวันชนวัน และแทบไม่มีหลักประกันใดในชีวิต รวมถึงมาตรการดังกล่าวก็ไม่ครอบคลุมเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ทำมาหาเลี้ยงชีพหรือช่วยเหลือครอบครัวในการหารายได้ ในทางเดียวกัน ครอบครัวของเด็กเปราะบางด้อยโอกาสจำนวนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการนี้เนื่องจากเป็นคนไทยที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ
นอกจากนี้ เป็นโจทย์ที่ควรคิดต่อไปด้วยว่า หากสถานการณ์ของ Covid-19 ลากยาวออกไปจนถึงช่วงเวลาเปิดเทอม การจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะออกมาในรูปแบบใด? การเรียนการสอนแบบออนไลน์แม้จะเป็นทางออกหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ทางออกของทั้งหมดเพราะจะมีเด็กจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร นี่คือโจทย์ที่อาจจะต้องมีการคิดอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือการสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ในระยะกลาง/ยาว หน่วยงานด้านการศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่งควรมีการจัดทำข้อมูลผลกระทบจาก COVID-19 ของเด็กเปราะบางด้อยโอกาสและครอบครัวโดยละเอียด พร้อมทั้งการออกแบบแพคเกจการช่วยเหลือที่เหมาะสม ครอบคลุม และเพียงพออย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบบเฝ้าระวังการออกจากระบบการศึกษา เพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กซึ่งในส่วนนี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) น่าจะสามารถเข้ามาเติบเต็มด้วย
เช่นเดียวกัน ในกรณีของเด็กบนท้องถนนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นจากสถานการณ์บีบคั้นทางเศรษฐกิจของครอบครัว หน่วยงานด้านการศึกษา เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ควรร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการสำรวจและจัดทำข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในทุกมิติ
นอกจากนี้ เป็นโจทย์ที่น่าคิดต่อไปว่าความต้องการด้านแรงงานและตลาดแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากแบบแผนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างค่อนข้างรวดเร็ว จำเป็นที่จะต้องมีการปรับหลักสูตรการศึกษาด้านอาชีพหรือการสนับสนุนการศึกษาด้านอาชีพที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากไม่เช่นนั้น ภาวะการว่างงานและความเปราะบางทางรายได้จะเป็นสิ่งที่ตามมาในอนาคต
แม้เรายังไม่รู้ถึงจุดสิ้นสุดของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ หากแต่เป็นที่แน่ชัดว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ การวางแผนและนโยบายที่ตั้งอยู่ในฐานข้อมูลและสถานการณ์ที่เป็นจริง จะมีส่วนช่วยชะลอหรือป้องกันความเหลื่อมล้ำที่กำลังเพิ่มขยายขึ้นและเป็นเหตุที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับประชากรบางกลุ่มจนหมดความหวังจากรุ่นสู่รุ่น
อาจนับเป็นโชคดีที่หลายภาคส่วนเริ่มเห็นความสำคัญของผลกระทบดังกล่าวนี้