‘สายอาชีพ’ ให้โอกาสเก็บเกี่ยวชั่วโมงทำงานตรงสายกับสิ่งที่เรียน
หลายคนคิดว่า ‘ประสบการณ์’ เป็นเรื่องของเลขวัย ที่จะบ่งบอกว่าใครมีความชำนิชำนาญในงานมากกว่ากัน แต่สำหรับนักศึกษา ปวส.1 คนหนึ่ง เธอบอกว่า ในมุมมองของเธอ ประสบการณ์คือการ ‘ทำมากได้มาก’ ซึ่งหมายถึง ใครก็ตามที่ทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งที่ตนสนใจมากกว่า หรือมีโอกาสได้ลองเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำมากกว่า สิ่งที่ได้รับกลับมาก็จะเป็นประสบการณ์อย่างหาที่ไหนไม่ได้ โดยไม่สำคัญว่าเจ้าของประสบการณ์จะอายุมากน้อยสักเท่าไร
‘แนน’ รัศมี วงสาสาย นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ชั้น ปวส.1 สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยการอาชีพปากช่อง คือเจ้าของความคิดดังกล่าว และเธอก็ได้สะท้อนความคิดผ่านหลายสิ่งที่ทำ ทั้งการฝึกงานและทำงานพาร์ทไทม์ตั้งแต่เริ่มเรียน ปวช. การเลือกที่จะทำหน้าที่ที่ไม่เคยทำเพื่อซึมซับมุมมองจากตำแหน่งที่แตกต่างในสายงานโรงแรม หรือการลองเข้าแข่งขัน Flair Bartender ทั้งที่มีเวลาเรียนรู้แค่เดือนเดียว
ก่อนจบ ม.3 แนนใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับการเรียนสายอาชีพ แล้วพบว่าตรงกับความต้องการของเธอ ที่อยากเรียนรู้จากการทำงานจริงและเรียนไปด้วย เพราะเธอมองว่า การได้ทำงานพาร์ทไทม์หรือฝึกงานตรงสายกับสิ่งที่เรียนตั้งแต่อายุน้อยๆ เป็นเรื่องจำเป็นกับสายงานที่เธอเลือก
ไขว่คว้าทุกโอกาส เก็บมาไว้เป็น ‘ประสบการณ์’
ด้วยอุปนิสัยของนักสะสมประสบการณ์ แนนจึงมักเลือกตำแหน่งงานที่ไม่เคยทำ เช่นในการฝึกงานครั้งแรกเธอเลือกงานครัว ขณะที่เพื่อนๆ ส่วนใหญ่แย่งกันทำงานเสิร์ฟ เธอบอกว่า “เลือกเพราะอยากลอง แต่ทำไปทำมาก็ชอบ”
การทำงานครัวเป็นผู้ช่วยเชฟฝึกให้แนนต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเพื่อเตรียมของ จนได้รู้ว่าอาหารแต่ละเมนูต้องใช้อะไรบ้าง แล้วเมื่อเชฟเห็นว่าเธอมีความชำนาญในระดับหนึ่ง แนนก็ได้ลองทำบางเมนู แล้วการต้องตื่นเช้ามาเตรียมของ หรือการลองทำเมนูต่างๆ ก็ได้สอนให้เธอตรงต่อเวลา อดทน มุมานะ และมีความรับผิดชอบ
“บางอย่างที่ตอนแรกยังทำได้ไม่ดีเราจะตั้งเป้าหมายว่า ‘ต้องทำให้ได้’ แล้วเราคิดว่าการทำงานที่ไม่เคยทำเท่ากับเราต้องนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ดังนั้นพอเราทำได้มันจะรู้สึกสนุก และจะกลายเป็นทักษะติดตัวต่อไป”
หรืออีกครั้งที่แนนแสดงถึงความใฝ่รู้ในเรื่องไม่เคยลอง กับประสบการณ์การเข้าแข่งขันทักษะวิชาชีพสาขาวิชาการโรงแรม ด้านการผสมเครื่องดื่ม ระดับ อศจ.นครราชสีมา ประจำปี 2562 โดยแนนได้อันดับ 3 ในประเภท Flair Bartender ซึ่งเธอเล่าว่า
“เริ่มจากเป็นหนึ่งในวิชาเรียน แล้วเราสนใจประเภท Flair หมายถึงการแสดงความสามารถในการชงที่เราต้องควงหรือโยนเครื่องมือและขวดไปด้วย ซึ่งมันยากมาก แต่เราชอบความลำบากก็เลยเลือกฝึกทางนี้ แล้วอาจารย์เขาเห็นว่าเราทำได้ ก็เลยส่งไปแข่งดู เราตั้งใจซ้อมมาก มีเวลาแค่หนึ่งเดือนแต่ก็ซ้อมตลอดทั้งที่วิทยาลัยและที่บ้านด้วย ซ้อมจนเจ็บตัวไปหมดเพราะบางทีโยนไปขวดก็หล่นมาโดนขาโดนตัว ก็ช้ำไปหมด แต่สนุกค่ะ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เราได้รับโอกาสมาแล้ว ก็อยากทำให้ดีที่สุด”
มุมมองที่แตกต่าง สร้างทักษะสื่อสารภายในองค์กร
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้แนนมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับ ‘การเรียน’ และ ‘การทำงาน’ เกิดขึ้นกับเธอในช่วงจบชั้น ปวช. เมื่อแนนตัดสินใจว่าจะไม่เรียนต่อ เนื่องจากครอบครัวของเธอไม่พร้อม แต่แล้วก็เป็น ‘ครู’ ที่เปลี่ยนความคิดของเธอ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการเรียน และยื่นโอกาสเรียนต่อมาให้
“ตอนจบ ปวช. ครอบครัวเราสถานะไม่ค่อยดี ก็คิดว่าจบ ปวช.3 น่าจะพอให้หางานทำได้แล้ว คิดว่าไปเรียนรู้เอาจากการทำงานก็ได้ แต่อาจารย์เขาพยายามดึงเราให้เรียนต่อ แนะนำให้สมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ก็เริ่มคิดว่าอาจารย์เขาคงเห็นอะไรในตัวเราบ้าง จึงตัดสินใจลองสมัครดู แล้วเราก็ได้เรียนต่อ”
จนผ่านมาแล้ว 1 ปี ถึงตอนนี้เธอกำลังจะขึ้นชั้น ปวส.2 แนนบอกว่า จากที่คิดว่าไม่ได้เรียนเพิ่มก็ไม่เป็นไร กลับกลายเป็นว่าการได้เรียนต่อได้ช่วยเปิดมุมมองในส่วนที่เธอยังไม่เคยเห็นของระบบงานโรงแรม และทำให้เธอเข้าใจงานที่ทำมากขึ้น เห็นภาพกว้างขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้เธอวางแผนการเรียนในระดับสูงขึ้นไปอีก ในสาขาการบริหารจัดการโรงแรม
“การเรียนในระดับที่สูงขึ้นทำให้เห็นโครงสร้างของระบบงาน เมื่อรวมกับประสบการณ์ตรงที่เรามี ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของสายงาน และการสื่อสารภายในของแผนกต่างๆ มากขึ้น เราคิดว่าในสายงานการจัดการเราต้องรู้ระบบภายในว่าแผนกไหนเป็นอย่างไร มีหน้าที่อะไรบ้าง ก็เหมือนกับที่เราพยายามฝึกฝนงานในตำแหน่งต่างๆ เพื่อให้เห็นมุมมองจากแต่ละตำแหน่งว่าเป็นอย่างไร มันคือการฝึกทักษะสังคม ซึ่งมันจำเป็นมากกับอาชีพเรา เพราะเราต้องเจอคนเยอะมาก”
เมื่อถามว่าการทำงานโรงแรมสำหรับเธอคืออะไร แนนบอกว่า “งานโรงแรมคือการรวมคนหลายคนหลายแผนกมาทำงานร่วมกัน มีการส่งต่องานที่ซับซ้อน ต้องทำงานแข่งกับเวลา ทุกคนอยากให้งานออกมาดี มีความตั้งใจ แต่บางครั้งมันต้องอาศัยทักษะการสื่อสารและทำงานเป็นทีม เพื่อลดการเกิดปัญหาและผสานงานของทุกแผนกให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้”
แนน รัศมี วงสาสาย ทำให้เห็นว่า บางครั้งหนทางที่เลือกเดินอาจไม่ได้เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบ แต่ด้วยความตั้งใจ ใฝ่รู้ และพร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก็ทำให้สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันแปรเปลี่ยนเป็นความหลงใหล กลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ดังที่เธอบอกว่า ‘จากไม่เคยรู้ว่าอยากทำอะไร แต่การเรียนสายอาชีพทำให้เธอมองเห็นทิศทางที่จะไปต่อในอนาคตได้ เพราะเป็นการเรียนสายตรงในงานเฉพาะทางที่สามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ”
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค