แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา
Save the Children เผยเด็กราว 10 ล้านคนทั่วโลกอาจไม่ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนหลังเหตุการณ์โรค COVID-19 คลี่คลาย เพราะการระบาดจะทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง หลายครอบครัวตกอยู่ในภาวะยากจน
สำนักข่าว AFP รายงานอ้างผลการศึกษาของ องค์กร Save the Children ซึ่งระบุว่า วิกฤต COVID-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา ส่งผลให้เด็กกว่า 90-117 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะยากจน ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเข้าเรียนในโรงเรียนได้
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในอังกฤษ ยังระบุอีกว่า การระบาดทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางด้านการศึกษาชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์มาก่อน โดยขณะนี้มีเด็กมากถึง 9.7 ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนและเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกเลย
“นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ เด็กทั่วโลกในรุ่นนี้ต้องประสบกับภาวะชะงักงันทางการศึกษา” รายงานของ Save the Children ระบุว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ตามมา เพราะไวรัสโคโรน่า จะทำให้หลายครอบครัวต้องเลือกให้เด็กๆ หยุดเรียนหนังสือที่โรงเรียน เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายค่าเทอม
และอีกหลายล้านครอบครัวทั่วโลกจะก้าวเข้าสู่ภาวะยากจน ทำให้สมาชิกเด็กและเยาวชนของครอบครัว จำเป็นต้องหยุดเรียนเพื่อออกมาหารายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกัน ในกลุ่มเด็กหญิงนอกจากจะต้องเสี่ยงเลิกเรียนแล้ว ยังเสี่ยงกับการถูกบีบบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร เพราะเป็นหนทางหนึ่งในการหารายได้จุนเจือครอบครัว
สถานการณ์ข้างต้น ส่งผลให้เด็กระหว่าง 7-9.7 ล้านคน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างถาวร
นอกจากนี้ องค์กร Save the Children ยังมีการเตือนว่า วิกฤต COVID-19 ยังเสี่ยงทำให้หลายประเทศขาดแคลนงบประมาณด้านการศึกษา โดยในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำจะขาดงบดังกล่าวมากถึง 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2021
Inger Ashing ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Save the Children กล่าวว่า การที่เด็กราว 19 ล้านคน อาจไม่ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกเลย นับเป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านการศึกษาที่ไม่มีใครเคยคาดการณ์มาก่อน และรัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งลงทุนด้านการศึกษาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากทิศทางนโยบายฟื้นฟูประเทศของบรรดารัฐบาลในนานาประเทศทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องก่อนเป็นอันดับแรก และมุ่งตัดลดรายจ่ายประหยัดงบประมาณเป็นลำดับต่อไป ซึ่งความเสี่ยงจากการตัดลดรายจ่ายของภาครัฐ จะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคน ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น
ทาง Save the Children จึงออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศและนักลงทุน หรือองค์กรหน่วยงานทั้งหลาย หันมาลงทุน หรือให้การสนับสนุนการทำงานหรือโครงการที่วางแผนเพื่อช่วยเหลือเด็กให้กลับมาเรียนที่โรงเรียนได้อย่างราบรื่นให้มากที่สุด หรือหากว่าในกรณีที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ ก็ให้สนับสนุนระบบการเรียนการสอนทางไกลให้มากที่สุด
“เรารู้ว่า กลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุด ซึ่งเป็นทั้งเด็กด้อยโอกาสและเด็กชายขอบของสังคมที่มักถูกละเลยมองข้ามมากที่สุด กำลังสูญเสียอย่างหนัก และเสียประโยชน์ด้านการศึกษา เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาทางไกล หรือการศึกษาทางเลือกอื่นๆ ในช่วงที่ปิดโรงเรียนได้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Save the Children กล่าว
นอกจากนี้ Save the Children ยังได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้บรรดาเจ้าหนี้ และสถาบันการเงินทั้งหลายพิจารณามาตรการผ่อนผันเกี่ยวกับการชำระหนี้ โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งการบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายเกี่ยวกับการชำระหนี้ดังกล่าวจะช่วยให้เกิดสภาพคล่องในระบบที่จะมีผลต่อทุนสนับสนุนโครงการการศึกษามาถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Inger Ashing เตือนว่า หากหลายประเทศทั่วโลกละเลยต่อวิกฤตการศึกษาที่เกิดขึ้น อนาคตที่เลวร้ายของเด็กๆ จะกลายเป็นความเลวร้ายที่ฝังรากลึกยาวนานยากสลัดหลุดพ้น และพันธะสัญญาของหนึ่งในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) อย่างการทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพเข้าถึงได้สำหรับทุกคนภายในปี 2030 เป็นไปได้ยาก หรืออาจเกิดขึ้นล่าช้าจากปีที่ตั้งเป้าไว้ไปอีกหลายปี
รายงานของ Save the Children พบว่า ประเทศที่เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุดขณะนี้ มีอยู่ทั้งหมด 12 ประเทศด้วยกัน คือ ไนเจอร์ มาลี ชาด ไลบีเรีย อัฟกานิสถาน กีนี มอริทาเนีย เยเมน ไนจีเรีย ปากีสถาน เซเนกัล และไอเวอร์รีโคสต์
คำเตือนครั้งนี้ มีขึ้น หลังมีรายงานจาก UNESCO และ UNICEF ก่อนหน้านี้ที่ออกมาประเมินว่า การปิดโรงเรียนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้มีเด็กทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคนได้รับผลกระทบ ขณะที่ก่อนหน้าการระบาดของโรค COVID-19 ก็มีเด็กและเยาวชน ราว 258 ล้านคนทั่วโลก ที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนอยู่แล้ว
รายงานจาก Save the Children ในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ที่กล่าวแสดงความเห็นระหว่างการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติออนไลน์ด้านความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา (Equitable Education : All for Education) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า การปิดโรงเรียนทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
โดย Yasmine Sherif ผู้อำนวยการกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait) กล่าวว่า การปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19 ทำให้มีการแบ่งแยกในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกิดการแบ่งแยกไม่เท่าเทียม ที่เด็กในประเทศร่ำรวยสามารถเรียนหนังสือออนไลน์ได้อย่างสะดวก ขณะที่เด็กในประเทศยากจน หรือในพื้นที่สงครามความขัดแย้ง ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ และเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของกลุ่มค้ามนุษย์ การใช้แรงงานในเด็ก และการบังคับแต่งงานและถูกล่วงละเมิด
ด้าน Alice Albright ผู้จัการกองทุนการศึกษาโลก (GPE) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมนานาชาติออนไลน์เช่นเดียวกัน กล่าวว่า COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหายนะทางเศรษฐกิจครั้งนี้ จะส่งผลต่อการลดงบประมาณด้านการศึกษาของภาครัฐ ขณะที่รายได้ของครัวเรือนลดลง ครอบครัวไม่สามารถส่งบุตรหลายไปโรงเรียนได้ ทำให้กลุ่มเด็กหญิงและผู้พิการกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะต้องถูกเลือกให้ออกจากโรงเรียน
ข้อเรียกร้องของ 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ Save the Children ที่ขอให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญและร่วมมือกันจัดสรรทรัพยากรและเงินทุนด้านการศึกษาให้กระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเพียงพอ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายด้านการศึกษาในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ต่อไป