ฐานชุมชนเข้มแข็งรองรับวิกฤต COVID-19

ฐานชุมชนเข้มแข็งรองรับวิกฤต COVID-19

โอกาส ในวิกฤต COVID-19
ดึงแรงงานกลับพื้นที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ลุกลามกระทบไปถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนอาชีพการงานของหลายต่อหลายคน ตั้งแต่ลูกจ้าง พนักงาน ไปจนถึงกลุ่มคนบุคคลอาชีพอิสระ หลายคนถูกลูกจ้างชั่วคราว หลายคนถูกเลิกจ้างถาวร ขณะที่​แรงงานด้อยโอกาสซึ่งเดิมก็ประสบปัญหาอยู่แล้วสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้การใช้ชีวิตและการทำงานหาเลี้ยงชีพเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น​ 

โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันกระทบกับแรงงานด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ยิ่งกว่าเดิม จากที่อาจออกไปรับจ้างได้บ้างแต่มาช่วงนี้กิจการทุกอย่างหยุดมันยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ที่หมู่บ้านหนองกลางดงเองก็มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างบ้าง กลับมาทำงานที่บ้านบ้าง  11  ครัวเรือน แต่เวลานี้ทุกกลุ่มก็ได้รับผลกระทบหมด แม้แต่เกษตรกรเองก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดยากทำให้ราคาตก มะพร้าว มะม่วง ขนุน ราคาตกหมดขณะที่สินค้าอุปโภคแพงขึ้นเกือบหมด แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ก็พวกแรงงานที่ปกติต้องขายแรงงานรับจ้างแต่ตอนนี้ไม่มีงานให้ทำ แต่หากชุมชนเข้มแข็งจัดการตัวเองได้อยู่ระดับหนึ่งก็พออยู่ได้

 

“ชุมชนเป็นฐาน”  ชนบทยังขาดแคลนแรงงานและก่อสร้าง

ทั้งนี้ ที่อ.สามร้อยยอดไม่มีผู้ติดเชื้อทั้งอำเภอ เพราะชาวบ้านตื่นตัวร่วมมือระดมทุนกับ 3-4 หมื่นบาท มาซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิ ตั้งด้านเข้าออกหมู่บ้านมีงบสนับสนุนจากอบต. อบจ. บ้างซื้ออาหารเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงวินัยของคนที่กลับมาก็เชื่อฟังกักตัวอย่างน้อย  14 วัน มีเจ้าหน้าที่ไปคอยดูอาการเอาของไปเยี่ยม ได้ผลมากกว่าใช้กำลังตำรวจทหารไปกำกับ   

“คำว่าชุมชนเป็นฐาน ที่ กสศ. เริ่มต้นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องถ้าชุมชนเป็นฐาน และผู้นำตระหนักเขาจะต้องเป็นหลักดูแลผู้ยากไร้ บ้านไหนมีผักผลไม้ เก็บใส่ถุงไปเยี่ยมบ้านนั้นเกิดความเห็นอกเห็นใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่างประเทศไม่มี แต่บ้านเรามี ที่สำคัญตอนนี้ชนบทเรายังขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตร หรือ พื้นที่ในหมู่บ้านตอนนี้ก็มีผู้เราเหมาก่อสร้างสี่ราย รับจ้าทำบ้าน ทำสระว่ายน้ำ เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ หากสถานการณ์ โควิด หมดแล้วก็พอเป็นลูกจ้างได้ค่าแรงวันละ 500 บาท หรือ จะไปทำไร่สับปะรด มะม่วงก็ได้ แรงงานส่วนหนึ่งเขามีที่ดินรองรับ เขาก็กลับมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนา”

 

“คนจนเมือง” น่าห่วงที่ที่สุดเพราะไม่มีฐานรองรับ ต้องเร่งช่วยเหลือ

ผู้ใหญ่โชคชัย กล่าวว่า กลุ่มคนที่น่าห่วงที่สุดคือคนจนเมืองที่ไม่มีฐานอะไรรองรับ ไม่มีครอบครัว ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีไร่นา ไม่มีฐานแรงงาน มีแต่นายจ้างในเมืองอย่างเดียว เมื่อไม่มีใครจ้างก็เดือดร้อนมาก  คนกลุ่มนี้ต่างหากที่รัฐบาลต้องจัดเป็นรัฐสวัสดิการ ดูแลเป็นพิเศษ ส่วนชนบทเราดูแลกันเอง ได้ในระดับหนึ่งอย่างไรก็ไม่อดตาย  ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว   แต่สำหรับคนจนเมืองเมื่อไม่มีงาน ไม่มีกิน​ ก็บีบให้ต้องออกไปปล้นจี้ กลายเป็นปัญหาอาชญากรรม ค้ายาเสพติด ตามมาถ้ารัฐดูแลไม่ได้ รัฐควรดูแลคนกลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ มากว่าทุ่มเงินแจกดะ เพราะคนที่เดือดร้อนจริงบางคนไม่มีโทรศัพท์ด้วยซ้ำแล้วจะไปลงทะเบียนได้อย่างไร  ถ้าพุ่งเป้าไปที่คนจนเมือง ที่ไม่มี น่าจะตรงจุดมากกว่า ​

สำหรับชนบทอย่างไรก็มีฐานชุมชนรองรับ​​มีแหล่งน้ำ มีทุ่งใหญ่ พื้นที่ชุ่มน้ำ ปลา ปู ชุกชุม มีผักหญ้า มีกิน มีอยู่ ไม่อดตาย มีทุนสังคม มีทรัพยากรดินน้ำป่า มีทรัพยากรคนในชุมชน มีผู้นำที่เอาใจใส่ชักชวนชาวบ้าน สร้างเครื่องมือที่ดูแลกันในช่วงสถานการณ์โควิด   มีความร่วมมือ มีอาสาสมัครที่ไม่มีเงินเดือน ชาวบ้านทำกับข้าวไปกินกันในด่าน เห็นแล้วเราก็มีความรู้สึกอบอุ่น

 

หลัง COVID-19 อาจไม่ต้องกลับเข้าไปทำงานในเมืองอีก

ที่สำคัญวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เห็นโอกาสอีกด้าน คือ ไม่ต้องกลับเข้าไปทำงานในเมืองอีก แต่สามารถทำงานในพื้นที่ต่อไป ตรงนี้เป็นโอกาสจริง ๆ เพราะตอนนี้เราขาดแรงงานในไร่นา บ้านที่มีที่ดิน 20-30 ไร่  ไม่มีคนทำเพราะลูกเต้าเข้าเมืองไปรับจ้างบ้าง ไปเรียนหนังสือจบก็ทำงานในเมือง พ่อแม่แก่เฒ่า ก็ทำไม่ไหวเหลือที่ดิน 10-20  ไร่ปล่อยรกร้างว่างเปล่า ถ้าแรงงานเหล่านี้ถูกเลิกจ้างข้างนอก ก็สามารถกลับมาใช้แรงงานในที่ดินของตัวเองแปลงที่ดินรกร้างให้เกิดเป็นมูลค่า

ตรงนี้ กสศ. อาจ​เข้าไปช่วยติดตั้งกระบวนการทางปัญญาให้เขากลับมาใช้ชีวิต หารายได้ จากฐานดินน้ำ ป่า  ของชุมชนเอง​นำไปสู่มิติการพัฒนาการแก้ปัญหา การขาดแคลนแรงงาน การเกษตรไปด้วย บางทีเรามองเห็นวิกฤติ นึกอะไรไม่ออกท้อใจ แต่ถ้าเรากลับมาพูดคุยก็จะเห็นโอกาส เห็นฐานทุนทรัพยากรที่มีอยู่  แรงงานเราสามารถกลับมาเป็นแรงงานในพื้นที่ ​ตรงนี้ COVID ได้เข้ามาเซตกระบวนการคิดอะไรต่างที่อาจเปลี่ยนแปลงโลก

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เคยไปอยู่ในเมืองไปทำงานมีทักษะอื่น เมื่อเขากลับมาทำงานในพื้นที่เขาก็สามารถทำทักษะที่มีกลับมาเสริมใช้กับงานในชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น เช่น บางส่วนเขาเคยไปรับจ้างเป็นแรงงานด้านเทคโนโลยี เมื่อกลับมาทำงานในพื้นที่เขาก็อาจนำความรู้ตรงนั้นกลับมาเสริมให้ชุมชนในส่วนที่ขาด

 

เปลี่ยนจากฝึก “ทักษะแรงงาน” เป็นการ “จัดการชีวิต” ในฐานชุมชน

ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางฯ  ผู้ใหญ่โชคชัย มองว่า  สำหรับโครงการ โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 70 กว่าโครงการที่เริ่มต้นเดินหน้าไปแล้วก็มีหลายกลุ่มที่สามารถเป็นต้นแบบการทำงานที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน รองรับกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  

 “เคยพูดกับทีมพัฒนาบ่อยๆ ว่า ในการฝึกทักษะแรงงานถ้าใช้คำว่าเป็นการฝึกทักษะแรงานก็คือการฝึกให้คนได้ค่าจ้างสูงขึ้น แต่ถ้าเรามองกลับว่าเราฝึกคนเหล่านั้นให้มาจัดการชีวิต ให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในฐานชุมชน ​ทำงานสร้างรายได้ในบ้านเขาเอง ฝึกให้พวกเขากลับมาตระหนัก สร้างกระบวนการคิดใหม่ ว่าเป็นการกลับมาสร้างรายได้ให้บ้านตัวเอง  ก็จะเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ได้เป็นอย่างดี”​ผู้ใหญ่โชคชัย กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค