ผู้เชียวชาญด้านการศึกษาจากยูนิเซฟเผยบทเรียนการเข้าถึงกลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุดในประเทศเซียร์ราลีโอน ของแอฟริกา เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดทำการได้อีกครั้ง หลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส Ebola ในปี 2014
Wongani Grace Taulo ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายการศึกษา ขององค์กร UNICEF ประจำนิวยอร์ก บอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการศึกษา ประจำเซียร์รา เลโอน ว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายไม่น้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการระบาดของไวรัส Ebola อย่างหนัก ส่งผลให้เด็กนักเรียนและเยาชนมากกว่า 1.8 ล้านคน ต้องระเห็จออกจากโรงเรียน
การต้องออกจากโรงเรียนนี้เป็นผลมาจากการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด ส่งผลให้ระบบการศึกษาตกอยู่ในภาวะล้าหลัง มีเด็กตกหล่น และมีอัตราการหยุดเรียนกลางคันเพิ่มสูงขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบจากการปิดโรงเรียน ไม่เพียงแต่มีต่อเรื่องของการศึกษาของเด็กเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และแง่มุมวิถีชีวิตของเด็กๆ อีกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ความรุนแรงในเด็ก การตั้งครรภ์ของคุณแม่วัยใส และการบังคับเด็กแต่งงาน ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นจนน่าตกใจจากการปิดโรงเรียนร่วมหลายเดือน
ทั้งนี้ เฉพาะในประเทศเซียร์รา เลโอน การระบาดของไวรัส Ebola ทำให้ต้องทางรัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศกินเวลานานร่วม 9 เดือน เด็กนักเรียนหลายแสนคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ส่วนที่ร้ายหน่อยก็ต้องออกมาเตร็ดเตร่ตามท้องถนน และกลายเป็นเหยื่อที่โดนเอารัดเอาเปรียบและถูกฉกฉวยประโยชน์ เพียงเพราะไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ที่เรียกว่า “โรงเรียน” ให้พักพิง
ในห้วงเวลาที่ หลายประเทศทั่วโลกยังไม่อาจประเมินผลกระทบและความเสียหายจากการปิดโรงเรียนเพราะการระบาดของ COVID-19 ที่มีต่อเด็กนักเรียนและระบบการศึกษาในขณะนี้ได้ แต่ประสบการณ์จากไวรัส Ebola ที่ Wongani Grace Taulo ได้ประสบมา ได้ยืนยันอย่างหนึ่งว่า กลุ่มเด็กที่ยากจนกที่สุด และด้อยโอกาสมากที่สุดของสังคม คือ กลุ่มที่ได้รับความทุกข์ทรมานมากที่สุดจากการปิดโรงเรียน ทั้งในแง่ของการเรียนที่ถดถอย และการเผชิญกับปัญหาในชีวิตอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายการศึกษาของ UNICEF เตือนว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดได้อีกครั้งหลังวิกฤตการระบาดร้ายแรงต่างๆ ก็คือ ไม่ใช่เด็กนักเรียนทุกคนที่จะสามารถเดินทางกลับมาเรียนได้ตามปกติ หลังประตูโรงเรียนเปิดแล้ว
เด็กหลายคนจะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากนานาประการในการเดินทางมาโรงเรียน รวมถึงต้องประสบกับเงื่อนไขและข้อเรียกร้องมากมายที่ขัดขวางไม่ให้เด็กเหล่านี้กลับมาเรียนได้อีกครั้ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือองค์การอิสระ ในการหาทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็กทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน จะได้กลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
สำหรับบทเรียนที่ Wongani Grace Taulo ได้เรียนรู้จากการหาทางเข้าถึงกลุ่มเด็กยากจนที่สุดของประเทศเซียร์ราลีโอน และเหมาะที่จะส่งผ่านให้นานาประเทศพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ในช่วงที่โรงเรียนสามารถเปิดเรียนในอีกครั้ง หลังโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย มี 2 ประการด้วยกันคือ
ประการแรก คือ การกำหนดเป้าหมายและแนวทางการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเด็กยากจนที่สุดของสังคม และประการที่สอง คือ การกำหนดแรงจูงใจพิเศษ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เด็กๆ ยากจนได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน
ในส่วนของการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการสื่อสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเด็กยากจนที่สุดของสังคม Wongani Grace Taulo อธิบายว่า กลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและชัดเจน ถือเป็นหลักประกันรับรองความสำเร็จในการกลับมาเรียนที่โรงเรียนของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล
โดยกรณีของ เซียร์รา เลโอน ทาง UNICEF ได้ริเริ่มจัดทำแคมเปญรณรงค์เรื่อง “Back-to-School” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ เรื่องมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน ไปจนถึง แนวทางการสนับสนุนผู้เรียนให้สามารถกลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ เป้าหมายของสารที่ทาง UNICEF ต้องการจะสื่อ ก็คือการให้กำลังใจส่งเสริมสนับสนุนบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายให้เต็มใจยินยอมส่งเด็กๆ กลับมาเรียนที่โรงเรียน
สำหรับเครื่องมือที่ใช้ UNICEF ยึดเอาสื่อวิทยุเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ใช้ “ชุมชนเคลื่อนที่” ที่ทาง UNICEF คิดค้นพัฒนาขึ้น โดยหมายรวมถึง การจัดเจ้าหน้าที่ไปเคาะประตูตามบ้าน การร่วมมือกับเจ้าหน้าทีท้องถิ่นใช้ “ผู้ส่งสาร” (Community Criers) ติดลำโพง ในการเผยแพร่ข้อมูล
เรียกได้ว่า ทาง UNICEF ประยุกต์ใช้ทุกสื่อและโครงสร้างที่มือเพื่อกระจายข่าวสาร Back-to-School ให้ประชาชนรับรู้รับทราบมากที่สุด
หนึ่งในผลความสำเร็จของกลยุทธ์การใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ ความสามารถในการเพิ่มจำนวนเด็กนักเรียนหญิงที่ท้องในวัยเรียนให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้
ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการของเซียร์รา เลโอน มีคำสั่งห้ามเด็กนักเรียนหญิงตั้งครรภ์มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนอย่างเด็ดขาด โดยทางรัฐบาลเพิ่งจะมีคำสั่งยกเลิกไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเวลานั้นทาง UNICEF จึงจัดทำแคมเปญ ชั้นเรียนพิเศษ “Bridging Programme” ที่ให้เด็กนักเรียนหญิงตั้งครรภ์มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนตามหลักสูตรเช่นเดียวกันเพื่อนร่วมชั้น แต่มาเรียนหลังเวลาเลิกเรียนแทน
ในช่วงแรก ไม่ใช้ทุกคนที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวของ UNICEF กระนั้น ภายใต้การวางแผนการใช้สื่ออย่างจริงจัง เพื่อส่งต่อข้อความอธิบายความสำคัญและความจำเป็น รวมถึงสร้างความตระหนักเรื่องการศึกษาในหมู่เด็กหญิง ครอบครัว และชุมชน ส่งผลให้มีเด็กนักเรียนหญิงตั้งครรภ์เข้ามาลงทะเบียนในโครงการถึง 14,500 คน มากกว่าเป้าที่ทาง UNICEF ตั้งไว้ที่ 3,000 คน ในจำนวนนี้ ยังรวมถึงเด็กนักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนช่วงไวรัส Ebola ระบาด ที่เข้ามาลงทะเบียนเพื่อรื้อฟื้นและติดตามการเรียนของตนต่อไป
Wongani Grace Taulo กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Bridging Programme ยังทำให้เห็นถึง ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า การวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีภูมิหลัง บริบทสิ่งแวดล้อม และเพศสภาพที่แตกต่างกันออกไป การจัดแบ่งกลุ่มเด็กให้เฉพาะเจาะจงมากที่สุดจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำให้เด็กกลับมาเรียนหน้งสือได้ตามปกติอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์วิกฤต
ด้านบทเรียนที่สองจากวิกฤตไวรัส Ebola ก็คือ การกำหนดแรงจูงใจที่จะอำนวยความสะดวกในการกลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนของเด็กนักเรียนยากจนที่สุดของสังคมไว้อย่างชัดเจน
Wongani Grace Taulo อธิบายว่า ผลกระทบจากวิกฤตด้านการสาธารณสุขที่มีต่อเศรษฐกิจนั้น สามารถเป็นจุดพลิกผันที่เลวร้ายที่สุดของชีวิตสำหรับบรรดาครอบครัวยากจนทั้งหลาย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว หลายครอบครัว อาจตัดสินใจหรือจำเป็นต้องเลือกให้ลูกหลานของครอบครัวหยุดเรียนหนังสือเพื่อช่วยทำงานหารายได้
ดังนั้น เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งหลังวิกฤต Ebola สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือกลยุทธ์และมาตรการในการช่วยลดภาระทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ซึ่งใน เซียร์รา เลโอน รัฐบาลได้ประกาศยกค่าเทอมและค่าทดสอบต่างๆ เป็นเวลา 2 ปี เพื่อดึงดูดจูงใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งบุตรเข้ากลับมาเรียนที่โรงเรียน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้หันไปร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบรรดานักพัฒนาทั้งหลาย เพื่อจัดเตรียนมอุปกรณ์การเรียนการสอนแจกให้กับเด็กนักเรียนทุกคน โดยรวมถึง อุปกรณ์ช่วยเรียนสำหรับเด็กพิการและทุพพลภาพ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของครอบครัวยากจนที่ไม่อาจหางานทำได้ในช่วงไวรัส Ebola ระบาด ปัจจัยด้านอาหารก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งการกำหนดเงื่อนไข ให้มีอาหารฟรีที่โรงเรียน จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ครอบครัวและชุมชนยอมส่งบุตรหลานมาโรงเรียน
แน่นอนว่า การกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ มาตรการและแนวทางการทำงาน เพื่อจัดการให้เด็กนักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติภายหลังเหตุวิกฤตไม่มีสูตรตายตัวแน่นอน โดย Wongani Grace Taulo แนะว่า การวางแผนทั้งหมดต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมของแต่ละประเทศ รวมถึงปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆ ในพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือการวางแผนเปิดโรงเรียนนี้ ต้องไม่ลืมคำนึงถึงเหล่าเด็กนักเรียนที่ยากจนที่สุดของสังคม เพราะการเพิกเฉย หรือ มองข้าม จะส่งผลต่อชะตากรรมในอนาคตของเด็กเหล่านี้ และมีผลทำให้วิกฤตการศึกษาโลกทวีความรุนแรงมากกว่าก่อนที่วิกฤตโรค COVID-19 จะระบาดเสียอีก
ที่มาภาพประจำเรื่อง : unicef
ที่มา : Lessons from Ebola: how to reach the poorest children when schools reopen