บทวิเคราะห์กระบวนการประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกผู้รับทุน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่1

บทวิเคราะห์กระบวนการประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกผู้รับทุน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่1

บทวิเคราะห์กระบวนการประชาสัมพันธ์ ค้นหา
คัดกรอง และคัดเลือกผู้รับทุน
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1


คณะวิจัยโครงการศึกษาวิจัยและประเมินเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาการดำเนินงาน
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1

 

กระบวนการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและจิตวิญญาณความเป็นครูในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น) รุ่นที่ 1 ตามเจตนารมณ์ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่งได้ร่วมสานอุดมการณ์ของการบ่มเพาะจิตสำนึกของความเป็นครูและทักษะการทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในกระบวนการพิจารณานักศึกษาผู้รับทุนเพื่อเข้าเรียนในพ.ศ.2563 ได้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการดำเนินงานสองส่วน ส่วนแรก กระบวนการทำงานของมหาวิทยาลัยในการประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองและคัดเลือกผู้รับทุนที่มีรูปแบบและกระบวนการที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับสภาพและบริบทของมหาวิทยาลัยและพื้นที่สังคมชุมชน  และส่วนที่สอง การเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายก่อนสอบคัดเลือก

 

มหาวิทยาลัย, โรงเรียน และชุมชน

ในส่วนแรก กระบวนการทำงานของมหาวิทยาลัยในการประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองและคัดเลือกผู้รับทุน สะท้อนถึงการเรียนรู้บนฐานของการทำงานเชิงรุก ทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการเรียนรู้การทำงานด้านการศึกษาร่วมกับโรงเรียน ทั้งโรงเรียนที่นักศึกษาจะไปบรรจุเป็นครู โรงเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นม. 6 และโรงเรียนพี่เลี้ยงในฐานะเครือข่ายร่วมเรียนรู้บ่มเพาะความเป็นครู รวมถึงเรียนรู้การทำงานร่วมกับคนในชุมชนท้องถิ่น กระบวนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชนเช่นนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทของสังคมชุมชนในพื้นที่บริการ และมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ความต้องการในด้านการศึกษาของโรงเรียนและชุมชนเป็นอย่างดี  การเรียนรู้และสั่งสมองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยที่มาจากการปฏิบัติจริงร่วมกับโรงเรียนและชุมชน นำไปสู่การตั้งคำถามทบทวนต่อความรู้และการปฏิบัติงานด้านการศึกษาซึ่งมีความแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของการประชาสัมพันธ์ ที่มิได้ถูกจำกัดเพียงขอบเขตของการส่งผ่านข้อมูลสำเร็จรูปผ่านระบบไปยังผู้รับ โดยเชื่อว่าเมื่อผู้รับสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกส่งผ่านระบบได้แล้วจึงเรียกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่บรรลุผลแล้ว หากแต่การเรียนรู้ใหม่ของการประชาสัมพันธ์ เป็นการสร้างสรรค์ช่องทางของการสื่อสาร และทำความเข้าใจต่อข้อมูล ข่าวสารที่มีความหลากหลาย สามารถตอบโจทย์สังคมชุมชนที่มีความแตกต่างกันได้  ขณะที่การค้นหา คัดกรองและคัดเลือกผู้รับทุนก็มิได้มีรูปแบบตายตัว หากแต่เป็นการเรียนรู้ และการคิดริเริ่มของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มีความเฉพาะเจาะจง รวมทั้งพัฒนารูปแบบของการค้นหา คัดกรองและคัดเลือกที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางครอบครัว สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รับทุนเป็นสำคัญ  กระบวนการประชาสัมพันธ์ คัดกรอง และคัดเลือกผู้รับทุน จึงมีธรรมชาติรวมถึงบริบทเฉพาะของความเป็นพื้นที่ที่มีผู้สนใจรับทุนตามเกณฑ์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผสานรวมอยู่ด้วยอย่างกลมกลืน 

การประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองและคัดเลือกผู้รับทุนที่มีความหลากหลาย สะท้อนถึงการเกิดขึ้นของประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษาวิชาชีพครูหน้าใหม่ที่ตัวกระบวนการการทำงานของมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสรรสร้างการประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองและคัดเลือกผู้รับทุน ที่มีโรงเรียนและชุมชนเป็นพลังเรียนรู้ในการขับเคลื่อนที่สำคัญ  แสดงให้เห็นใน 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

  1. การใช้เครือข่ายชุมชนเป็นศูนย์กลางของการประชาสัมพันธ์และใช้การทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัย โรงเรียน และชุมชน เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของนักเรียน 
  2. การบูรณาการการประชาสัมพันธ์ร่วมกันของมหาวิทยาลัยสองแห่งในภูมิภาคเดียวกัน และลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลกับสภาพจริง
  3. การประชาสัมพันธ์โดยส่งข้อมูล ใบสมัครผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายศึกษาอยู่ แล้วจึงลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับโรงเรียน และชุมชน พร้อมกับการค้นหากลุ่มเป้าหมายร่วมกัน
  4. การประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก พร้อมทั้งประสานกับโรงเรียนปลายทาง และชุมชน เพื่อร่วมกันค้นหานักเรียนเป้าหมายโดยการลงไปในพื้นที่จริง

จุดเน้นของการประชาสัมพันธ์ ค้นหา คัดกรองนักเรียนเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ อยู่ที่การทำความเข้าใจ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียนและเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน ทั้ง

องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มผู้ปกครองที่เข้าใจธรรมชาติของคนในชุมชนเป็นอย่างดี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังปรับกระบวนทัศน์ของการทำงานโดยใช้การศึกษาข้อมูลพื้นที่ และลงพื้นที่จริงในโรงเรียนและชุมชนในเขตที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง  เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนและชุมชน เพื่อให้ได้ครูดีมีคุณภาพ ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยก้าวข้ามกรอบของการทำงานเชิงระบบที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้  ไปสู่การให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์จริงของโรงเรียนและชุมชน

 

เตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย

ส่วนที่สอง การเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายก่อนการสอบคัดเลือก เป็นกระบวนการที่มหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้และสิ่งที่ตกผลึกจากการทำงานเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์ค้นหา คัดกรองและคัดเลือกผู้รับทุน มาใช้ออกแบบการพัฒนากระบวนการเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรอบด้านและตรงประเด็น เพราะมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่และบริบทการดำรงชีวิตของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี การเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวของมหาวิทยาลัยจึงมีอัตลักษณ์เฉพาะภายใต้กระบวนการดำเนินงานที่มีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานตลอดเวลาภายใต้เงื่อนไขที่ผสานสอดคล้องกันระหว่างระเบียบกฎเกณฑ์ของคณะทำงานและบริบทชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียน รวมทั้งสภาพชุมชน การเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยได้คิดริเริ่มและพัฒนา จึงสะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกร่วมและพลังสร้างสรรค์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนและชุมชนบนฐานความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร เพื่อร่วมกันคิดสร้างสรรค์ ออกแบบกระบวนการดำเนินการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพ ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู และมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

กระบวนการทำงานเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายก่อนการสอบคัดเลือกที่มีความยืดหยุ่นของมหาวิทยาลัย มี 3 ลักษณะ ดังนี้

  1. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ที่มีการบูรณาการกิจกรรมความรู้วิชาการ กระบวนการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู และการฝึกปฏิบัติ เรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นชุมชนท้องถิ่นในชุมชน
  2. การมุ่งเน้นการบูรณาการความรู้วิชาการ กับกิจกรรมเสริมสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู และสร้างกระบวนการทบทวนตนเองในการเข้าสู่โลกของความเป็นครูผ่านกิจกรรมเรียนรู้งานครูในโรงเรียน
  3. การให้ความสำคัญการเตรียมตัวนักเรียนเพื่อพัฒนาความรู้วิชาการ และจัดกิจกรรมเสริมสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูโดยเชื่อมโยงกับสำนึกความเป็นชุมชน

ด้วยฐานคิดในการทำงานของมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายก่อนการสอบคัดเลือกซึ่งมุ่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการมองครู การผลิตและพัฒนาครูที่มีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับความต้องการด้านการศึกษาของโรงเรียน สังคมชุมชน และผู้ปกครอง ซึ่งแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน แต่ก็เชื่อได้ว่าหลักคิดการทำงานของมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่ง จะช่วยให้เกิดการปฏิรูประบบความคิดและกระบวนการทำงานผลิตและพัฒนาครูของมหาวิทยาลัยที่มีความใกล้ชิดกับโรงเรียนและชุมชนมากขึ้น เพื่อสังคมไทยจะได้มีครูรุ่นใหม่ที่มีหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นครูในการร่วมสร้างสรรค์การศึกษาที่สนองตอบต่อบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้ในที่สุด