เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ปาฐกถาพิเศษในการเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563 ระดับชาติ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมี Mr.Shigru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และ นส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ, สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้จัดการศูนย์เดอะฮับสายเด็ก, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมงาน
นายณัฏฐพล กล่าวว่า จากการรับฟังรายงานผลการศึกษาจากยูเนสโกแล้ว ทำให้เราได้เห็นถึงการทำงานที่ผ่านมาของเราซึ่งก็ตรงกับข้อเสนอหลายข้อ เหลือเพียงการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คิดว่าเราเดินมาตรงกับการแก้ปัญหาของทุกประเทศ แต่ยังขาดพลังว่าเราจะสามารถทำได้รวดเร็วและยั่งยืนมากขนาดไหน ซึ่งวันนี้ ยูเนสโก้ก็มีข้อเสนอแนะ แต่การแก้ปัญหาของเราซึ่งปัญหามีมากเกินไปเราจึงไม่สามารถจัดอันดับได้ ทางยูเนสโกก็จัดอันดับมาให้เราดูว่าข้อเสนอแต่ละข้อนั้นควรจะทำอันไหนก่อนอันไหนหลัง และในบางเรื่องต้องทำไปพร้อมๆ กัน การเผยแพร่เอกสารจากองค์กรนานาชาตินี้ น่าจะเป็นจุดที่กระตุ้นพวกเราให้ขับเคลื่อนการศึกษาไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 จะเป็นช่วงที่เราต้องปรับตัวเราเอง และเตรียมความพร้อมการสร้างโอกาสในการแข่งขัน
“จากข้อสรุปรายงานของยูเนสโก ตรงกับปัญหาการศึกษาของไทยทุกข้อ เพราะยูเนสโกศึกษาจากขบวนการศึกษาของไทย เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำทุกข้อเสนอแนะ ไม่เช่นนั้นเราจะแก้ปัญหาความเปลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้ ถ้าเราไม่รับแก้เด็กก็จะมาเรียกร้องกดดัน เรามากขึ้น แต่ผมมั่นใจว่าหลายเรื่องเราทำแล้ว แต่ผมก็จะนำผลการรายงานนี้ไปผสมผสานกับแผนงานที่ศธ.วางเอาไว้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างกันมาก เพียงแต่อยู่ที่วิธีการที่จะวิ่งเข้าสู่การแก้ปัญหา เช่น เรื่องการใช้งบฯว่าจะต้องใช่ให้คุ้มค่า ถูกจุด ศธ.จึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดสรรงบว่าคุ้มค่าคืออะไรในบริบทของเรา ถูกจุดคือที่ไหน ซึ่งผมก็ยกตัวอย่างเรื่องการใช้งบฯเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ศธ.ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ส่วนเรื่องการพัฒนาครู อย่างน้อย 25% ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องมาดูว่าจะพัฒนาอย่างไร ซึ่งตามแผนศธ.จะนำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาวัดผล และนำไปขยายผลเรื่องวิทยฐานะครู ซึ่งก็เป็นการนำข้อมูลจากองค์กรนานาชาติมายืนยันว่าสิ่งที่เรากำลังเดินไปนี้ เป็นแนวทางที่จำเป็นต้องเดิน เพราะศธ.มีเป้าหมายว่า ในปี 2030 หรืออีก 10 ปีจากนี้ไป ไทยต้องลดช่องว่างทางการศึกษา และก็นำไปสู่การลดช่องว่างของรายได้ในอนาคตด้วย” นายณัฏฐพล กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดสรรงบประมาณนั้น ในบริบทของคนทำงบประมาณก็ต้องคำนึงว่าโครงการที่ทำอยู่นั้นต้องคิดถึงความคุ้มค่า และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ดังนั้น ต้องกลับไปดูนโยบายหลักว่าจะพัฒนาเรื่องอะไร ยกตัวอย่าง หากเราเห็นว่าอาชีวะสำคัญ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินไปได้ เราก็ต้องจัดสรรงบลงไป และตัวงบประมาณจะต้องสะท้อนให้เห็นว่าเราผลักดันด้านอาชีวะจริงๆ และเมื่อภาครัฐวางภาพให้เห็นชัดเจน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมก็จะตามมาสนับสนุนแผนงานร่วมกันได้ แต่หากภาพจากภาครัฐไม่ชัดเจน ก็จะทำให้ภาคอื่นๆตามได้ลำบาก ซึ่งผมก็ส่งสัญญาณให้ทุกหน่วยงานในศธ.ว่าให้พิจารณางบประมาณ เพราะกำลังจะจบปีงบประมาณ 2564 แล้ว และกำลังจะเริ่มทำงบฯปี 2565 เราจะปล่อยให้การใช้งบประมาณแบบกระจายและคิดแต่ค่าอุดหนุนรายหัวอย่างเดียวไม่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่ายังจำเป็นที่ต้องจ่ายค่าหัวนักเรียน แต่ก็ต้องให้ความสำคัญในการต่อยอดกลุ่มเป้าหมายด้วย
นายณัฏฐพล กล่าวถึงการสร้างความเข้มข้นในด้านภาษาต่างประเทศให้กับผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องช่วยกันผลักดันทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน อาจจะไม่เป็นภาษาหลักของเรา แต่ต้องเป็นภาษาที่สองและที่สาม และใช้ในการสื่อสารได้ วันนี้เด็กอาจจะเรียนเป็นภาษาที่สองและที่สาม แต่ใช้เพื่อการสอบ ถึงเวลาจริงเด็กใช้ภาษาในการสื่อสารไม่เก่ง ซึ่งเราต้องยอมรับ ถึงแม่เด็กบางคนจะใช้ภาษาที่สองที่สามได้ดี แต่จะต้องขยายผลและกระจายไปให้ทั่วถึง
เราอยากให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย แต่เราพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง ซึ่งในอนาคตการแข่งขันมีมากขึ้น แล้วเราจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไร ประเทศไทยมีสิ่งได้เปรียบหลายๆเรื่องทั้งด้านธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่สวยงาม และความน่ารักของคนไทย แต่ภาษาต่างประเทศก็มีความสำคัญ ซึ่งถ้าเราสามารถเตรียมความพร้อมให้เด็กไทยให้มีความเข้มแข็งทางภาษาต่างประเทศ เมื่อเราพ้นจากโควิด-19 เราก็จะแข่งขันได้ดี