“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เป็นรางวัลระดับนานาชาติ เพื่อเชิดชู “ครู” ที่เปรียบเสมือนแม่พิมพ์ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ ผู้สร้างคุณูปการต่อการศึกษา สร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชน ที่สำคัญเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนครูด้วยกัน ในปี 2562 ก่อนหน้านี้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ
ประกาศรายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครั้งที่ 3 จำนวน 11 คน มีคนไทย 1 คน คือ ครูสุเทพ เท่งประกิจ โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา
ขณะเดียวกันยังประกาศรายชื่อครูรางวัลคุณากรอีก 2 คน คือดาบตำรวจคณิต ช่างเงิน ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี ต.โมโกร อ.อุ้มผาง จ.ตาก และครูปุณยาพร ผิวขำ โรงเรียนหนองแวงวิทยาคม ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
เส้นทางชีวิตครูของครูสุเทพ กว่าจะได้รางวัลเจ้าฟ้าฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่า 15 ปี ที่เสียสละชีวิตเพื่อส่งเสริมการศึกษาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่เสี่ยงและแสนจะอันตราย แต่ ครูสุเทพ กล้ายืนหยัดทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติ เพราะ “เข้าใจ” ถึงชีวิตเด็กที่ฐานะยากจนและขาดความรู้ หากทอดทิ้งเด็กเหล่านี้ไป อนาคตชีวิตเด็กเหล่านี้จะลงเอยเช่นไร
ชีวิตในวัยเด็กของครูสุเทพ ไม่ต่างจากเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฐานะทางบ้านยากจน และ ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยใจรักดี จึงทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เพื่อส่งตัวเองให้ได้เรียนหนังสือ ด้วยการเป็น ช่างรับจ้างก่อสร้าง หลังเลิกเรียน ดังนั้นเมื่อมาเป็นครูจึงตั้งใจเอาความรู้และประสบการณ์ “อาชีวะ” มาสอนแก่เด็กๆในพื้นที่ให้มีทั้งความรู้จากตำราและความรู้จากประสบการณ์ชีวิต จึงจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่” และ “ศูนย์ช่างเศรษฐกิจพอเพียง” จนวันนี้เด็กจำนวนมากรู้จัก “พัฒนา” ตัวเอง จากวิชาความรู้ปกติที่ครูสุเทพสอนผนวกกับอาชีพเสริมไปยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
แต่ช่วงแรกๆที่ครูสุเทพเข้ามาในพื้นที่ (สีแดง) ต้องฝ่าฝันอุปสรรคนานับประการ เพราะความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สูงมาก พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ตัวเด็กเองต่างคิดเพียงว่า “เรียนแล้วจะได้อะไร?” เด็กบางคนอยากเดินตามรอยพ่อแม่ คือ ยึดอาชีพกรีดยาง หรือ มีความสุขกับการนั่งพูดคุยกับเพื่อนฝูงตามร้านน้ำชา หรือ เลี้ยงนกกรงหัวจุก จึงไม่มีเด็กคนไหนอยากมาโรงเรียน !
การชักจูงให้ผู้ปกครองส่งเสริมเด็กให้มาโรงเรียนจึงเป็นเรื่องยากมาก ครูสุเทพ จึงเริ่มเดินไปพูดคุยตามบ้านทีละหลัง แนะนำเด็กให้มาเรียนต่อ เริ่มจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แรกๆมีเพียงไม่กี่คนสนใจ จนลูกศิษย์กลุ่มแรกเรียนจบมาเป็นครู หรือ บางคนเรียนวิชาปกติไม่เก่ง แต่ได้อาชีพเสริมทางช่าง ทั้งช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่างก่อสร้าง และมีความรู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อย จึงสามารถเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย จึงทำให้ชุมชนเริ่มเข้าใจแล้วว่า มาโรงเรียนแล้วได้อะไร?
สิ่งที่คุณครูสุเทพ ทุ่มเทเริ่มเห็นผล หน่วยงานภาครัฐต่างๆเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุน เพราะเห็นถึงความกล้า ไม่กลัวอันตราย หรือ ถูกขับไล่จากคนมุสลิม แต่สิ่งที่ครูสุเทพ ตั้งใจทำให้เด็กในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น คือ “เกราะคุ้มครอง” แม้แต่สถานการณ์ที่ลูกศิษย์ ติดบัญชีดำถูกฝ่ายความมั่นคงจับตัว ครูสุเทพ ยังกล้าเอาตำแหน่งหน้าที่การงานไปประกันตัวให้ เพราะให้ความสำคัญอนาคตเด็ก จึงไม่แปลกเหตุใด ครูสุเทพ ได้ใจชุมชน
ความใจบุญหรือความเสียสละที่น่ายกย่องของ ครูสุเทพ คือ ถึงขนาดเปิดกระเป๋าสตางค์ วางทิ้งไว้บนโต๊ะห้องพักครู พร้อมกับบอก เด็กๆว่าใครไม่มีเงินกินข้าวมาหยิบเงินได้ที่โต๊ะครู ดังนั้นไม่ว่าครูสุเทพ จะเดินไปตรงไหนของชุมชนมีแต่คนให้ความเคารพศรัทธา ทักทายและพูดคุยได้อย่างสนิทใจด้วย ภาษามาลายู ที่น้อยคนนักจะทำได้
ครูสุเทพ นับเป็นครูที่ “เข้าถึง” แก่นแท้กับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยปรัชญา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง
เสมอว่า ในความไม่มีโอกาสย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ยิ่งเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆที่เกิดในครอบครัวยากจน แต่ด้วยหัวใจที่ไม่ท้อแท้ต่อชะตาชีวิต เกิดเป็นคนต้องดิ้นสู้ “อยากสูงต้องเขย่ง อยากเก่งต้องขยัน” ประโยคเตือนใจตั้งแต่เด็กๆ ที่ผลักดันให้มีความเพียรสอบชิงทุนการศึกษาของรัฐบาลมาโดยตลอด
ดังนั้นตลอดชีวิตครูจึงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงอยากตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่าน “ครูของแผ่นดิน” ด้วยการอุทิศชีวิตเป็นครูสอนหนังสือให้เด็ก หรือ ลูกศิษย์ในตำบล หรือ หมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลความเจริญได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
เด็กที่อยู่ในชนบทห่างไกลยากมากที่จะเท่าทันทั้งความรู้หรือเทคโนโลยี เทียบเท่ากับเด็กในเมือง เด็กบางคนในชนบทต้องขี่จักรยานนับสิบกิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน หรือ บางคนเรียนจบออกมาแล้วยังมืดบอด เพราะไม่รู้ว่าจะสอบระบบ O-Net ได้อย่างไร เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเริ่มต้นในชุมชน นั้นคือเหตุผลทำไม “ครูปุณยาพร” กลับมาสอนหนังสือที่บ้านเกิด
โรงเรียนที่ครูปุณยาพรอยู่ ไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนอันทันสมัย ครูหนึ่งคนต้องสอน 6 วิชา ดังนั้นการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ต่างจากที่อื่นๆ คือ ครูต้องทำให้เด็กรู้จักใช้ “เครื่องมือ” เพื่อไปแสวงหาความรู้ เสริมทักษะ และสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบตลอดชีวิตนอกห้องเรียน และ เมื่อเห็นช่องทางหรือโอกาสจากภายนอก ทางโรงเรียนจะรีบสนับสนุนเด็กทันที เช่น โควต้าไปเรียนต่อ หรือ โครงการต่างๆ ที่ภาครัฐหรือภาคเอกชนหยิบยื่นให้ต้องรีบคว้า
สำหรับเทคนิคการสอนเพื่อให้เด็กใส่ใจการเรียน คือ ต้องซื้อใจเด็ก การเรียนการสอนต้องไม่วิชาการมากไป เพราะ “เด็กชอบเล่น ผสม เรียน” จึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอนไปเรื่อยๆ เป็นครูต้องปรับตัวเข้าหาเด็กไม่ใช่ให้เด็กปรับตัวเข้าหาครู จะสอนแต่หลักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องผลิตนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆอยู่เสมอ แม้ต้องใช้เงินส่วนตัว หรือ เวลาพักผ่อนช่วงวันหยุด ครูปุณยาพร ยังเปิดบ้านพักครูตัวเองเป็น “โรงเรียน” ให้ความรู้แก่เด็กๆทั้งเรื่องเรียนหรือเรื่องส่วนตัวตลอดเวลา
ทุกวันนี้เด็กที่จบจากโรงเรียนหนองแวงวิทยาคม โรงเรียนระดับตำบลเล็กๆ ห่างไกล แต่สอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาชั้นนำ มีฐานการงานที่ดี และ ยังย้อนกลับมาทดแทนบุญคุณบ้านเกิด โดยมีครูปุณยาพร เป็นคนต้นแบบ จึงเป็นเหตุผลทำไมครูบ้านนอกตัวเล็กๆคนนี้จึงได้รับรางวัลคุณากร