ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นไม่ได้รับการศึกษาอยู่นับหลายแสนราย โดยมีเด็กบนท้องถนนประมาณ 30,000 คน กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกทม. เป็นเมืองที่มีเด็กข้างถนนกระจุกตัวอยู่มากที่สุด ไม่ว่าบนท้องถนน ในสวนสาธารณะ สถานีรถไฟ ตามสี่แยก สถานีขนส่ง เพื่อใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราว
ทองพูล บัวศรี หรือ ‘ครูจิ๋ว’ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในฐานะ ‘ครูข้างถนน’ ผู้ทำงานมากว่า 30 ปี อธิบายว่า ย้อนไปราว 20 ปีก่อน เด็กเร่ร่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตามที่สาธารณะต่าง ๆ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โดยคณะกรรมการสิทธิเด็ก องค์การสหประชาชาติ จำกัดความเด็กเร่ร่อนในศตวรรษที่ 21 เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ เด็กที่ออกจากบ้านมาอาศัยตามท้องถนน เด็กที่ออกมาทำงานขอทาน ขายดอกไม้ ขายขนม ฯลฯ และกลุ่มที่มีทั้งแม่และเด็กที่ประทังชีวิตด้วยการเก็บขยะหรือขอทาน
“กลุ่มเด็กเปราะบางเป็นกลุ่มที่เราเข้าถึงได้ยาก พวกเขามีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการถูกละเมิดทางเพศ หรือเอารัดเอาเปรียบด้วยกฎหมายจากบุคคลทั้งใกล้และไกลตัว วิธีการที่จะเข้าไปหาพวกเขาคือเราต้องลงพื้นที่ เดินเข้าไปในตรอกซอกซอย ทุกแห่งที่เป็นจุดเสี่ยงเราถึงจะได้เจอพวกเขา”
ขณะที่หัวใจของงานครูข้างถนน คือสร้างความไว้ใจกับทั้งเด็กและครอบครัว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหามากมายที่รายล้อมชีวิตพวกเขา ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา ค่าครองชีพ หรือปัญหาด้านพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก
โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะตามช่วงวัย และการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาสมควรได้รับในด้านสาธารณสุขและการศึกษา ที่ครูจิ๋วเชื่อว่า จะสามารถช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้
“เป้าหมายของเราคือทำให้พวกเขาเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้รับวัคซีน และต้องได้รับการศึกษา ไม่ว่าจะที่โรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียน หรือผลักดันให้ได้รับการฝึกวิชาชีพ ตอนนี้เรามีเด็กเร่ร่อนในความดูแล 83 คน และอีกกว่า 100 คน ในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ”
“สิ่งที่เราต้องทำคือหยุดวงจรชีวิตข้างถนนแล้วพาพวกเขาเข้าสู่กระบวนการขัดเกลาทางสังคม ซึ่งโรงเรียนคือสถานที่ที่ขัดเกลาที่ดีที่สุด ดังนั้นเราต้องทำให้พวกเขาอยู่ในโรงเรียนให้ยาวนานที่สุดเท่าที่ทำได้เราเชื่อว่าโรงเรียนเป็นที่ที่ปลอดภัยกว่าบนท้องถนนซึ่งเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย จุดเสี่ยงในที่สาธารณะที่พวกเขาอาศัยอยู่คือต้นทางของอาชญากรรมยาเสพติด การขายบริการ เป็นวงจรที่เราต้องตัดให้ขาดด้วยการทำให้พวกเขาอ่านออกเขียนได้ มีรั้วทางศีลธรรมให้เขา และเราสามารถดูแลเขาจากความเสี่ยงที่ต้องเผชิญได้”
สำหรับเด็กที่คุ้นชินกับชีวิตบนท้องถนน การปรับตัวสู่กระบวนการขัดเกลาทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย หลายรายหันหลังกลับไปหาสถานที่และสังคมที่พวกเขาคุ้นเคย เด็กบางคนใช้ชีวิตอยู่ในร้านเกมส์เป็นปีจนต้องบำบัดด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ขณะที่เด็กบางคนมีครอบครัวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการศึกษา
“คนในครอบครัวมีผลกระทบกับเด็กเยอะมาก บางเคสครอบครัวเด็กเองไม่ต้องการให้เรียน
อยากให้ไปใช้แรงงานหาเงินเข้าบ้าน เด็กบางคนก็ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงเรียน หยุดไป 2-3 ปี อายุเยอะแล้วต้องมาเรียนชั้นเด็กเล็กใหม่ กรณีแบบนี้เราต้องพยายามเข้าหาครอบครัวเขา โน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของการศึกษา”“มีบ้างที่ปู่ย่าไม่อยากให้เรียนแต่ฝั่งยายอยากให้หลานได้เรียน เราก็คุยกับยายให้เขาส่งเด็กให้เรา เราก็หาที่เรียนให้ช่วยเขาวางแผนหาวิธีลดค่าใช้จ่าย ช่วยค่าอุปกรณ์การเรียนชุดนักเรียน เราต้องทำให้ครอบครัวเขาเชื่อว่าการพยุงครอบครัวให้อยู่รอดต่อไป มันทำได้โดยใช้การศึกษานำทาง การทำงานด้วยวุฒิน้อยๆ หรือไม่ได้เรียนเลยมันไม่พาชีวิตไปไหน แม้จะเรียนแค่ ป.1 ก็ย่อมดีกว่าอนุบาล ป.3 ก็ดีกว่า ป.1 แล้วถ้าจบ ป.6 หรือ ม.3 ได้ จะมีสิทธิ์เลือกงานทำได้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้เราอยากสนับสนุนให้ไปถึงปริญญาตรี แต่ถ้าไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีวุฒิ ม.3 ก็ยังดี ถึงตรงนั้นเรายังมีลู่ทางช่วยเขาต่อ มีรุ่นพี่ของพวกเขาที่ใช้การศึกษาเปลี่ยนชีวิตรุ่นก่อนๆ ที่พร้อมช่วยให้เขาหางานทำได้ เด็กพวกนี้เขาจะช่วยดูแลกันต่อเป็นทอด”
อีกโครงการหนึ่งที่ครูจิ๋วเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้เกิดขึ้นคือรถที่ออกแบบให้เป็นเสมือนห้องเรียน ห้องสมุด และห้องทำกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ตามไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปากเกร็ด ดอนเมือง หลักสี่ และรังสิต
ครูจิ๋วเล่าว่า รถคันนี้มีหน้าที่เสริมกระบวนการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงเด็กในพื้นที่ไซต์งานก่อสร้างที่ขาดแคลนทั้งการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีเป้าหมายคือมอบการศึกษา ทำกิจกรรมเสริมทักษะเยียวยาเด็กจากปัญหาครอบครัว และผลักดันเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา
“เรามี พรบ. บัญญัติไว้ว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยต้องได้รับสิทธิในการเรียนหนังสือ และเด็กที่อยากเรียนเขาต้องได้เรียน นั่นเป็นหน้าที่ของพวกเราในการเข้าไปให้การศึกษาเบื้องต้นกับเขา นำกิจกรรมเสริมทักษะและความบันเทิงผ่อนคลายไปมอบให้ มีครูสองคนที่จะตระเวนไปกับรถ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์เก้าโมงเช้าถึงบ่ายสามโมงเราจะเข้าไปตามไซต์ก่อสร้างใน 4 พื้นที่”
ในระหว่างที่ครูคนหนึ่งทำกิจกรรม ครูอีกคนจะเริ่มพูดคุยกับเด็กหรือกับผู้ปกครอง แล้วเมื่อเกิดความไว้วางใจระหว่างกันแล้ว พวกเขาจะนำปัญหาต่างๆ มาปรึกษา ใครอยากเรียนหนังสือ ใครไม่มีใบเกิด หรือเด็กคนไหนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และอีกจิปาถะ เราก็จะรับเรื่องไว้แล้วหาวิธีช่วยแก้ไขกันไปทีละเคส
หลังดำเนินงานมามีบริษัทก่อสร้างหลายแห่งเริ่มติดต่อเข้ามาให้เข้าไปทำกิจกรรม ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ไกลจากจึงยังไม่สามารถไปได้ทั่วถึง ขณะที่งานด้านช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนถือเป็นงานที่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาในการวางแ
ผน จัดการแก้ไขปัญหา และวางแผนจัดหาทุนเต็มเวลา ทั้งยังมีเรื่องของงบประมาณและบุคลากรในการทำงาน
ทำให้ยังไม่มีแผนการขยายพื้นที่ทำกิจกรรม
ครูจิ๋ว เผยอีกว่า โครงการรถเคลื่อนที่เราได้รับความร่วมมือดีมาก ทำงานได้เต็มกำลัง ได้ผลเต็มที่ แต่ยังติดที่ว่าบุคลากรเรามีจำกัด ทั้งยังมีงานในส่วนอื่นที่เราต้องดูแล โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่เราต้องลงพื้นที่และคอยช่วยเหลือพวกเขาให้เต็มความสามารถ อย่างช่วงใกล้เปิดเทอมทุกครั้งเราก็ต้องวิ่งหาทุนเพื่อให้เด็กๆ ได้มีมีอุปกรณ์การเรียน มีชุดนักเรียน
“แต่จากการที่เราทำงานอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรถเคลื่อนที่เราก็มีบริษัทเอกชนที่เขาเห็นประโยชน์ในงานของเราก็ช่วยจัดสรรงบประมาณมาให้ส่วนกลุ่มเด็กเร่ร่อนก็ต้องพึ่งพิงงบประมาณจากการบริจาค
โชคดีในปีนี้เรามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษาเด็กเร่ร่อนราวหนึ่งร้อยคนที่เราดูแลอยู่ ทุนส่วนนี้เข้ามาช่วยเรื่องอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนของเด็กได้อย่างดี ช่วยลดภาระของมูลนิธิได้มาก เรามองว่าทุนก้อนนี้จะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้นอีกในอนาคต เพราะยังมีเด็กอีกมากที่รอให้เราเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงเด็กที่เราดูแลอยู่เดิมที่ต้องเติบโตมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น” ครูจิ๋วกล่าวย้ำ