รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญาสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กสศ.ได้ประมวลข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษเพื่อจัดสรรทุนเสมอภาค พบว่า ปี 2563 ภาคเรียนที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนนักเรียนที่สมัครคัดกรองทั้งสิ้น 1,831,250 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1,558,397 คน หรือ 17.5% สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน อีกด้านหนึ่งเป็นผลจากความทุ่มเทตั้งใจของคุณครูทั่วประเทศที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรองนักเรียนเข้ามา
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวต่อว่า จากนักเรียนที่สมัครเข้ามาทั้งหมด คณะวิจัยโครงการได้ใช้วิธีระเบียบวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมหรือ PMT พิจารณาใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ข้อมูลรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือน ไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน และ2.ข้อมูลสถานะครัวเรือนซึ่งมีทั้งหมด 8 ด้าน เช่น ครอบครัวมีภาระพึ่งพิง เช่น มีคนพิการ คนชรา เจ็บป่วยเรื้อรัง พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงปลอดภัย ขาดที่ดินทำกิน ไม่มียานพาหนะ แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่มีไฟฟ้า รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โดยในสถานการณ์ปกติ จากนักเรียนที่สมัครคัดกรองเข้ามาใหม่ทั้งหมดจะมีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษ ร้อยละ 20 หรือราว 300,000 คน แต่ปรากฎว่าเมื่ออ้างอิงรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยากจนพิเศษในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1,337 บาทต่อคนต่อเดือน พบว่าภาคเรียนที่ 1 ปี 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 600,000 คน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงร้อยละ 90 จำนวนนี้ยังไม่รวมนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับต่อเนื่องจากปีก่อน อีกราว 9 แสนคน
“ตัวเลขนี้ชี้ชัดว่า โควิด-19 ทำให้เด็กและครัวเรือนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาความเหลี่อมล้ำทางการศึกษาจะทวีความรุนแรง มีแนวโน้มที่เด็กจะมีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบมากขึ้น ยิ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนรัฐของเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษในแต่ละช่วงอายุ เด็กแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทางไปโรงเรียนสูงที่สุด รองลงมาคือ ค่าธรรมเนียม ค่าเครื่องแบบ และค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงขึ้นเมื่อมีการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น มากกว่า 3-4 เท่าของรายได้” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า บทเรียนจากการศึกษาของ JPAL Poverty Action Lab ในเรื่องการเพิ่มการเข้าเรียน การมาเรียน ลาออกกลางคัน พบว่า การอุดหนุนค่าใช้จ่ายครัวเรือนยากจนแม้เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลได้มากต่อการตัดสินใจของครัวเรือนในเรื่องการคงอยู่ในระบบการศึกษาของเด็กๆ จากประสบการณ์หลายประเทศชี้ว่า การอุดหนุนการเงิน ทั้งแบบมีและไม่มีเงื่อนไข ช่วยเพิ่มการมาเรียน และลดปัญหาการออกกลางคันได้จริง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้ตรวจสอบได้ ถือเป็นมาตรการเชิงป้องกันปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการคุ้มครองทางสังคม ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนเฉพาะหน้า และในอนาคต