หมายเหตุ สืบเนื่องจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดให้มีการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ โดยจะมีการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ข้ามประเทศครั้งแรก
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อพระราชทานปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส” กสศ. จึงขอใช้โอกาสนี้ นำบทความ เรื่อง “กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ งานพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็กและเยาวชน” เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ที่ตีพิมพ์ลงนสพ.มติชน ฉบับวันที่ 1 เม.ย.2563 มาเสนออีกครั้ง
งานพัฒนาคุณภาพชีวิต – สัมฤทธิผลของการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เกิดจากพระราชดำริอันมีพื้นฐานจากพระเมตตากรุณาธิคุณ และการทุ่มเททรงงานอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 40 ปี ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เป็นที่ประจักษ์ ชื่นชมและยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ ทำให้ทรงได้รับการถวายรางวัลอันสูงส่งและทรงเกียรติระดับนานาชาติมากมาย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2534 อาทิ “รางวัลแมกไซไซ” สาขาบริการสาธารณะจากประเทศฟิลิปปินส์ และรางวัลหรือตำแหน่งเกียรติยศอื่นในเวลาต่อมา “รางวัลเหรียญซีเรส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ด้านอาหารและโภชนาการดีเด่นจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2535 “รางวัลอินทิรา คานธี” จากประเทศอินเดีย ในปี 2547 สาขาสันติภาพ การลดอาวุธ และการพัฒนา โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ได้ถวายตำแหน่ง “อัครราชทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกด้านอาหารโรงเรียน” ในปี 2547 ในปีต่อมาองค์การยูเนสโกได้ถวายตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” ด้านการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อยด้านการศึกษา และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม จากการที่พระองค์ทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะจนทำให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในปี 2552 สมาพันธ์โภชนาการนานาชาติได้ขอพระราชานุญาตถวาย “รางวัลพิเศษที่สูงสุดทางโภชนาการ” และประกาศเกียรติคุณของพระองค์ท่านในการช่วยเหลือและส่งเสริมโภชนาการของผู้ด้อยโอกาสอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ และในปี 2561 องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟได้ถวาย “รางวัลผู้ทรงประสบความสำเร็จในการทำงานตลอดชีพ (Life-Time Achievement Award)” เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทยโดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีแรงบันดาลพระทัย จากการโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ได้ทรงทราบถึงปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากลำบากของประชาชนด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพบเด็กที่ขาดอาหาร ควบคู่กับการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ อาทิ โรคอุจจาระร่วง พยาธิลำไส้ ไข้หวัด
ด้วยพระเมตตาและกรุณาธิคุณ ทรงริเริ่ม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ในปี 2523 เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการขจัดปัญหาทุพโภชนาการในเด็กเล็ก โดยเริ่มที่ 3 โรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นขยายไปสู่โรงเรียนที่ห่างไกลและทุรกันดารทั่วประเทศ และได้ถูกปรับเป็น “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร”
พระองค์ทรงทุ่มเทและทรงงานหนักด้วยพระวิริยะอุตสาหะเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาโครงการให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทรงสนับสนุน เกื้อหนุนและติดตามเยี่ยมเยียนโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงมาโดยตลอด มีการวางแผนเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ ขณะนี้มีแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560-2569
ในปี 2563 นี้ เป็นปีที่โครงการดำเนินงานครบ 40 ปี และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนเป็นครั้งที่ 1,000 ในเวลาอันใกล้นี้
การดำเนินงาน ได้ดำเนินการที่โรงเรียน เพราะทำให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและนักเรียนที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการพัฒนาแบบองค์รวม โดยเริ่มงานที่จำเป็นและสำคัญก่อน เน้นที่งานอาหารและโภชนาการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหาร (ทุพโภชนาการ) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของชีวิต
นักเรียนเป็นศูนย์ของการพัฒนาและเน้นการเรียนรู้โดยการฝึก ปฏิบัติ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ ทั้งการเกษตร โภชนาการ สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น ตลอดจนการเรียนรู้ด้านอาชีพ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ได้พระราชทานทุนเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หลังจากจบชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับอาชีวะ ปริญญาตรี และระดับหลังปริญญาเป็นการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาและพัฒนา
การดำเนินงาน “ขยายผลสู่ชุมชน” โดยบริการสุขภาพแม่และเด็กในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง แม่ที่ตั้งครรภ์ได้รับการดูแลโดยครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้มีการฝึกและมีความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนเพื่อให้มีการคลอดที่ปลอดภัย และทารกแรกเกิดเป็นปกติ ปัญหาทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 2.5 กิโลกรัมลดลงจนมีน้อยมาก และภาวะสมองขาดออกซิเจนจนสมองพิการแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
รวมทั้งจัดให้มี “ศูนย์บริการความรู้” หรือ “ฐานการเรียนรู้” เช่น การสหกรณ์ การเกษตร การปลูกพืชผักผลไม้ การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การขยายพันธุ์พืช หญ้าแฝก การเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา การแปรรูปผลผลิต การทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้เพื่อผลิตเครื่องจักสาน การทอผ้าท้องถิ่น ผ้าบาติก เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจาก “ฐานการเรียนรู้” ได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นจนมีคุณภาพสามารถจัดจำหน่ายในร้าน “ภูฟ้า” ได้
ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการก่อตั้งชมรมศิษย์เก่าของโรงเรียน ซึ่งรวมถึงนักเรียนที่ได้รับทุนพระราชทานด้วย เพื่อรวมตัวช่วยกันในการพัฒนาโรงเรียนและชุมชน มีศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้คืนถิ่นกลับมาสอนที่โรงเรียน เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และประกอบอาชีพการเกษตรและช่วยอบรมชาวบ้านอีกด้วย
การบูรณาการการเรียนรู้และพัฒนา นักเรียนและครูได้เรียนรู้จากผู้มีความรู้และประสบการณ์จากปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยงานของราชการ สถาบันการศึกษา ศิษย์เก่าตลอดจนภาคเอกชน ทำให้นักเรียนและโรงเรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยทำให้โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับนักเรียนและประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร คือการพัฒนาการแพทย์องค์รวม เชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงจนเกิดความสมบูรณ์และนำไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้ เริ่มต้นจากการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อการเรียนรู้และมีผลผลิตอาหารสู่ห้องครัว ซึ่งรวมถึงพืชผัก ผลไม้ ไก่ไข่ ปลา ถั่วเมล็ดแห้ง และการเกษตรอื่นๆ เพื่อเป็นฐานการเรียน และจะได้เป็นทักษะในการประกอบอาชีพต่อไป เช่น การเลี้ยงหมู กบ ศูนย์พันธุ์พืชผัก เป็นต้น
การบริการอาหารในโรงเรียนทุกวัน และมีการพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเมนูอาหารที่มีการปรับทุกสัปดาห์และทุกเดือนตามฤดูกาลของอาหารและผลผลิตที่ได้จากโรงเรียน เพื่อให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ ให้นักเรียนได้พลังงานและสารอาหารอื่นๆ เกินร้อยละ 35 ของความต้องการในแต่ละวัน อาหารที่นักเรียนได้รับมีการดูแลเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ควบคู่ไปกับน้ำดื่มที่สะอาด มีการตรวจคุณภาพและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ นักเรียนทุกคนได้ดื่มนมเสริม 200 มิลลิกรัมต่อวัน
การประเมินภาวะโภชนาการ เพื่อให้ทราบภาวะโภชนาการ ตลอดจนทราบถึงนักเรียนที่มีปัญหาการเจริญเติบโตด้านน้ำหนัก และส่วนสูง ภาวะคอพอก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไข เด็กที่มีน้ำหนักและความสูงต่ำกว่าเกณฑ์จะได้บริโภคไข่และนมเพิ่มขึ้นตลอดจนรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยพื้นฐานที่ทำให้เกิดทุพโภชนาการ โรงเรียนที่มีปัญหาคอพอกจากการขาดสารไอโอดีน ได้มีการกำจัดปัญหานี้ให้หมดไปโดยการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร และเติมไอโอดีนในน้ำดื่ม ในโรงเรียนที่มีปัญหาเด็กน้ำหนักเกินทางโรงเรียนได้จัดให้เด็กมีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น และลดอาหารที่มีความหวานและความมัน
การรักษาการเจ็บป่วย ได้มีการบันทึกการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ เช่น อุจจาระร่วง ไข้หวัด พยาธิ โดยการตรวจอุจจาระเป็นระยะๆ และบันทึกการเกิดไข้มาลาเรียในพื้นที่ที่มีโรคนี้ นักเรียนที่เจ็บหรือป่วยจะได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงเรียน และจะมีเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมาตรวจรักษา บางโรงเรียนมีสุขศาลา (หน่วยอนามัย) ในโรงเรียนเพื่อให้การรักษาเบื้องต้นแก่นักเรียน
การศึกษาได้ให้ความสำคัญทั้งวิชาการและจริยธรรม มีการทดสอบพฤติกรรมด้านจริยธรรม คุณธรรม ทุกปีการศึกษาและมีการทดสอบวิชาการในแต่ละกลุ่มสาระ (O-NET) ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ คุณภาพการศึกษาได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับและมีการสอนเสริมในวิชาที่นักเรียนสอบได้คะแนนต่ำ
การเรียนรู้เรื่องสหกรณ์ นักเรียนได้มีการเรียนและฝึกปฏิบัติ การทำบัญชีและคุณธรรมจริยธรรมตามหลักและอุดมการณ์สหกรณ์ ซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ผลิตผลด้านการเกษตรได้มีการนำเข้าสหกรณ์เพื่อการเรียนรู้เรื่องสหกรณ์โดยการฝึกปฏิบัติจริงอีกด้วย
การสร้างเสริมศักยภาพของนักเรียนทางการอาชีพที่กล่าวมาแล้ว นอกจากหัตถกรรมการแปรรูปอาหารเบื้องต้น เช่น ขนม กล้วยแปรรูป การตัดผม ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังมีงานอาชีพตามท้องถิ่น เช่น การทำผ้าบาติก การทำไม้กวาด เครื่องจักสาน เป็นต้น
สําหรับการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเรียนและการอนุรักษ์การแสดงและการแต่งกายของท้องถิ่น ตลอดจนการร่วมในการส่งเสริมและร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของศาสนา นักเรียนได้เรียนรู้การรักษาแหล่งน้ำ การปลูกต้นไม้ การอนุรักษ์ธรรมชาติป่าไม้ตามพื้นที่ตนเองอยู่อาศัย
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนแต่ละครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะได้รับการถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานซึ่งจะครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักจากผู้อำนวยการ เกือบทุกครั้งพระองค์จะทรงมีข้อซักถามหรือข้อคิดเห็นเพื่อให้งานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
จากนั้นจะเสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เช่น การเรียนการสอน การใช้คอมพิวเตอร์ ห้องสมุด กิจกรรมสหกรณ์ การแสดงเชิงวัฒนธรรม การฝึกอาชีพ โรงอาหารและกิจกรรมประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กิจกรรมการปลูกพืชผักผลไม้ ปศุสัตว์ ประมงและงานพัฒนาที่ดิน บางโรงเรียนจะมีศูนย์พันธุ์พืชผักและผลไม้ นักเรียนและครูที่รับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ ได้มีโอกาสถวายรายงานซึ่งสร้างความมั่นใจและภูมิใจแก่นักเรียนในตนเองเป็นอย่างยิ่ง
พระราชทานโอกาสให้นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่กำลังศึกษาในระดับต่างๆ ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ปริญญาตรี และหลังปริญญาตรี ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรายงานความก้าวหน้าของการศึกษา
นอกจากนี้ ชมรมศิษย์เก่าของโรงเรียน รวมถึงผู้ได้รับพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าเพื่อรายงานถึงกิจกรรรมที่ทำร่วมกันในการพัฒนาโรงเรียนและชุมชน ในการประกอบอาชีพทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างที่ทรงทอดพระเนตรคือ ศูนย์บริการความรู้ หรือฐานการเรียนรู้สำหรับผู้ปกครองและชุมชน ศิษย์เก่าหลายคน ได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญทางวิชาการผ่านฐานการเรียนรู้เหล่านี้สัมฤทธิผลของโครงการตามพระราชดำริ
- ในปี 2562 มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาซึ่งรวมสามเณรที่อยู่ในโครงการรวม 133,588 คน ในสังกัดของตำรวจตระเวนชายแดน (218 โรงเรียน) สำนักงานการศึกษาพื้นฐาน (221 โรงเรียน) การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (282 ศูนย์) สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (17 โรงเรียนเอกชนอิสลาม) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (69 โรงเรียนปริยัติธรรม) สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร (25 โรงเรียน) และองค์กรปกครองท้องถิ่น (9 โรงเรียน และ 20 ศูนย์เด็กเล็ก)
- โรงเรียนหรือศูนย์การศึกษาเหล่านี้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายหลักตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ภาวะโภชนาการ สุขภาวะ และสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมและสุขภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ปัญหาโภชนาการที่เกิดจากการขาดพลังงานและสารอาหารต่างๆ แทบจะถูกขจัดให้หมดไป บางโรงเรียนเริ่มมีปัญหาน้ำหนักเกิน ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
- นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่ได้รับทุนพระราชทานให้ศึกษาต่อในชั้นมัธยม อาชีวศึกษา ระดับปริญญาตรี และโท มีรวมกันตั้งแต่ปี 2531-2562 เป็นจำนวน 6,620 คน ในจำนวนนี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 1,478 คน และระดับปริญญาโท 10 คน มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัว หรือทุนอื่นถึงระดับปริญญาโท 5 ราย และปริญญาเอก 3 ราย ล่าสุดคือ นายจักรพงษ์ ทองสวี จากโรงเรียนบ้านเขาล้าน จังหวัดชุมพร ได้รับทุนพระราชทานต่อเนื่องจนจบปริญญาตรีสาขาวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้รับทุนเป็นผู้ช่วยวิจัยจากอาจารย์ให้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวนศาสตร์ในปี 2562
- .ขณะนี้ในแต่ละปีจะมีนักเรียน และนักศึกษารับทุนพระราชทานประมาณ 1,700-1,800 คน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาที่ส่งไปเรียนต่อที่อินเดียปีละ 2-3 คน เงินทุนพระราชทานให้แก่นักเรียนและนักศึกษาเป็นทุนส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงินประมาณ 46.2 ล้านบาท ในปีการศึกษา 2562
- ผู้ที่ได้รับทุนพระราชทาน และศิษย์เก่าโรงเรียน โดยเฉพาะในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนได้ก่อตั้งชมรมศิษย์เก่าเพื่อรวมพลังในการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีความยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หลายรายได้กลับมาทำงานในชุมชนและท้องถิ่น
โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ขยายผลเพื่อเป็นตัวอย่างและต้นแบบการพัฒนาชีวิตเด็กนักเรียนและชุมชนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียรวม 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มองโกเลีย ภูฏาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออก นานาประเทศต่างชื่นชมและยอมรับในพระปรีชาสามารถและพระเมตตากรุณา วิธีการทรงงานด้วยความพากเพียรและพัฒนางานอย่างต่อเนื่องจนเกิดสัมฤทธิผลเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการพระราชดำรินี้ก่อให้เกิดความเสมอภาคและสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาและการพัฒนาของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
เนื่องในโอกาสที่พระองค์มีพระชนมายุ 65 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ข้าพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต ถวายพระพร ขอพระองค์ทรงมีพระสุขภาวะที่แข็งแรง มีพระราชประสงค์จำนงค์หมายสิ่งใด ขอจงสัมฤทธิผลทุกประการ เป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทยและนานาชาติสืบไป
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา
อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล