กสศ.จับมือ 66 เครือข่ายทั่วประเทศ ยกระดับการช่วยเหลือเด็กนอกระบบกว่า 35,000 คนทั่วประเทศ ให้ได้รับการศึกษา หรือพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการและศักยภาพของเด็ก พร้อมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพ และดูแลคุณภาพชีวิตครูนอกระบบอีก 3,700 คน พร้อมสร้างระบบป้องกันเด็กหลุดจากการศึกษา
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจง “แนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ปีงบประมาณ 2563 โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนจำนวน 66 เครือข่ายทั่วประเทศ
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ให้แก่ 66 องค์กรภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 74 จังหวัด พัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ฐานะยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ เข้าไม่ถึงการศึกษา ตั้งแต่อายุ 2-25 ปี กว่า 35,000 คน โดย กสศ. สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หรือการพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการและศักยภาพของเด็ก โดยมีองค์กรหรือภาคีเครือข่ายเป็น “ครูพี่เลี้ยง” ซึ่ง กสศ. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายครูนอกระบบกว่า 3,700 คนอีกด้วย
“ครูพี่เลี้ยง จะเป็นเหมือนฟันเฟืองในการทำงาน ประสานส่งต่อเด็กนอกระบบให้กับกสศ. เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน แบ่งประเภทและจัดทำรูปแบบการศึกษา ตามความเหมาะสม และ กสศ. จะติดตามและประเมินผลต่อไป เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำอีก” นายสุภกร กล่าว
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกสศ. และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่ทำงานกับเด็กและครู แต่ต้องมีผู้ปกครอง ชุมชนในระดับหมู่บ้าน และโครงการนี้จะสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงาน การวิเคราะห์เด็กนอกระบบแบบเจาะลึกในทุกมิติ ทั้งด้านเพศ อายุ ภูมิหลังของครอบครัว สภาพแวดล้อม และชุมชน การดำเนินงานในช่วงแรกจะเน้นแก้ปัญหาให้ได้ พร้อมคำนึงถึงการป้องกันปัญหาควบคู่กันไป และสร้างการป้องกันเด็กที่จะหลุดจากระบบการศึกษา เพราะเรารู้ว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงสูง
“เราสนับสนุนให้เกิดการเฝ้าระวังที่มีการประสานระหว่างผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน หากเกิดกลไกลักษณะนี้ จะทำให้เรื่องนี้ง่ายและไม่ซับซ้อนเท่าการปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วไม่สามารถดึงกลับเข้ามาได้อีก” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. และรองประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูฯ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาของไทยถูกเลี้ยงไข้มากว่า 20 กว่าปี ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีเด็กยากจนด้อยโอกาสมากกว่า 3.7 ล้านคน ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ครูที่อยู่นอกระบบไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ ไม่มีอนาคต ไม่ได้รับการยอมรับ จนอยู่ในสภาพซึมเศร้าในวิชาชีพ โครงการนี้จึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตครูนอกระบบให้ดีขึ้น มีสวัสดิการ มีความมั่นคง ทั้งนี้การขับเคลื่อนเชิงระบบต้องค่อยๆ ทำ ซึ่งการสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาด้านการศึกษาเด็กนอกระบบของประเทศได้ โดยการให้ครูนอกระบบบอกเราว่า เครื่องมือที่ใช้คืออะไร ลงพื้นที่ยังไง แล้วเราจะทำงานตรงนี้ให้เป็นชุดนวัตกรรม ชุดความรู้ แล้วให้เครดิตกับครูทุกคน ไม่เช่นนั้นวิธีการดีๆ ที่คิดค้นขึ้นมาจะหายไป หรืออยู่กับที่ ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาทำให้เป็นความรู้ และเป็นตัวปรับเปลี่ยนนโยบายได้ ต่อไปนี้ กสศ. จะทำให้เป็นระบบทั้งเรื่องชุดความรู้ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ กสศ. จะเป็นเจ้าภาพตรงนี้ มีกองทุน มีเด็กนอกระบบ ครูนอกระบบกลุ่มนี้เป็นเป้าหมาย และภารกิจที่ กสศ. ต้องทำ การมีเจ้าภาพที่มีตัวตนชัดเจนเข้ามาทำงานเพื่อเด็กนอกระบบ เด็กยากจนพิเศษ และครู จะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ยั่งยืน
นางสาวเนตรดาว ยั่งยุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายการทำงานเด็กนอกระบบการศึกษา 41 เครือข่าย กล่าวว่า การทำงานในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่ภาคเหนือจะเป็นกลุ่มเด็กพิเศษที่บกพร่องทางพัฒนาการ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กแรงงานข้ามชาติ เยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา รวมถึงกลุ่มเด็กเปราะบาง มีสัดส่วนอายุ 2-21 ปี ส่วนกลุ่มหนาแน่นจะอยู่ในช่วงอายุ 13-25 ปี โดยแต่ละจังหวัดจะมีอาสาสมัครประจำกลุ่มตามประเภทของเด็กที่มีปัญหา มีคณะทำงานคอยกลั่นกรอง รวมถึงกำหนดกิจกรรมช่วยเหลือเด็ก ซึ่งกลไกดังกล่าวจัดตั้งจากฐานของคนพื้นที่หรือที่เรียกว่า “ครูนอกระบบ” หรือ “ครูพี่เลี้ยง” ที่เป็นกลไกสำคัญสำหรับหลักการทำงานเชิงพื้นที่ ต้องทำบนรากฐานประเด็นปัญหาเด็ก อาทิ สิทธิมนุษยชน ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต การสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เน้นให้เด็กปรับตัวได้ นำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตามโครงการฯ นี้ สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเด็กได้จริง ทำให้สังคมตระหนัก และเกิดการช่วยเหลือเด็กแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด
ขณะที่ ผศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมบริหารโครงการฯ จะมีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุนฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาของ กสศ. และตัวโครงการที่ผู้รับทุนส่งเข้ามา เพื่อออกแบบวิธีเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ สนับสนุน ติดตามประเมินผลโดยจะเน้นการลงพื้นที่ เพื่อไปดูการทำงานทั้งก่อนและหลังดำเนินการ ว่าตอบโจทย์หรือไม่ หากมีปัญหาจะช่วยให้คำปรึกษาเพื่อให้การทำงานดีขึ้น ทั้งนี้คาดหวังว่าเด็กเยาวชนและครูจะเกิดการพัฒนาตนเอง ได้เห็นต้นแบบโมเดลการช่วยเหลือจากพื้นที่จริง เห็นภาพของเครื่องมือ วิธีพัฒนาเด็กและครูนอกระบบที่ทำงานจริงๆ เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน