จาก “ผู้รับ” สู่ “ผู้ให้” น้ำใจช่วย COVID-19

จาก “ผู้รับ” สู่ “ผู้ให้” น้ำใจช่วย COVID-19

ในวันที่สังคมกำลังคร่ำเครียดไปกับวิกฤต COVID-19 หลายคนตกงาน หลายคนขาดรายได้ หลายคนแทบไม่มีแม้แต่อาหารที่จะกินในแต่ละวัน ยิ่งสถานการณ์เป็นเช่นนี้นานต่อไปอีกเท่าไหร่ ความเดือดร้อนยิ่งมากขึ้นไปทุกที

แต่ใน “วิกฤต” ครั้งนี้อีกด้านหนึ่งทำให้เราได้เห็นเรื่องราวที่ดีๆ โดยเฉพาะกับสายธารน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยเหือดแห้งไปจากสังคม ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ระดับบริษัทยักใหญ่ไปจนถึงคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ออกมาให้ความช่วยเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อน ผ่านรูปแบบต่างๆ จนทำให้สถานการณ์ที่เคยตึงเครียดเริ่มดีขึ้น

คล้ายกับ นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี กลุ่มหนึ่งที่ออกมารวมตัวกันทำ “จิตอาสา” เริ่มจากการไปเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อหารายได้มาซื้อข้าวสารอาหารแห้งแจกตระเวนชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เมื่อเงินก้อนนั้นหมด พวกเขาก็ยังช่วยกันลงขันไปหาซื้อวัตถุดิบไปทำข้าวกล่องแจกในสัปดาห์ถัดๆ มา

 

จาก “ผู้รับ” สู่ “ผู้ให้” ทำได้ตั้งแต่ตอนนี้

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งฐานะยากลำบาก การที่ยอมแบ่งเงินซึ่งจะต้องนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปช่วยเหลือคนอื่นนั้นเป็นเพราะคิดเพียงแค่ต้องการช่วยเหลือคนที่ยากลำบากกว่าตัวเอง

“ถึงหนูไม่มีเงินก็จริงแต่หนูก็ยังอยู่กันได้เพราะมีทุนฯ แต่ชาวบ้านที่พวกเราไปช่วย เขาดูแย่กว่าพวกหนูเยอะ บางคนไม่มีงาน ไม่มีรายได้ อยู่บ้านเฉยๆ บางคนเป็นคนแก่ติดเตียง เราไปเห็นตรงนั้นรู้เลยว่าเขาลำบากมากกว่าพวกหนูมาก ตอนนี้พวกหนูได้รับโอกาสได้ทุนตรงนี้มาก็อยากตอบแทนบางส่วนคืนกลับไปให้สังคมไม่ต้องรอให้เรียนจบแล้วค่อยตอบแทน”

 

เล่นดนตรีเปิดหมวกระดมทุน 1 หมื่นบาท

น้องแอน-สุทาธินี บัวทอง นักศึกษาโลจิสติกส์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปว่า เรื่องการทำจิตอาสาเป็นเรื่องที่ทำกันมานานก่อนที่จะมี COVID-19 ซึ่งพวกเราจะมาคิดกันว่าจะไปช่วยเหลือใครที่ไหนได้บ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีทั้งไปซื้อของไปช่วยเหลือน้องบ้านเอื้ออารี ไปกวาดลานวัด ล้างห้องน้ำวัด ซื้อของไปถวายพระเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ในกลุ่มส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แต่บางคนก็ไม่ใช่เด็กทุนฯ ซึ่งอยากมาร่วมทำจิตอาสาด้วยกัน ตอนนั้นไประดมทุนกันด้วยการเล่นดนตรีเปิดหมวกที่ ตลาดนัด 700 ไร่ และ ตลาดนัดเทศกิจ 4-5 รอบ ได้เงินมาประมาณ 1 หมื่นบาท ก็ซื้อของไปทำจิตอาสาก่อนหน้านี้บ้าง

 

ไม่คิดว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนหนักขนาดนี้

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คนเดือดร้อนกันมากเราก็คิดว่าจะเอาเงินที่เหลือทั้งหมดไปซื้ออาหารแห้งของใช้จำเป็นไปแจกให้ชาวบ้านที่เขาเดือดร้อน กว่า 50 ชุด ทั้งข้าวสาร 5 กก. ไข่ไก่ นม ขนม ใส่รถกระบะไปแจกตามบ้านที่ช่วง กม.12 ซึ่งไม่ไกลมากแลชาวบ้านเดือดร้อนหนักมาก

“ตอนเราไปเห็นก็ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้  บางคนเป็นคุณตาแก่ๆ อยู่คนเดียว ลำบากมาก เราก็เอาของไปให้ก็ช่วยได้เท่าที่ทำได้ คุณตาคุณยายก็ขอบคุณที่เอาของมาแจก แค่นี้เราก็มีความสุขแล้วที่ได้ทำเพราะปกติก็เป็นคนขอบทำบุญที่บ้านก็เป็นอย่างนี้กันทั้งบ้าน” น้องแอนสะท้อนความรู้สึก

 

เพราะเคยผ่านความลำบาก เลยอยากช่วยคนที่ลำบากกว่า

ด้าน น้องหมวย-หมวย เทพเดช นักศึกษา ปวส.2 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ตอนไปแจกอาหารแห้งของใช้ให้คนในพื้นที่ตรงนั้นเพราะผู้ช่วยกำนันบอกว่าคนแถวนั้นค่อนข้างลำบากเวลามีคนมาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จะเข้าไม่ค่อยถึงเราจึงเลือกไปที่ตรงนี้กัน ซึ่งไปถึงบ้านเขายังเป็นสังกะสี เป็นเพิงไม้ ยิ่งมาเจอสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังจากไปแจกอาหารแห้งของใช้รอบนั้นทุนที่เคยได้มาจากการเล่นดนตรีเปิดหมวกก็หมดไป เราก็เลยชวนเพื่อนๆ ที่สนิทกันมาลงขันนำเงินคนละ 200-300 บาท เพื่อเอาไปทำข้าวกล่องแจกชาวบ้านกันอีกรอบ เพราะเราเคยไปดูคนอื่นเขาแจกบางที่ก็ใส่หมูนิดเดียว ไข่นิดเดียว แต่คราวนี้เราทำกันเองก็ใส่ได้เต็มที่ แม่เพื่อนเป็นคนทำก็ช่วยด้วย  หรือเพื่อนบางคนไปฝึกงานแล้วกลับมาพื้นที่ไม่ได้แต่อยากร่วมทำด้วยก็โอนเงินมาให้ก็มีหลายคน      

“เราทำตรงนี้แล้วสบายใจเราว่าเราลำบากแล้ว แต่พอไปเห็นเขาลำบากกว่าเราเยอะ เราก็อยากเข้าไปช่วยเขา เราเข้าใจว่าความลำบากมันเป็นยังไง ความไม่มีมันเป็นยังไง เพราะเราก็เคยไม่มี เราเคยได้เงินไปโรงเรียนวันละ 15 บาท เราเกือบไม่ได้เรียนต่อจนมาได้ทุนฯ เราผ่านความยากลำบากตรงนั้นมาแล้ว เราก็อยากช่วยเหลือคนที่ยากลำบากกว่าเรา”น้องหมวยกล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค