‘COVID-19 ไม่ใช่ปัญหา’ หน้าที่เราคือต้องหาวิธีทุกทางที่ทำได้

‘COVID-19 ไม่ใช่ปัญหา’ หน้าที่เราคือต้องหาวิธีทุกทางที่ทำได้

โมเดลแบ่งทีมลงพื้นที่ค้นหา-เก็บข้อมูลเด็กนอกระบบ
ผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานช่วยเหลือเด็กตั้งแต่ค้นพบจนส่งเข้าเรียน

นับตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีได้เริ่ม โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ในเวลาไม่นาน ภาคีจังหวัดก็สามารถค้นหากลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นได้จำนวนทั้งหมด 408 ราย ทั้งยังได้เตรียมความพร้อมที่จะส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกทักษะอาชีพตามความถนัดได้แล้วในลำดับถัดไป

สถาปนา ธรรมโมรา ปลัดเทศบาล ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เผยว่า วิธีการหนึ่งที่ทางจังหวัดนำมาใช้คือ การแบ่งทีมเก็บข้อมูลออกเป็นหลายชุด ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายหลายหน่วยงาน อาทิ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี และทีมอาสามสมัครในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงได้จัดตั้ง ‘สภาเด็กและเยาวชนเพื่อนยามยาก’ ซึ่งมีหน้าที่คัดกรองกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือถูกละเมิดทางเพศ โดยจะเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อนำกลับมาพิจารณาจัดลำดับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

ปลัดเทศบาล ต.เขาโจด อธิบายข้อดีของการใช้ทีมเก็บข้อมูลหลายชุดว่า “ทำให้พบเด็กได้เร็ว อีกทั้งการแบ่งหน้าที่และพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน ยังช่วยให้สามารถส่งต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการช่วยเหลือได้เป็นระบบ เช่นเรามีหน่วยงานที่เข้าไปสำรวจพบเด็ก แล้วจะมีอีกหน่วยเข้าไปเยียวยาครอบครัว ซ่อมแซมบ้าน มอบเงินช่วยเหลือ จากนั้นก็จะส่งต่อมาที่อีกหน่วยซึ่งทำหน้าที่นำชื่อเด็กเข้าระบบ เตรียมความพร้อมเพื่อส่งเข้าเรียน”  

 

เดินงานต่อเนื่องแม้วิกฤติ COVID-19 กระทบหนัก

การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วทุกพื้นที่ ทำให้การงานหลายอย่างต้องหยุดชะงัก ธุรกิจการค้าชะลอตัวถึงหยุดนิ่ง แต่ปลัดเทศบาล ต.เขาโจด ยืนยันว่าแผนการช่วยเหลือเด็กนอกระบบยังคงดำเนินต่อไป โดยปรับกระบวนการและระดมความคิดทีมงานทุกระดับช่วยกันหาวิธีเสริม ตั้งแต่การใช้โทรศัพท์ในการติดต่องาน สื่อสารออนไลน์ และใช้โปรแกรมแชทสอบถามข้อมูลเด็กเพิ่มเติม

“ผมคิดว่า COVID-19 ไม่ใช่ปัญหา ในการทำงานเราจำเป็นต้องเจออุปสรรค ที่สำคัญคือต้องหาวิธีทุกทางที่ทำได้ ตอนนี้เด็กในกลุ่มเป้าหมายเราอยู่ติดที่ ทุกคนอยู่บ้าน เราก็เอาข้อมูลที่เก็บรอบแรกมาดูเบื้องต้น คัดเอาคนที่มีความพร้อมออกมาก่อน แล้วใช้โทรศัพท์หรือไลน์สื่อสารดึงข้อมูลเพิ่ม บางคนติดต่อไม่ได้เราก็แจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้าน หรือให้อาสาสมัครในพื้นที่ติดต่อเด็กอีกรอบว่าเขาสนใจจะเรียนต่อลักษณะไหน หรืออยากจะฝึกอาชีพอะไร”

ด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้ตอนนี้เด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย 408 ราย ได้เข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมส่งกลับเข้าเรียนและฝึกอาชีพแล้วจำนวนหนึ่ง

“เราพร้อมส่งเด็กชุดแรกเข้าเรียน กศน. แล้ว 38 คน ขณะเดียวกันก็ได้ประสานกับ กศน. จังหวัดและส่งข้อมูลของเด็กให้ไปเรียบร้อยแล้ว กลุ่มนี้คือเขาสมัครใจเรียน กศน. เพราะหลายคนโตเกินกว่าจะพร้อมเรียนในชั้นเรียนปกติ กับอีกส่วนหนึ่งที่เราเตรียมให้เข้าเรียนในระบบ ซึ่งก็มีโรงเรียนที่พร้อมรองรับ ในส่วนนี้เกิดจากความร่วมมือของ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ที่ช่วยประสานงานให้ ถ้าทุกอย่างพร้อมหลังจากนี้ เราสามารถส่งเขาเข้าระบบได้ทันที”

 

แรงหนุนจาก ‘มิตรร่วมทาง’

ในภารกิจค้นหา-ฟื้นฟู-ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบ จ.กาญจนบุรี ไม่ว่าจะก่อนหน้าหรือในช่วงของการระบาดของ COVID-19 ที่ดำเนินอยู่นี้ ‘บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี’ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการลงพื้นที่พบครอบครัวเด็ก และพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นทีมแรกๆ

วรรณวิสา พิทักษ์วงษ์ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การทำงานร่วมกับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ฯ ครอบคลุมในส่วนของเด็กด้อยโอกาสทั้งหมด สำหรับกลุ่มเด็กนอกระบบ ทางบ้านพักเด็ก ฯ มองว่านอกจากปัญหาเรื่องการขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังต้องมองไปถึงมิติด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะปัญหาของเด็กด้อยโอกาสคนหนึ่งมักประกอบด้วยหลายเรื่อง เช่น สภาพบ้านที่ชำรุดผุพัง มีคนพิการหรือผู้สูงอายุในครอบครัวที่ต้องดูแลพิเศษ เด็กแต่ละคนจึงต้องพิจารณาความช่วยเหลือแตกต่างกันไป

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่พบแล้ว และอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเข้าเรียนในระบบได้ บ้านพักเด็ก ฯ จะเป็นฝ่ายประสานงานเรื่องสมัครเรียน ติดต่อโรงเรียนให้ ในที่นี้คือ ‘สถาบันเพาะกล้าคุณธรรม’ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์(พม.) ที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่ให้การศึกษาในระดับชั้น ม.1-ม.6 ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในรูปแบบโรงเรียนประจำ เด็ก ๆ จะได้รับการเรียนการสอน ที่พัก อาหารสามมื้อ อุปกรณ์การเรียน และมีการฝึกอาชีพเสริม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

“ในช่วงนี้ที่ภาวะ COVID-19 ระบาดหนัก ทางบ้านพักเด็ก ฯ เรายังคงการทำงานเหมือนเดิม แต่ปรับให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น คือเราได้คำนึงถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นของเด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหา บางครอบครัวพ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ ปกติก็มีเงินส่งกลับบ้านมา แต่ในช่วงนี้เขาต้องหยุดงาน บางคนกลับมาอยู่บ้าน ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ เราก็ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเรื่องปากท้องเขาก่อน เอาของไปมอบให้ พร้อมเงินสงเคราะห์เบื้องต้น เป้าหมายคือเราจะช่วยให้เขาพออยู่ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แล้วเรื่องการเรียนหรือฝึกอาชีพก็จะค่อยตามมาหลังจากนี้”

กาญจนบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการรับส่งงาน การทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและเป็นระบบ ซึ่งทำให้แผนงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสรุดหน้าต่อไป แม้จะมีการระบาดของไวรัสโคโรน่าเป็นอุปสรรคสำคัญ

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค