ธารน้ำใจจากทุกภาคส่วนแปรเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารช่วยเหลือน้องๆ ทั่วประเทศ ในโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง”
ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ท่ามกลางความร่วมไม้ร่วมมือการสนับสนุนทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และภาคประชาชนที่เข้ามีส่วนร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หยิบยื่นน้ำใจและความปรารถนาดีทั้งในรูปของเงิน อาหาร สิ่งของ ส่งต่อไปยังนักเรียนที่ยากลำบากและได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนทำให้การปิดเทอมยาวนานกว่าเดิม
COVID-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนทั่วประเทศ หลายครอบครัวผู้ปกครองถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่ในช่วงเวลาปกติก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ยิ่งยากลำบากมากขึ้น จากการสำรวจพบว่าปัญหาที่นักเรียนประสบมากที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของร่างกาย สมอง และจิตใจ
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการชื่อดัง กล่าวว่า จากการเลื่อนปิดเทอมที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่า 7 แสนคน ที่เดิมเคยฝากท้องไว้กับที่โรงเรียนแต่ตอนนี้ต้องกลับกินอาหารที่บ้านซึ่งผู้ปกครองสามารถแบกรับภาระตรงนี้ ทำให้อาหารที่ได้รับไม่ถูกหลักโภชนาการ กินไม่อิ่ม หรือต้องอดมื้อกินมื้อ แม้เพียงแค่ 2-3 เดือน ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กยากจนที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้ว จะยิ่งส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย ไปจนถึงขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น มีรูปร่างผอม เตี้ย แคระแกร็น
เบื้องต้น กสศ. ได้จัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด ได้แก่ สพฐ. ตชด. และ อปท. ที่ กสศ.ดูแลทั้งหมด จำนวน 753,997 คน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน พร้อมกันนี้ยังได้ริเริ่มรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วัน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังนักเรียนไปจนถึงช่วงเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า กสศ. เล็งเห็นความสำคัญปัญหาขาดแคลนโภชนาการของเด็ก จึงจัดโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ขึ้นโดยได้อนุมัติเงินส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลประทบไปแล้วกว่า 753,957 คน แต่ด้วยกำลังของ กสศ. เพียงองค์กรเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือเรื่องโภชนาการช่วงปิดเทมอของเด็กได้ครบทั้ง 46 วัน ดังนั้นอีก 16 วันที่เหลือต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อนำไปมอบให้กับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส ซึ่งเงินบริจาคจำนวนนี้สามารถช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบได้ทันที 2 กลุ่ม คือ นักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะทุพโภชนาการ และนักเรียนยากจนพิเศษชั้นอนุบาล เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวผ่านวิกฤตและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึงนี้
หลังจากเปิดตัวโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ CENTRAL GROUP, Wongnai, Disrupt Technology Venture, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ราชกรีฑาสโมสร, สโมสรโรตารีกรุงเทพ, ไปจนถึง อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ศิลปินขวัญใจมหาชน และเหล่าดารา “Dr.Jill family” ก้อย รัชวิน, คริส หอวัง, แพท ณปภา
ตูน บอดี้สแลม กล่าวถึงความช่วยเหลือครั้งนี้ว่า “ผมคิดว่า กสศ. ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี เป็นองค์กรที่ทำงานหนัก มีกิจกรรม สถิติการลงพื้นที่ มีข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้ประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเด็กยากจนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผมอยากใช้เสียงของผมให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นสื่อกลางเชิญชวนให้ประชาชนและภาคเอกชนร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือโครงการของ กสศ.”
ปัจจุบันความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนได้ส่งต่อไปถึงมือเด็กๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วในรอบแรก และอยู่ระหว่างการทยอยส่งต่อในรอบที่สอง โดยมีเสียงสะท้อนจากน้องๆ ที่เต็มไปด้วยรอยิ้ม และความสุข จากธารน้ำใจที่หลั่งใจมาจากทุกภาคส่วน
ความช่วยเหลือที่ “รวดเร็ว” และ “ตรงเป้า” เข้าถึงกลุ่มเด็กนักเรียนที่เดือดร้อนได้ในเวลาอันรวดเร็วนั้น เป็นเพราะระบบฐานของมูลของ กสศ. ที่เรียกว่า iSEE หรือ ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำให้ความช่วยเหลือดังกล่าวช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนักเรียนและครอบครัวได้เป็นอย่างมาก อนุสรณ์ พรมรังกา ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง จ.แพร่ ระบุว่าความช่วยเหลือที่ได้รับทำให้ เด็กๆ และ ผู้ปกครองดีใจมาก เพราะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนไม่มีงานทำต้องอยู่กับบ้านโดยไม่มีรายได้
“หลังมอบเงินไปหนึ่งสัปดาห์เราลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็ก ไม่ได้บอกเขาก่อนว่าจะไปวันไหน พอไปถึงบ้าน เราแอบไปเปิดฝาชีเขาดูเห็นว่ากับข้าวเขาเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยมีแต่น้ำบูดู ตอนนี้มีปลาทอด มีปลากระป๋อง มีไข่เจียว สะท้อนให้เห็นว่า เงินที่ไปถึงมือเด็กทำให้เด็กกินดีขึ้นจริงๆ” อรุณศรี หลงชู ครูโรงเรียนบ้านยะบะ(อุปการวิทยา) กล่าว
ธารน้ำใจที่ส่งผ่านไปถึงน้อง ๆ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่จะทำให้พวกเข้าก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ กลับไปใช้ชีวิตปกติ ตั้งใจเรียนหนังสือ น้อง “ต้นกล้า” ได้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกผ่านจดหมายที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง ระบุว่า “ผมสัญญาว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ผมจะเป็นเด็กขยันเรียน เชื่อฟังพ่อแม่และคุณครู ” ถือเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ทุกาคส่วนยังคงเดินหน้าช่วยกันเติมเต็มความฝันของน้องๆให้ประสบความสำเร็จทางการศึกษาต่อไป
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายท่าน หลายองค์กร ที่ไม่ได้เอ่ยนาม บนพื้นที่นี้ได้ทั้งหมด กสศ. จึงขอกล่าว ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
เส้นทางของ”ผู้ให้” ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” จนมาถึงวันนี้ จะถูกบันทึกไว้บนแผ่นดินนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือช่วยเหลือครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฉุดน้องๆให้หลุดพ้นจากหลุมดำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา