“เราเชื่อว่าต้องมีสาเหตุอะไรสักอย่างที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเริ่มไม่สนใจเรียน ไร้ชีวิตชีวา เก็บตัว ถอยห่างจากสังคม ขาดเรียนบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อสืบหาข้อมูลและได้พูดคุยกับเด็ก จึงพบว่าเขาอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้อให้มีใจอยากเรียนหนังสือเลย”
ครูจีรวรรณ มีฮิ่น ครูแนะแนว โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม ย้อนถึงช่วงเวลาที่สังเกตพบความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของ ‘น้องเนย’ นักเรียนชั้น ป.6 ในช่วงเทอม 2 ปีการศึกษา 2565 ซึ่งสิ่งที่คุณครูเป็นห่วงที่สุดคือ เหลือเวลาอีกเพียง 2-3 เดือน น้องจะจบ ป.6 เพื่อจะข้ามช่วงชั้นไปศึกษาต่อในชั้น ม.1
“หากปล่อยให้เขาจมอยู่ตรงนั้นต่อไป เรารู้เลยว่าโอกาสที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษาไปเงียบ ๆ มีสูงมาก” คุณครูสรุปสถานการณ์
ผลพวงจากโควิด-19 ที่ยังทิ้งรอยแผลขนาดใหญ่ไว้ในระบบการศึกษา
ราว 3 ปีเต็มที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนเด็กนักเรียนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาพุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า เฉพาะเทอมแรกของปีการศึกษา 2566 มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากกว่า 100,000 คน โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นความไม่พร้อมของครอบครัวจากการแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต อันเป็นปัจจัยที่ผลักให้เด็กจำนวนมากทยอยหลุดจากระบบอย่างต่อเนื่อง และผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมยังทำให้หลายครอบครัวต้องจมอยู่ในสภาวะถดถอย ไม่อาจฟื้นตัว และตกอยู่ในกับดักความยากจนข้ามรุ่นอย่างถาวร
ครูจีรวรรณเผยว่า จากการติดตามนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทำให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่ถดถอยของเด็ก นำไปสู่การทำความเข้าใจปัญหา และการดูแลช่วยเหลือที่ทันท่วงที โดยในกรณีของน้องเนย เมื่อเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ครูจีรวรรณจึงสอบถามพูดคุยและลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ทำให้ทราบว่าน้องอาศัยอยู่กับตา ยาย และทวด โดยคุณตาเคยทำงานเป็น รปภ. อยู่ที่โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐารามซึ่งน้องศึกษาอยู่ ก่อนจะมีปัญหาสุขภาพจนต้องออกจากงานไปรักษาตัวที่บ้าน ครอบครัวจึงขาดคนหารายได้หลัก ส่วนแม่ของน้องที่ทำงานในโรงงานและเคยส่งเงินมาให้บ้าง ก็ถูกเลิกจ้างและว่างงานติดต่อกันเป็นเวลานานตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขณะที่คุณยายยังคงมีงานรับจ้างรายวัน แต่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในบ้าน รวมถึงไม่พอสำหรับส่งเสียค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของหลาน
“ยิ่งเรารับทราบข้อมูลมากขึ้น เรายิ่งต้องรีบหาทางเข้าไปโอบอุ้มเขาไว้ให้ทัน เพราะปัญหาสำคัญไม่ได้มีแค่เรื่องปากท้องหรือค่าใช้จ่ายเรื่องเรียน แต่ในสภาพการณ์ที่เด็กกำลังถูกห้อมล้อมด้วยความสิ้นหวัง ถ้าเราช่วยเขาไม่ได้ จิตใจของเขาจะยิ่งตกต่ำ จนอาจหมดแรงบันดาลใจในการศึกษาไปเลย”
เปิดเทอมใหม่ต้องได้เรียนต่อ
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ ขึ้น เพื่อทำงานผ่านกลไกระดับพื้นที่ ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่รอยต่อระหว่างช่วงชั้น เช่น ป.6 และ ม.3 ให้สามารถข้ามผ่านไปศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น
ครูจีรวรรณส่งรายงานเรื่องราวของน้องเนยเข้าสู่ระบบของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา นำไปสู่การให้ความช่วยเหลือทันที โดยได้รับการอุดหนุนทุนฉุกเฉินเพื่อการดำรงชีพและเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เดือนละ 2,500 บาท เพื่อประคองให้น้องเนยสามารถไปโรงเรียนได้สม่ำเสมอ และเข้าสู่ชั้นเรียนระดับ ม.1 ได้สำเร็จ
ส่วนน้องเนย เมื่อได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ ก็กลับมาเป็นเด็กที่ร่าเริง สนใจใคร่รู้ และเริ่มมองถึงเป้าหมายด้านการศึกษาที่ไกลออกไป
“ก่อนได้รับทุน เป็นช่วงเวลาที่ตาของหนูเสียชีวิต ครอบครัวเราที่แทบไม่มีรายได้อยู่แล้วก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น เงินก้อนนี้หนูจึงเอามาใช้สำหรับค่าอาหารและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครอบครัว นอกจากนี้คือค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทางไปโรงเรียน และใช้จ่ายประจำวัน วันละ 40 บาท บางเดือนใช้ไม่หมดหนูก็เก็บเอาไว้ใช้เวลาจำเป็น สถานการณ์ของครอบครัวเราจึงดีขึ้นมาก”
น้องเนยแจกแจงรายละเอียดการจัดสรรทุนที่ได้รับ พร้อมกล่าวต่อไปว่า “หนูตั้งใจว่าจะเรียนให้จบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย เพราะอยากมีงานดี ๆ ทำ มีเงินมาเลี้ยงยายเลี้ยงทวดได้ ไม่อยากให้ครอบครัวเราลำบากอีกแล้ว
“ตอนนี้สิ่งที่มองเห็นคือ การได้เรียนสูง ๆ เป็นทางเดียวที่จะเปลี่ยนชีวิตของเราและคนในครอบครัวได้ หนูจึงตั้งใจว่าจะพยายามเรียนให้ดี และหาทางเรียนต่อไปให้ได้สูงที่สุด”
ความมั่นใจที่คืนกลับมา
ครูจีรวรรณ กล่าวว่า ผ่านมาเกือบครึ่งปีจากวันที่น้องเนยเข้ามาอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ วันนี้ครูได้เห็นเด็กคนหนึ่งที่สนใจใคร่รู้ กระฉับกระเฉง พร้อมมาโรงเรียนทุก ๆ วันด้วยความสดใส สามารถเข้าสังคมเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ ได้ กล้าเข้าหาครู ชอบทำกิจกรรม ที่สำคัญคือผลการเรียนของน้องดีขึ้นมากและไม่เคยขาดเรียนอีกเลย
“การที่เขาถูกมองเห็นและได้รับความช่วยเหลือในช่วงที่ชีวิตไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน มันคือกำลังใจและแรงสนับสนุนที่สำคัญที่สุด ถ้ามองให้ลึกลงไป ด้านหนึ่งของการมอบทุนสนับสนุนก็ทำให้เด็กมาเรียนได้สะดวกขึ้น เพราะเขาพอมีค่าใช้จ่าย ไม่ขัดสน ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร มีอุปกรณ์การเรียนเหมือนเพื่อน ๆ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การให้ทุนก็เป็นการชุบชูจิตใจของเขาโดยตรง ทั้งสร้างความรู้สึกภูมิใจ มีคุณค่า ซึ่งเป็นแรงขับให้เด็กอยากมาโรงเรียนและทำผลการเรียนให้ดีขึ้น”
ครูจีรวรรณ กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็ก ทำให้เข้าใจว่าเด็กเยาวชนกลุ่มที่ขาดแคลนที่สุดต้องต่อสู้กับอะไร และยิ่งทำให้มองเห็นว่าเด็กเหล่านี้ถูกกดทับไว้ด้วยช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่นับวันยิ่งถ่างกว้างขึ้น
“เขาไม่เคยได้รับสารอาหารดี ๆ ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่มีคนที่พร้อมดูแล เรามองว่าอุปสรรคใหญ่โตขนาดนี้ แค่เขามาเรียนได้โดยไม่หลุดไปจากระบบก็ถือว่าเก่งมากแล้ว เป็นความพยายามที่สุดแล้ว แต่ถ้าจะให้เด็กกลุ่มนี้สอบได้คะแนนดี ๆ หรือแข่งขันกับเด็กที่พร้อมมากกว่า ยังไงก็เป็นเรื่องยากมาก ๆ
“แล้วไม่มีสูตรตายตัวว่า ถ้าพ่อแม่อยู่ครบแล้วเด็กจะมีสภาพจิตใจดี หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี หลายคนที่บ้านต้องทำงานตลอดเวลา บ้างก็ยังจมอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวังจากการตกงาน ไม่มีรายได้ การจะเคี่ยวเข็ญให้เด็กใส่ใจกับการเรียนจึงเป็นเรื่องไกลตัว เราถึงรู้เลยว่าในแต่ละปี ๆ กว่าเขาจะผ่านไปได้มันลำบากมากจริง ๆ ดังนั้นเป้าหมายที่ไกล ๆ จึงแทบไม่มีใครกล้าคิดถึง”
แม้ช่วงเวลาวิกฤตที่สุดของโควิด-19 จะพ้นผ่านไปแล้ว หากความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ ปีการศึกษา 2566 ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ ได้ทำงานช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายระดับวิกฤตราว 1,100 คน ผ่านกลไกระดับพื้นที่ เพื่อการศึกษาทางเลือกทั้งในและนอกระบบ ภายใต้เงื่อนไข บริบทแวดล้อม และข้อจำกัดของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคล ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรม
นอกจากนี้ ศูนย์ ฯ ยังผลักดันเชิงนโยบายให้มีมาตรการสร้างรายได้ให้กับผู้ปกครอง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งงานและเงินทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการอุปการะบุตรหลาน ด้วยเชื่อมั่นว่ามาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงในระยะยาวได้ รัฐจึงจำเป็นต้องผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน ในการกำหนดแนวทางและมาตรการโอบอุ้มครัวเรือนที่ขาดแคลนและได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วที่สุด ก่อนจะมีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาตามมาในปีการศึกษา 2566 นี้